กรอบและหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 05:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการกรอบและหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. กรอบการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52

1.1 เป้าหมาย ปริมาณรับจำนำ 8 ล้านตันข้าวเปลือก

1.2 ระยะเวลารับจำนำ 1 พ.ย. 51 — 28 ก.พ. 52 ภาคใต้ 1 ก.พ. - 31 พ.ค. 52 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

1.3 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับจำนำ ทั้งการจำนำยุ้งฉางและใบประทวน

1.4 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 พ.ย. 51 — 31 ต.ค. 52

1.5 ราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ให้เป็นไปตามเกณฑ์ราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ดังนี้

1.5.1 ข้าวเปลือกหอมมะลิ กำหนดราคารับจำนำใบประทวนตามชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชนิดสีได้ต้นข้าว 42 กรัม ตันละ 15,000 บาท และให้ปรับเพิ่ม-ลด ตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 100 บาท ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ยุ้งฉางของเกษตรกรให้กำหนดราคารับจำนำเท่ากับราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำที่กำหนดบวกเพิ่มตันละ 1,000 บาทเป็นตันละ 16,000 บาท

1.5.2 ข้าวเปลือกเจ้านาปี กำหนดราคารับจำนำใบประทวนตามชนิดข้าว ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกเจ้า 100% (ชนิดสีเป็นข้าวสาร 100%) ตันละ 12,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า 5% (ชนิดสีเป็นข้าวสาร 5%) ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเจ้า 10% (ชนิดสีเป็นข้าวสาร 10%) ตันละ 11,600 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า 15% (ชนิดสีเป็นข้าวสาร 15%) ตันละ 11,200 บาท

(5) ข้าวเปลือกเจ้า 25% (ชนิดสีเป็นข้าวสาร 25%) ตันละ 10,800 บาท

1.5.3 ข้าวเปลือกเหนียว กำหนดราคารับจำนำใบประทวนข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 10% ชนิดคละ ตันละ 9,000 บาท ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียวที่ ยุ้งฉางเกษตรกรให้กำหนดราคารับจำนำเท่ากับราคาขั้นต่ำที่กำหนดบวกเพิ่มตันละ 1,000 บาท ตามชนิดข้าว

1.5.4 ข้าวเปลือกหอมจังหวัด กำหนดราคารับจำนำใบประทวนตามชั้นคุณภาพได้แก่ ชนิดสีได้ต้นข้าว 40 กรัม ตันละ 13,000 บาท และให้ปรับเพิ่ม-ลด ตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 100 บาท ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมจังหวัดที่ยุ้งฉางของเกษตรกรให้กำหนดราคารับจำนำเท่ากับชนิดสีได้ต้นข้าว 40 กรัม บวกเพิ่มตันละ 1,000 บาท เป็นตันละ 14,000 บาท

1.5.5 ข้าวเปลือกปทุมธานี กำหนดราคาจำนำใบประทวนตามชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชนิดสีได้ต้นข้าว 42 กรัม ตันละ 12,000 บาท และให้ปรับเพิ่ม-ลด ตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 100 บาท

1.6 ค่าใช้จ่ายในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 ประกอบด้วย วงเงิน ดำเนินการรับจำนำประมาณ 97,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวงเงิน 5,204.726 ล้านบาท จำแนกเป็นค่าใช้จ่ายของ อคส. จำนวน 796.684 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของ อ.ต.ก. จำนวน 398.342 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของ ธ.ก.ส. จำนวน 3,932.700 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและรับรองเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 29.0 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 48 ล้านบาท

2. หลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52

2.1 การเข้าร่วมโครงการของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะจำนำได้ในวงเงินไม่เกินคนละ 500,000 บาท และจะต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกร โดยจะจำนำได้ในพื้นที่จังหวัดตนเองและอำเภอติดต่อกัน

2.2 เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการของโรงสี จะพิจารณาให้โรงสีที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการสูงเป็นลำดับแรก โดยโรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรตามการค้าปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่รับจำนำ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และทำหนังสือค้ำประกันธนาคารให้ไว้กับ อคส. ร้อยละ 20 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่รับจำนำหรือทำหนังสือค้ำประกันธนาคารให้ไว้กับ อคส. ร้อยละ 70 ของมูลค่าข้าวที่รับจำนำรวมทั้งต้องติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด ห้ามนำข้าวมาหมุนเวียนและให้ผู้อื่นจัดส่งข้าวแทน (เปาเกา) เป็นต้น

2.3 การสั่งสีแปรสภาพ ข้าวเปลือกเจ้าให้สั่งสีแปรสภาพทุก 15 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของปริมาณข้าวเปลือกที่จำนำ ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่นให้สั่งสีเป็นระยะหรือกรณีจำเป็น หรือตามที่คณะอนุกรรมการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 พิจารณาตามความเหมาะสม และส่งมอบเข้าโกดังกลางหรือไซโลให้แล้วเสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรต่อไปอีก

2.4 การส่งมอบข้าวสาร โรงสีจะต้องนำข้าวสารเข้าเก็บในโกดังกลางหรือไซโลที่เช่าจัดเก็บโดย อคส. หรือ อ.ต.ก. จัดให้มีผู้ตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวเยอร์) ที่ได้มาตรฐานตรวจสอบคุณภาพข้าวสารก่อนเข้าเก็บ ทั้งนี้ โกดังกลางและไซโลที่รับมอบข้าวทุกหลังจะต้องติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดในบริเวณที่จัดเก็บข้าวสารตามโครงการ

2.5 การควบคุมการขนย้ายข้าวเปลือกและข้าวสาร โดยห้ามมิให้บุคคลใดขนย้ายข้าวเปลือกหรือข้าวสารที่มีปริมาณตั้งแต่ 5 เมตริกตันขึ้นไป เข้ามาในเขตจังหวัดที่กำหนดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา เพื่อป้องกันการปลอมปนข้าวหอมมะลิ

2.6 การกำกับดูแล

(1) ส่วนกลาง กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ทำหน้าที่แจ้งมติและหลักเกณฑ์การรับจำนำ รวมทั้งการประสานหน่วยงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสุ่มตรวจสอบเป็นครั้งคราว

(2) ส่วนภูมิภาค คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ กำหนดกรอบการดำเนินการในจังหวัด รวมทั้งกำกับดูแลและแก้ไขปัญหา

(3) หน่วยปฏิบัติ ได้แก่ อคส. อ.ต.ก. และ ธ.ก.ส. ดำเนินการรับจำนำตามที่ได้รับมอบหมายโดยวางระบบการรับจำนำ ติดตาม ประสาน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติให้เรียบร้อยรัดกุม

(4) กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลการทำงานของคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด

(5) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลการออกหนังสือรับรองเกษตรกรให้สอดรับกับข้อเท็จจริงและมีผู้รับผิดชอบชัดเจน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ