มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562

ข่าวการเมือง Tuesday July 14, 2020 18:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และในปีงบประมาณปีต่อ ๆ ไป ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

คสช. รายงานว่า ในคราวประชุม คสช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 รวม 4 มติ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปได้ ดังนี้

มติ 1 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้ใยหิน

สาระสำคัญของมติ

แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการขาดนโยบายและมาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหินและขาดการสนับสนุนการใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหิน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ

การเกิดโรคร้ายแรง ส่งผลให้สูญเสียทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ

  • ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี 2565 ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบ และกระเบื้องยางปูพื้น รวมทั้งยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี 2568 ได้แก่ ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหิน

ไครโซไทล์ได้อย่างเหมาะสมเพียงพอแล้ว

  • กำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทน

แร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง

  • กำหนดมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
  • พัฒนาแนวทางและมาตรการทางกฎหมายในการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร ทิ้ง และกำจัดขยะซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหิน
  • จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแก่นักเรียน นักศึกษา นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน การป้องกันอันตรายที่ครอบคลุมตลอดวงจรของการมีใช้รื้อถอน ทำลายวัสดุที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งวัสดุทดแทนแร่ใยหิน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

สำนักงานประกันสังคม และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

มติ 2 วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว

สาระสำคัญของมติ

วิถีเพศภาวะ หมายถึง การดำเนินงานต่าง ๆ ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความ

เป็นธรรมระหว่างบุคคลเพศต่าง ๆ ดังนั้น จึงควรนำกรอบวิถีเพศภาวะมาใช้เสริมพลังครอบครัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิก การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคม การพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้และกฎหมาย รวมทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐให้มีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะที่ครอบคลุมทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ

การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ

  • จัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติ และทักษะของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ในเรื่องเพศภาวะกับสุขภาวะของสมาชิกในครอบครัว
  • ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมทางเพศที่มีต่อสุขภาวะครอบครัว โดยดำเนินโครงการส่งเสริมให้ชุมชนสร้างสรรค์กิจกรรมที่สนับสนุนครอบครัว ให้คุณค่ากับทุกเพศอย่างเสมอภาค
  • จัดการศึกษาเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในทุกระดับการศึกษา บูรณาการความรู้
  • เสริมความเข้มแข็งในการสื่อสารและการสร้างสื่อสาธารณะที่เน้นความเสมอภาคและเป็นธรรมทางเพศ ผลักดันการผลิตสื่ออย่างมีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ
  • พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และการจัดการความรู้ โดยให้มีข้อมูลแยกเพศผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ และข้อมูลประเภทครอบครัวไทยที่หลากหลาย
  • พัฒนาบุคลากรให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องเพศภาวะ มีทักษะในการวิเคราะห์ และบูรณาการมิติเพศภาวะไว้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สธ. ศธ. อว. มท. ยธ. วธ. สสส. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นร.

มติ 3 รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง

สาระสำคัญของมติ

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เพียงในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และการป้องกันโรคมะเร็งแบบ

สานพลังในพื้นที่โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนยังมีน้อย

การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ

  • ให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้งบประมาณของกองทุนของหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กองทุนอื่น ๆ และงบประมาณหรือทรัพยากรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • สนับสนุนให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เข้าถึงการคัดกรองโรคมะเร็งตามสิทธิประโยชน์ที่กำหนดในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
  • เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามข้อมูลขจ่าวสารที่ไม่ถูกต้อง (Fake news) ที่ส่งผลต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง จัดการและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน ในเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อโรคมะเร็ง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สธ. สปสช. ดศ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

มติ 4 การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง

สาระสำคัญของมติ

การใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงถึงร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ จากสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมีความก้าวหน้า แต่ยังขาดการบูรณาการและการดำเนินการอย่างเป็นระบบระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ

  • ออกแบบระบบสุขภาพชุมชน และสร้างความตระหนัก สร้างความรู้เพื่อขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้กลไกชุมชน
  • สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณแก่ชุมชนต้นแบบให้มีระบบการเฝ้าระวัง เตือนภัย รอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและมีความสามารถในการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สมุนไพร และแพทย์แผนไทย
  • พัฒนาและเผยแพร่ชุดความรู้ที่เข้าถึง เข้าใจ และปฏิบัติได้ง่าย และสนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรการใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
  • ดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในทุกกลุ่มประชากร และพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม
  • พัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน รวมทั้งเร่งพัฒนากลไกการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สธ. อว. กค. รง. (สำนักงานประกันสังคม) นร.

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ