คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559)
การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ยึดหลักการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนและ การศึกษาวิจัยเชิงลึกเฉพาะด้านในมิติต่างๆ โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 สามารถกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
2. ความก้าวหน้าการเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
2.1 การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว 20 ปี ได้ดำเนินการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ และกำหนดเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี รวมทั้งการจัดประชุมระดมความคิดเห็นหลายเวทีตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงระดับพื้นที่
2.2 การจัดทำร่างแนวคิดทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เป็น การประเมินผลการพัฒนาได้วิเคราะห์สภาวะแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.3 การพัฒนากรอบแนวคิดและร่างทิศทางการพัฒนาในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยการจัดประชุมระดมความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการประชุมระดมความคิดเห็นในการประชุมประจำปี 2553 ของ สศช. เรื่อง “ทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
2.4 การติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สศช. ได้ดำเนินการติดตามประเมินผลการพัฒนาในระยะ 3 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 — 2552) ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยสรุปผลการประเมินได้ ดังนี้
2.4.1 การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ไปสู่การปฏิบัติ ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวางและการบริหารจัดการแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สู่การปฏิบัติในภาคีการพัฒนาต่างๆ
2.4.2 ผลการพัฒนาประเทศในระยะ 3 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พบว่า การศึกษาด้อยคุณภาพ ประชาชนมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นปัญหาสำคัญของพัฒนาศักยภาพคนไทย แต่มีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตมากขึ้น เนื่องจากการขยายความคุ้มครองทางสังคมและการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ
2.4.3 ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนไทยในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ใกล้เคียงเมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เป็นร้อยละ 64 — 66 อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง
2.4.4 ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาที่ควรให้ความสำคัญในช่วงหลังของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ได้แก่
(1) พัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
(2) สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงของประเทศ
(3) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุล ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น
(4) พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ
(5) เสริมสร้างธรรมาภิบาลในทุกระดับเพื่อการบริหารจัดการที่ดีของประเทศ
3. สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ประกอบด้วย
3.1 ปฐมบท : ภูมิคุ้มกันกับการพัฒนาประเทศ ผลการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 — 7 สรุปว่า เศรษฐกิจก้าวหน้า สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีปัญหา ส่งผลให้การพัฒนาไม่ยั่งยืนซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการวางแผนในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยยึดตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” และต่อเนื่องมาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และ 10 โดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สรุปในภาพรวม สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอต่อการวางรากฐานการพัฒนาให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ จำเป็นต้องสร้างให้เข้มแข็งใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวัตถุ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรม
3.2 การประเมินสถานการณ์ : ความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ
3.2.1 สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
3.2.2 การประเมินความเสี่ยง
3.2.3 การสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ
3.2.4 ประเด็นการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
3.3 ทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
3.3.1 หลักการ มุ่งพัฒนาภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและขับเคลื่อนให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกระดับ โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลในทุกมิติอย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม โดยยึดวิสัยทัศน์ ปี พ.ศ. 2570 เป็นเป้าหมาย
3.3.2 วิสัยทัศน์ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
3.3.3 พันธกิจ
(1) สร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ควบคู่กับการสร้างสังคมคุณธรรม
(2) พัฒนาฐานการผลิตและบริการให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพบนฐานความรู้และความสร้างสรรค์ของคนไทย
(3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็งสามารถป้องกันและรองรับผลกระทบและ ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.3.4 วัตถุประสงค์
(1) พัฒนาให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และสังคมมีธรรมาภิบาล
(2) พัฒนาคน ชุมชน และสังคมให้มีความพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงและ อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นสุข
(3) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สังคมและการเมืองมีความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3.3.5 เป้าหมายหลัก มีดังนี้ (1) สังคมไทยมีความสงบสุข อย่างมีธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น (2) ประชากรไทยทุกคนมีหลักประกันทางสังคมที่มีคุณภาพที่ทั่วถึง (3) เพิ่มผลิตภาพการผลิตรวมและในแต่ละ ภาคการผลิต (4) โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุล เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ (5) ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น (6) ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
3.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 3.4.1 ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 3.4.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.4.3 ยุทธศาสตร์การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน 3.4.4 ยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม 3.4.5 ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค 3.4.6 ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
3.5 การบริหารจัดการแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 สู่การปฏิบัติ
3.5.1 หลักการ : การบริหารจัดการแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะต้องดำเนินการบนหลักการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) การกำหนดบทบาทของภาคีการพัฒนาแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน และ 2) บทบาทของแต่ละภาคีต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 สู่การปฏิบัติ
3.5.2 แนวทางการขับเคลื่อนแผนฯ สู่การปฏิบัติ : มุ่งสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของแผนฯ ให้เกิดการยอมรับและผสมผสานและสอดแทรกไว้ในแผนปฏิบัติการต่างๆ พัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการแปลงแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสม และจัดทำระบบการติดตามประเมินผลและสร้างตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนาที่สามารถนำไปใช้กำกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.5.3 กระบวนการขับเคลื่อน : เป็นการแปลงแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การถ่ายทอดทิศทาง วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 รวมทั้งการจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จลงสู่แผนระดับต่าง ๆ
3.5.4 บทบาทภาคีการพัฒนา : มุ่งพัฒนาบทบาทของทุกภาคส่วนให้สามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคีต่างๆ สามารถผลักดันและดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ได้อย่างเหมาะสม และสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินงานภายใต้บทบาทภาคีการพัฒนาต่างๆ เกิดการบูรณาการการพัฒนาในทุกระดับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--