ข้อมูลประเทศเดนมาร์ก (Kingdom of Denmark)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 12, 2011 10:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป

1.1 สภาพภูมิประเทศ

ตั้งอยู่บนทวีปยุโรปตอนเหนือ ระหว่างเส้นรุ้งเหนือที่ 56 00 และเส้นแวงตะวันออกที่ 10 00 บนคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ระหว่างทะเลเหนือกับทะเลบอลติก ทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ส่วนทางทิศใต้ติดกับตอนเหนือของสหพันธรัฐเยอรมนี เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มนอร์ดิก 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เดนมาร์ก สวีเดนนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์

เดนมาร์กมีพื้นที่รวม 43,098 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่ใหญ่อันดับที่ 133 ของโลก ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 406 เกาะ เกาะใหญ่ๆ ได้แก่ เกาะ Sjaelland เกาะ Fyn และเกาะ Bornholm แต่ไม่รวมดินแดนปกครองตนเอง คือ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และหมู่เกาะแฟร์โร (Faroe)

1.2 สภาพภูมิอากาศ

แบบเขตอบอุ่นขั้วโลก ความชื้นสัมพัทธ์สูง ปีหนึ่งมี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผผลิ และฤดูร้อน

1.3 เมืองสำคัญ มี 4 เมือง

กรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เป็นเมืองหลวง เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า ตั้งอยู่บนเกาะ Zealandซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก มีประชากรอาศัยอยู่ราว 1.5 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประเทศ เมืองสำคัญรองลงมา ได้แก่

เมือง ออฮุส (Arhus) ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland มีประชากรราว 265,000 คน เป็นเมืองสำคัญด้านการค้า อุตสาหกรรม และเมืองท่าด้วย

เมืองโอเดนส์ (Odense) ตั้งอยู่บนเกาะ Funen มีประชากรราว 173,000 คน

เมือง Allborg ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland มีประชากรราว 155,000 คน

1.4 การแบ่งเขตการปกครอง

การแบ่งเขตการปกครองของเดนมาร์กมีทั้งหมด 5 เขตด้วยกัน โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2550 แทนระบบเก่า (13 เขต 2 เทศบาล และ 1 แคว้นเทศบาล) ซึ่งแต่ละเขตมีผู้อำนวยการบริหารรัฐ (Director of State Administration) และประธานกรรมการบริหารภูมิภาค ( Chairman of the Regional Council) ได้แก่

  • เขตเมืองหลวงเดนมาร์ก (Copenhagen Capital Region)
  • เขตยูดแลนด์กลาง (Central Jutland)
  • เขตยูดแลนด์เหนือ (North Jutland)
  • เขตซีแลนด์ (Zealand)
  • เขตเดนมาร์กตอนใต้ (South Denmark)

1.5 ระบบการปกครอง

เดนมาร์กมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Parliamentary Democracy and Constitutional Monarchy) รัฐสภาเดนมาร์กเป็นระบบรัฐสภาเดียว (Folketing) มีสมาชิกจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (รวมผู้แทนจากหมู่เกาะ Faroe 2 คน และเกาะ Greenland 2 คน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บริหารประเทศตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ปัจจุบันมี สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นประมุข และมีนาย Lars Lokke Rasmussen จากพรรค Liberal Party) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 และ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนธันวาคม 2554

1.6 ประชากร สังคมและวัฒนธรรม

ในปีพ.ศ. 2553 เดนมาร์กมีประชากรราว 5,560,628 คน จัดเป็นอันดับที่ 110 ของโลก ประกอบด้วย ชาวเดนิช และกลุ่มชาวสแกนดิเนเวีย ร้อยละ 90.1 และที่เหลืออีกร้อยละ 9.9 ได้แก่ เยอรมนี ตุรกี ชนชาติอาหรับ เช่น ชาวอิหร่าน โซมาลี และชาวเอเชีย เช่น อินเดีย ไทย จีน คาดว่ามีคนไทยประมาณ 10,000 คน ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ 97 นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran

โครงสร้างประชากร แยกตามกลุ่มอายุได้ ดังนี้ กลุ่มอายุ 0-14 มีสัดส่วนร้อยละ 17.6 กลุ่มอายุ15 -64 มีสัดส่วนร้อยละ 65.3 และกลุ่มคนอายุมากกว่า 65 มีสัดส่วนร้อยละ 17.1 และอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นของประชากรค่อนข้างต่ำ เพียงร้อยละ 0.25 อัตราการเกิดเพียง 10.29 ต่อประชากร หนึ่งพันคน ระยะเวลาการดำรงชีพ (life expectancy) ถัวเฉลี่ยอายุของสตรีและบุรุษในเดนมาร์กค่อนข้างจะสูง คือ 78 ปี และ 72 ปี ตามลำดับ อัตราอายุเฉลี่ยของประชากร (median age) เท่ากับ 40.9 ปี จัดเป็นสังคมประชากรสูงวัย (aging society) ประชากรชายหญิงมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน เดนมาร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีสตรีประกอบอาชีพในจำนวนที่สูงมาก กล่าวคือ ในอัตราส่วน 9 : 10 ต่อแรงงานชาย ซึ่งการมีงานทำของสตรีชาวเดนมาร์กก่อให้เกิดความรู้สึกที่ภาคภูมิใจและความเป็นอิสระในทางการเมือง สตรีชาวเดนมาร์กยังได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มาตั้งแต่ปี 2458 (ค.ศ.1915) และในทางเศรษฐกิจ สตรีชาวเดนมาร์กได้รับค่าจ้างเท่าเทียมบุรุษตามกฎหมายเดนมาร์ก

เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบรัฐสังคมสวัสดิการที่ดีมาก มีการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างเสมอภาคกัน ประชากรประมาณร้อยละ 70 มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ประชาชาติ และประชากรร้อยละ 1.9 ที่มีรายได้ต่ำสุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติ ส่วนประชากรอีกร้อยละ 28.7 รายได้สูงสุดของรายได้ประชาชาติ ประมาณร้อยละ 10 อัตราประชากรที่รู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 99 โดยใช้ระบบภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้ อัตราประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนคิดเป็นร้อยละ 12 ( ปี 2007)

1.7 ภาษาราชการ

ภาษาราชการ คือ ภาษาเดนิช (Danish) ประชากรส่วนใหญ่เข้าใจภาษาอังกฤษ และใช้ภาษาอังกฤษกันทั่วไปจนสามารถนับเป็นภาษษที่สองได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาษาชาวเกาะฟาโรส์ เกาะกรีนแลนด์ เยอรมัน สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์บ้าง

1.8 สกุลเงินหลัก

สกุลเงินหลัก คือเงิน เดนิชโครน (Danish Krone — DKK) เนื่องจากเดนมาร์กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จึงกำหนดไว้ค่อนข้างคงที่กับเงินสกุลยูโร ที่ 1 ยูโร ประมาณเท่ากับ 7.5 เดนิชโครน สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท 1 DKK เท่ากับ 5.7 บาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554) โดยจะแปรผันขึ้นลงตามอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลยูโรเป็นหลัก

1.9 เวลา

เวลามาตรฐานของเดนมาร์กคือ UTC/GMT +1 ชั่วโมง ซึ่งช้ากว่าเวลาในประเทศไทย 5 ชั่วโมงในหน้าร้อน และ 6 ชั่วโมงในหน้าหนาว

1.10 วันหยุดนักขัตฤกษ์

วันหยุดสำคัญนอกจากวันหยุดทางศาสนาคริสต์แล้ว วันหยุดประจำชาติที่สำคัญ ได้แก่

  • 5 มิถุนายน วันรัฐธรรมนูญ
  • 16 เมษายน เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)
  • 9 เมษายน วันที่ระลึกการทำสงครามกับเยอรมนีและถูกยึดครอง
  • 5 พฤษภาคม วันเสรีภาพของเดนมาร์ก

1.11 เส้นทางคมนาคม

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีระบบเส้นทางคมนาคมภายในประเทศ ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ ทางเรือ และทางอากาศ ที่ใช้ติดต่อเดินทางทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศที่มีการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันไปทั่วยุโรปที่สะดวกดีมาก และทำเลที่ตั้งของเดนมาร์กช่วยเอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศนอร์ดิก และสามารถเป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศบอลติกได้

เดนมาร์กมีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ และมีสะพาน Oresund Bridge เชื่อมระหว่างเกาะ Zealand ของเดนมาร์กกับเมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2000 จึงทำให้เดนมาร์กมีบทบาทในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า(Trading house ) ในภูมิภาคยุโรปเหนือ

1.12 อื่นๆ เช่น ลักษณะเด่นของตลาดเดนมาร์ก

เดนมาร์กได้รับการโหวตจากนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ว่าเป็นประเทศที่เหมาะในการทำธุรกิจอันดับหนึ่ง (The World’s best Country for Business) ถึง 2 ปีซ้อน นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Mr. Arian White นักวิจัยสังคมจากมหาวิทยาลัย UK’s University of Leicester พบว่าเดนมาร์กเป็นดินแดนแห่งความสุขที่สุดในโลก รองลงมาได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และสหราชอาณาจักรเป็นอันดับที่ 41

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานจากกังหันลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจากใต้ดิน เข้ามาทดแทนพลังงานน้ำมันแบบดั้งเดิม และพลังงานทางเลือกเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะกังหันลมได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเดนมาร์ก

เดนมาร์ก จัดเป็นประเทศชั้นนำก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตร จัดเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์ชั้นำของโลก และมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบ โดยเฉพาะในสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของประดับตกแต่งบ้าน

2. เศรษฐกิจการค้า

2.1 ภาวะเศรษฐกิจ

เดนมาร์กมีระบบเศรษฐกิจเปิดแบบเสรีนิยมและกฎระเบียบส่วนใหญ่อิงกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเป็นหลัก มีระดับความเป็นอยู่สูงที่สุดในโลก ระดับการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากระบบสวัสดิการของภาครัฐบาล เดนมาร์กประสบปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปี 2551 เกิดปัญหาราคาบ้านที่อยู่อาศัย และปัญหาภาคการเงินในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเงินระดับโลกในขณะนั้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงลดลง อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในปี 2552 และอัตราการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 2 ความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศอ่อนตัว แต่แข็งแรงขึ้นทีละน้อย ระดับการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ การเปลี่ยนแปลงภาษีถูกออกแบบให้เป็นสิ่งกระตุ้นการทำงาน

Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่าในปี 2554 เดนมาร์กจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2 ในปี 2553 เป็นขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2554 แต่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและผู้บริโภคยังคงบอบบาง ตลาดแรงงานยังคงทรงตัว และยังคงจะไม่มีการปรับตัวขึ้น

2.2 เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.3 นโยบายทางเศรษฐกิจการค้า

เดนมาร์กเป็นประเทศเสรีนิยม มีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง และเป้าหมายที่สำคัญ คือ การทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานที่สูง การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและความมั่นคง การส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของประชาชนและความปลอดภัยทางสังคม รวมทั้งการจัดสรรเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้กับประชาชนอย่างมีเหตุผล โดยเดนมาร์กและเยอรมนีมีระดับการจ้างแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่สูงที่สุดร้อยละ 14.6 เมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ โดยเฉลี่ยร้อยละ 12.2 และสหรัฐฯ ร้อยละ 11.8

ในอดีตเศรษฐกิจของเดนมาร์กขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม จนกระทั่งในช่วงตั้งแต่ปี 2503 (ปี ค.ศ 1960) เป็นต้นมา เดนมาร์กได้พบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ ซึ่งมาช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก จนทำให้เดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าในระดับต้นของโลก ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม และระบบรัฐสวัสดิการที่ดี ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ระบบบำเหน็จบำนาญ การคุ้มครองแรงงาน การประกันราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ และระบบจัดเก็บภาษีในอัตราสูงมาก ทำให้ชาวเดนมาร์กมีรายได้ประชากรอันดับต้นๆของโลก และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าแรง ที่ดิน ค่าเช่า ก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของเดนมาร์กต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมจากต่างประเทศ หรือย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนสินค้าลง

ภาคเศรษฐกิจของเดนมาร์กประกอบด้วย 3 ภาคที่สำคัญ ได้แก่

ก) ภาคเกษตรกรรมและการประมง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นภาคเกษตรกรรมแบบใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ (ใช้แรงงานเพียงร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมด) ผลผลิตที่สำคัญ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี มันสำปะหลัง น้ำตาล สุกร ผลิตภัณฑ์จากนม และ ปลา

ข) ภาคบริการ ซึ่งเป็นของภาครัฐ ร้อยละ 31 และภาคธุรกิจ ร้อยละ 41

ค) ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง (คิดเป็นร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมด) อุตสาหกรรมที่สำคัญของเดนมาร์ก แยกได้ดังนี้

1. อุตสาหกรรมสินค้าอาหาร (Food industry) นับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก คือ โดยมีสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่ วัว ผลิตภัณฑ์ประเภทนม เนย (Dairy products) เบียร์ สินค้าประมง

2. อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ ตู้แช่แข็ง/แช่เย็นในรถบรรทุก/เรือ

3. อุตสาหกรรมเคมี (Chemical industry) เพื่อป้องกันแมลง และโรคพืช

4. อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ขนมิ้งค์ (Mink) เสื้อผ้า

5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

6. อุตสาหกรรมเภสัชกรรม (Pharmaceutical industry) ได้แก่ อินซูลิน (insulin) โดยเดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งในโลกที่ผลิตอินซูลินส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก

7. อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ (เดนมาร์ก มีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของการออกแบบและคุณภาพ) กังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (เดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งที่ส่งออกกังหันลมดังกล่าว)

8. อุตสาหกรรม Software อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Industry) เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และ

9. อุตสาหกรรมการต่อเรือ (Shipbuilding)

ธุรกิจ/อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเดนมาร์กจะมีขนาดกลาง (Medium-sized industry) โดยธุรกิจ/อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของเดนมาร์ก และธุรกิจที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น กลุ่มบริษัท A.P. Moller ซึ่งมีบริษัทเดินเรือ Maersk Line รวมอยู่ด้วย บริษัท Danfoss (Refrigeration technology) บริษัท Grundfos (ผลิต Pumps) บริษัท Novo Nordisk (Pharmaceuticals) บริษัท Ventas (กังกันลม) เบียร์ Carlsberg และ Tuborg และรองเท้า Ecco เป็นต้น นอกจากนี้ เดนมาร์กยังได้สำรวจพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณมากพอที่นำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้นับตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ.1991) เป็นต้นมา

2.4 การค้าระหว่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2553 (มกราคม-ธันวาคม) การค้าระหว่างประเทศของเดนมาร์กมีมูลค่า 182.455 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ แยกเป็น เดนมาร์กส่งออกรวมมูลค่า 97.648 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.92 และนำเข้ารวมมูลค่า 84.807 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ2.72 เดนมาร์กได้ดุลการค้ารวม 12.841 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล น้ำมันและ Mineral fuel ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เนื้อสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปลาและอาหารทะเล และยานพาหนะ และกังกันลม โดยมี ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เยอรมนี (คิดเป็นร้อยละ 17 ของยอดส่งออกทั้งหมด ) สวีเดน (ร้อยละ 13) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 7.85) สหรัฐฯ (ร้อยละ 5.89) นอร์เวย์ ( ร้อยละ5.89) เนเธอร์แลนด์ ( ร้อยละ4.68) ฝรั่งเศส (ร้อยละ4.36) อิตาลี (ร้อยละ2.92) สเปน (ร้อยละ2.49 ) และฟินแลนด์ (ร้อยละ 2.44 )

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ น้ำมันและ Mineral fuel พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และกระดาษและกระดาษแข็ง แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี (คิดเป็นร้อยละ 20.61 ของยอดการนำเข้าทั้งหมด) สวีเดน (ร้อยละ 13.36) จีน (ร้อยละ 7.22) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 7.14) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 5.96)นอร์เวย์ (ร้อยละ 5.69) อิตาลี (ร้อยละ 3.44) เบลเยี่ยม (ร้อยละ 3.37) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 2.99)

จากข้อมูลจะเห็นว่า เดนมาร์กทำการค้าระหว่างประเทศกับสมาชิกสหภาพยุโรปมากถึง 2 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด โดยคู่ค้าที่สำคัญของเดนมาร์กในยุโรปเรียงตามลำดับ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ส่วนประเทศคู่ค้าที่อยู่นอกภูมิภาคยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเอเซีย

2.5 การค้ากับประเทศไทย

ประเทศไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อค้าขายกันมาช้านาน นับแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2164 (ค.ศ.1621) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีและเมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company ต่อมาชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี 2313 (ค.ศ.1770) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและเดนมาร์ก ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2401 (ค.ศ. 1858) และก็ได้ทำการติดต่อค้าขายสืบเนื่องกันมา

ในปี 2553 การค้าระหว่างประเทศไทยกับเดนมาร์กมีมูลค่ารวม 953.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่มีมูลค่า 721.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.09 โดยแยกเป็น การส่งออกจากไทยไปยังเดนมาร์กมูลค่า 723.02 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเดนมาร์กมูลค่า 229.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2552 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.36 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 493.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 316.61 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเดนมาร์ก เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 42 ของไทยและเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 39 คิดเป็นร้อยละ 0.37 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

ในปี 2553 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์ก ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 322.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.95 รองเท้าและชิ้นส่วน มูลค่า 125.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.59 แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มูลค่า 34.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 เครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 20.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.19 วงจรพิมพ์ มูลค่า 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.30 เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่นๆ มูลค่า 17.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 155.11 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 13.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-มีนาคม )สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 97.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.40 รองเท้าและชิ้นส่วน มูลค่า 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.07 แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มูลค่า 10.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24 เป็นต้น สำหรับสินค้าไทยที่มียอดการส่งออกลดลงที่สำคัญในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.78 เนื่องจากไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และมีการปรับราคาสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่า 6.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.80 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล มูลค่า 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 42.44

ส่วนการนำเข้าจากเดนมาร์กที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้แก่ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม มูลค่า 34.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 27.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.97 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91 พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช มูลค่า 20.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 295.76 เคมีภัณฑ์ มูลค่า 18.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.62 สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 11.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.01 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.49

สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า หนังสือและสิ่งพิมพ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ไก่แปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์พลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียง อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถจักรยานและส่วนประกอบ และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว

2.6 กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า

2.6.1 ระเบียบทางภาษีศุลกากร

กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของเดนมาร์กเป็นไปตามระบบการจำแนกพิกัดและการประเมินราคาของอียู (EU Rule) ปกติสินค้าที่ผลิตและนำเข้าจากนอกประเทศอียูจะต้องชำระภาษีศุลกากรก่อนนำเข้า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอัตราภาษีศุลกากร (Custom duties) อัตราปกติจะอยู่ระหว่างร้อยละ 5-14 ส่วนอัตราภาษีที่ลดลง(Reduced) และกรณียกเว้นไม่จัดเก็บ (No duties at all) จะใช้กับสินค้าบางประเภทที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศซึ่งทางอียูได้มีข้อตกลงพิเศษระหว่างกัน หรือภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่อียูให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน

นอกเหนือจากการเก็บอัตราภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกับสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีสินค้าบางรายการที่แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปสามารถกำหนดอัตราพิเศษที่แตกต่างจากอัตราภาษีศุลกากรของอียูได้ เรียกว่า Specific national Duties ซึ่งเดนมาร์กมีการจัดเก็บภาษี Specific national Duties สำหรับสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยจากผู้นำเข้าสินค้า ตัวอย่างอัตราที่จัดเก็บ อาทิ จัดเก็บ 5 เดนิชโครนต่อกิโลกรัมสำหรับการนำเข้าชา, จัดเก็บ 229 เดนิชโครนต่อกิโลกรัมสำหรับการนำเข้า Chewing tobacco เป็นต้น สินค้าอื่นๆที่มีการจัดเก็บ Specific national Duties ได้แก่ ชอคโกแลต ผงโกโก้ น้ำตาลทำขนม ชะเอม หมากฝรั่ง สินค้าประเภทถั่วไอศกรีม น้ำอัดลม กาแฟ ชา บุหรี่ หลอดไฟ ฟิวส์ สินค้าประเภทถ่านหิน แก้วสำหรับภาชนะบรรจุ พลาสติก โลหะ (สำหรับเครื่องดื่ม) แบตเตอร์รี่แบบชาร์ต วัตถุดิบ เช่น ดิน ก้อนกรวด

2.6.2 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

เดนมาร์กจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 25 สำหรับสินค้าที่วางขายในตลาดเดนมาร์กทุกประเภทโดยไม่คำนึงว่าสินค้าชนิดนั้นจะผลิตที่ประเทศใด และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บเป็นอัตราที่สูงที่สุดในยุโรป

2.6.3 ระเบียบเกี่ยวกับใบอนุญาตนำเข้า (Import License)

ปกติสินค้านำเข้าโดยทั่วไปไม่ได้มีข้อกำหนดที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า เว้นแต่สินค้าบางประเภทอาทิเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เภสัชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ อาวุธ และสินค้าที่อียูกำหนดโควต้าการนำเข้าเช่นสิ่งทอ เป็นต้นที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า

2.6.4 ระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอาหาร

การส่งสินค้าอาหารเข้าไปยังประเทศเดนมาร์กจะถูกควบคุมภายใต้กฎหมายที่เรียกว่า European Food Law โดยสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญในการควบคุมด้านสุขอนามัย (Veterinary and Health Control) เพื่อปกป้องสุขอนามัยของผู้บริโภค และมาตรการตรวจสอบสินค้าอาหารเนื้อสัตว์ทุกชนิด (รวมทั้งอาหารทะเล) สหภาพยุโรปได้จัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลการตรวจสอบคือ EU’s Food Veterinary Office (FVO) โดย FVO จะส่งผู้แทนไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้ส่งออกอาหารไปยังสหภาพยุโรปเพื่อตรวจสอบโรงงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลของประเทศนั้นๆ (Competent Authority) เพื่อจัดทำรายชื่อโรงงาน (Establishment List) ให้การรับรองว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรอง ในส่วนของประเทศเดนมาร์กหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจด้านสุขอนามัยในอาหารคือ Danish Veterinary and Food Administration

ดังนั้นในการส่งออกสินค้าอาหารมายังเดนมาร์กจึงต้องมีความเข้มงวดในด้านสุขอนามัยและมีใบรับรองการตรวจสอบความปลอดภัย ระดับสารตกค้าง ที่เรียกว่า Health Certificate กำกับมาพร้อมกับสินค้าอาหารที่ส่งออก

2.6.5 ข้อกำหนดด้านฉลากและการหีบห่อ (Labeling & Packaging)

สำหรับกรณีสินค้าอาหาร มีกฎระเบียบกำหนดให้ต้องติดฉลากเป็นภาษาเดนิช ระบุส่วนผสมในอาหาร น้ำหนักสุทธิ วันที่ผลิตและวันหมดอายุ ประเทศที่ผลิต และกำหนดการหีบห่อสินค้าอาหารบางอย่างใส่ในหีบห่อที่เป็นพลาสติกหรือกระดาษถึงแม้ว่าไม่ระเบียบกำหนดการห้ามใช้พลาสติกพีวีซี แต่บางครั้งเป็นความต้องการของผู้ค้าปลีกที่ต้องการให้หีบห่อบรรจุสินค้าอาหารปราศจากพลาสติกพีวีซี

2.6.6 มาตรฐานทางเทคนิคและใบรับรองคุณภาพสินค้า(Technical standards and Certification) มาตรฐานทางเทคนิคเป็นมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนดขึ้นและเพิ่มเงื่อนไขหรือคุณภาพจากมาตรฐานทั่วไปของสหภาพยุโรป โดยถือเป็นข้อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกอียูสามารถทำได้ตามกฎระเบียบที่ประเทศนั้นๆกำหนดอาทิ การวางเงื่อนไขที่คำนึงถึงสุขอนามัยความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมแต่อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่แตกต่างจากกฎระเบียบมาตรฐานของอียูเหล่านี้จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสหภาพยุโรปเป็นประเทศๆไป แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตทางสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่ให้กฎระเบียบทางด้านเทคนิคของทุกประเทศในสหภาพเป็นระเบียบเดียวกันและบังคับใช้เหมือนกันในทุกประเทศของสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อยกเว้นภายใต้มาตรฐานเดียวคือ CE- marking

2.7 โอกาสทางการค้า และ ปัญหาและอุปสรรค

2.7.1 โอกาสทางการค้า

1.) เดนมาร์ก เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูง ประมาณ 36,764 เหรียญสหรัฐต่อปี จัดเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง ทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าแรงงาน สูงตามไปด้วย จึงต้องพึ่งพานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เสื้อผ้า สิ่งทอ อัญมณีเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีความชำนาญและมีศักยภาพในการส่งออกสูง

2.) ระบบการค้าพาณิชย์อีเลคทรอนิกส์ ( E- Commerce) ได้เข้ามามีบทบาทในการสั่งซื้อสินค้าแนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์มีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สำหรับลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายและกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

3.) ชาวเดนมาร์ก เป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลห่วงใยในสุขภาพ และโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ผู้ส่งออกไทยจึงต้องพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับนิสัยความเป็นอยู่ของชาวเดนมาร์ก เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้สวยงาม เข้าใจง่าย มีรูปแบบเรียบง่ายแต่ดูดี ทำจากวัสดุที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีขนาดบรรจุภัณฑ์เหมาะสำหรับการบริโภคของครอบครัวขนาด 1-2 คน ใช้ครั้งเดียวหมด หรือง่ายต่อการใช้โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหรือทำจากธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง การผลิตอาหารบำรุง สุขภาพ เช่น มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย หรือใช้สารความหวานอื่นที่ไม่เป็นอันตรายแทนน้ำตาล สินค้าทีทำจากสมุนไพร เป็นต้น

4.) คนเดนมาร์กมีการติดต่อซื้อขายและรู้จักประเทศไทยมานาน จึงมีความผูกพันและรู้จักประเทศไทยจากการที่ติดต่อซื้อขายกันมานาน และการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย การทำธุรกิจนิยมระบบการค้าแบบยั่งยืน เมื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใดก็จะติดต่อสั่งซื้อเป็นเวลานาน ราคาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการทำธุรกิจ มาตรฐานคุณภาพสินค้า การส่งมอบที่ตรงเวลา ความเป็นพันธมิตรการค้าที่ดีต่อกันเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อธุรกิจกับเดนมาร์ก

5.) เดนมาร์กจัดเป็นประเทศผู้มีความชำนาญด้านการค้ามาช้านาน ( Trading Nation) และภูมิประเทศ เส้นทางคมนาคมเป็นศูนย์กลางยุโรปเหนือกับกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ และกลุ่มบอลติก ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เดนมาร์กเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเหล่านั้นได้

2.7.2 ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า

1.) ประเทศไทยและเดนมาร์ก มีระยะทางอยู่ค่อนข้างห่างกันและเนื่องจากประชากรเดนมาร์กมีไม่มาก เพียง 4.5 ล้านคน จัดเป็นตลาดขนาดแล็ก ยอดสั่งซื้อแต่ละครั้ง จึงอาจมีปริมาณไม่มากหรือต้องมีการรวมตู้ ทำให้ผู้ส่งออกไทย ไม่ค่อยให้ความสำคัญผู้ซื้อเดนมาร์กมากนัก

2.) การติดต่อค้าขายส่วนใหญ่เดนมาร์กจะนิยมค้าขายกับกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศยุโรปตะวันตกด้วยกัน

3.) ปัญหาการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์กส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภายใต้กรอบของสหภาพฯ เนื่องจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยได้ออกมาตรการด้าน Food Safety, Integrated Product Policy (IPP) และนโยบาย Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด กุ้งและไก่ นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังได้ตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าไทยและเรียกเก็บภาษี AD และ CVD กับสินค้าไทยด้วย ซึ่งสินค้าอาหารของไทยหลายรายการมีการตรวจพบเชื้อโรคและสารตกค้างปนเปื้อนเป็นระยะๆ

4.) ปัญหาการค้าระหว่างภาคเอกชนไทยและเดนมาร์กมีไม่มากนัก เช่น ปัญหาผู้ส่งออกไทยไม่ส่งมอบสินค้าตรงเวลา ผู้นำเข้าเดนมาร์กไม่ชำระเงินค้าสินค้า เป็นต้น

4. การลงทุน

เดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในการลงทุน โดย World Bank ได้จัดอันดับให้เดนมาร์กอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่น่าลงทุนในปี 2554 รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

4.1 การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนจากต่างชาติของเดนมาร์กอยู่ที่สูงสุดที่ 11.81 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 แต่ตกต่ำลงไปที่ 2.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552

ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในเดนมาร์ก 5 ประเทศแรกในปี 2552 คือ เยอรมันนี คิดเป็นมูลค่า 1.82 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ สวีเดน มูลค่า 1.05 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 0.76 ล้านเหรียญสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 0.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหราชอาณาจักร 0.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 29 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,703 เหรียญสหรัฐ

การลงทุนในเดนมาร์กปี 2552 มีมูลค่ารวมประมาณ 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากรูป3 ด้านล่าง จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจไปรษณีย์ และการขนส่งเป็นภาคธุรกิจแรกที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่า 1.59 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ ภาคการขนส่ง การจัดเก็บ และการสื่อสาร มูลค่า 1.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคไปรษณีย์ และโทรคมนาคม มูลค่า 0.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการบริการทั้งหมด มูลค่า 0.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคเกษตรกรรม ภาคผลิตภัณฑ์อาหาร และภาคเหมืองแร่ และหิน มีมูลค่าเท่ากันที่ 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

4.2 สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน

IMD World Competitiveness Online (2011) ได้จัดอันดับให้โครงสร้างพื้นฐานที่ความได้เปรียบของเดนมาร์กอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

4.2.1 โครงสร้างพื้นฐาน

ความได้เปรียบทางโครงสร้างพื้นฐานของเดนมาร์กอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก เดนมาร์กมีจำนวนประชากรประมาณ 5.53 ล้านคนในปี 2553 โดยที่จำนวนประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีคิดเป็นร้อยละ 18.10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็นร้อยละ 16.35 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยดัชนีชี้วัดโอกาสในการบริโภค และอุปโภคน้ำอยู่ที่ระดับ 9.23 ของโลก ดัชนีชี้วัดโอกาสในการบริโภค และอุปโภคสินค้าอยู่ที่ระดับ 9.29 ของโลก ดัชนีชี้วัดการมีลักษณะแบบเมืองอยู่ที่ระดับ 8.71 ของโลก ดัชนีชี้วัดคุณภาพการขนส่งทางอากาศอยู่ที่ระดับ 8.57 ของโลก ดัชนีชี้วัดการกระจายโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 8.97 ของโลก ดัชนีชี้วัดคุณภาพการขนส่งทางน้ำอยู่ที่ระดับ 8.89 ของโลก และดัชนีชี้วัดการพัฒนาและการบำรุงรักษาอยู่ที่ระดับ 7.63 ของโลก

4.2.2 โครงสร้างเทคโนโลยี

ความได้เปรียบทางด้านโครงสร้างเทคโนโลยีของเดนมาร์กอยู่ที่อันดับ 6 ของโลกในปี 2553 โดยมีดัชนีชี้วัดด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร อยู่ที่ระดับ 9.00 ของโลก ดัชนีชี้วัดภาวการณ์เชื่อมต่ออยู่ที่ระดับ 9.09 ของโลก ดัชนีชี้วัดทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ที่ระดับ 8.66 ของโลก ดัชนีชี้วัดจำนวนวิศวกรที่มีความชำนาญอยู่ที่ระดับ 7.94 ของโลก ดัชนีชี้วัดความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอยู่ที่ระดับ 7.03 ของโลก ดัชนีชี้วัดความร่วมมือของภาคธุรกิจและรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ที่ระดับ 6.83 ของโลก

4.2.3 โครงสร้างทางวิทยาศาสตร์

ในปี 2553 เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 19 ของโลกในด้านความได้เปรียบทางโครงสร้างวิทยาศาสตร์ โดยดัชนีชี้วัดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ที่ระดับ 7.25 ของโลก ดัชนีชี้วัดนักวิจัย และวิทยาศาสตร์อยู่ที่ระดับ 5.35 ของโลก ดัชนีชี้วัดการออกกฎหมายการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ที่ระดับ 6.52 ของโลก ดัชนีชี้วัดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ที่ระดับ 8.23 ของโลก ดัชนีชี้วัดการถ่ายทอดองค์ความรู้อยู่ที่ระดับ 6.63 ของโลก ดัชนีชี้วัดกำลังการผลิตนวัตกรรมอยู่ที่ระดับ 7 ของโลก โดยเดนมาร์กได้รับรางวัลโนเบลคิดเป็น 0.72 ต่อประชากรล้านคน

4.2.4 สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ในปี 2553 เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 5 ของโลกทางด้านความได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพร่างกาย โดยดัชนีชี้วัดโครงสร้างสภาพร่างกายอยู่ที่ระดับ 7.51 ของโลก ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ย 71.80 ปี โดยร้อยละ 86.03 ของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตตัวเมือง ดัชนีชี้วัดปัญหาสุขภาพร่างกายอยู่ที่ระดับ 8.86 ของโลก ดัชนีชี้วัดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ระดับ 7.04 ของโลก ดัชนีชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ที่ระดับ 7.54 ของโลก ดัชนีชี้วัดปัญหาภาวะมลพิษอยู่ที่ระดับ 8.03 ของโลก ดัชนีชี้วัดกฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ระดับ 7.20 ของโลก ดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพอากาศอยู่ที่ระดับ 7.31 ของโลก และดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตอยู่ที่ระดับ 7.16 ของโลก

4.2.5 การศึกษา

ในปี 2553 เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 3 ของโลกทางด้านความได้เปรียบทางด้านการศึกษา โดยดัชนีชี้วัดระบบการศึกษาอยู่ที่ระดับ 7.29 ของโลก ดัชนีชี้วัดด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนอยู่ที่ระดับ 6.09 ของโลก ดัชนีชี้วัดด้านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ระดับ 7.12 ของโลก ดัชนีชี้วัดการศึกษาทางด้านการจัดการอยู่ที่ระดับ 7.30 ของโลก และดัชนีชี้วัดทักษะทางด้านภาษาอยู่ที่ระดับ 8.03 ของโลก

4.3 กฎระเบียบการลงทุน / นโยบายส่งเสริมการลงทุน

กฎระเบียบ และข้อบังคับทางด้านการลงทุนของเดนมาร์ถือเป็นระบบเปิด และไม่มีการกีดกันทางด้านการลงทุน รัฐบาลเดนมาร์กได้พยายามปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ลดข้อกีดขวางต่างๆ

เดนมาร์กปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการลงทุน (Trade-related Investment Measures: TRIMs) และข้อกำหนดของประสิทธิภาพการทำงานมีผลเฉพาะกับการลงทุนในการสำรวจไฮโดรคาร์บอน

นอกจากนี้นโยบายส่งเสริมการลงทุนส่วนมากถูกกำหนดโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณการใช้พลังงานและการใช้น้ำ เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่มีการลดภาษีสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถลดจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

เดนมาร์กมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน มีทั้งสำหรับนักลงทุนในประเทศ และจากต่างชาติ เช่น การลงทุนในด้านการพัฒนาภูมิภาคที่เนมาร์กส่งเสริม โดยนักลงทุนทั้งต่างประเทศและภายในประเทศอาจได้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนบางอย่างและยังเข้าถึงเงินที่ให้สิทธิพิเศษอีกด้วย เช่น การลงทุนในกรีนแลนด์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เดนมาร์กไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใดๆ กับนักลงทุนต่างชาติที่แตกต่างจากบริษัทของเดนมาร์กเอง บริษัทย่อยจากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งในเดนมาร์กสามารถมีส่วนร่วมในการเงินของภาครัฐ หรือเงินอุดหนุนโครงการวิจัยโดยอยู่ภายใต้กฏพื้นฐานเช่นเดียวกับชาวเดนมาร์ก

4.4 ต้นทุนการจัดตั้งทางธุรกิจ

ผู้ลงทุนเอกชนจากต่างประเทศหรือในประเทศสามารถจัดตั้ง เป็นเจ้าของ และโอนธุรกิจได้อย่างอิสระในเดนมาร์ก ข้อกำหนดของเงินทุนในการลงทุนบริษัทจำกัดมหาชน (Public limited liability company: A/S) คิดเป็นจำนวนเงิน 500,000 เดนนิชโครน (ประมาน 98,000 เหรียญสหรัฐ) และบริษัทเอกชนจำกัด (Private limited liability company: ApS) เป็นจำนวน 125,000 (ประมาน 25,000 เหรียญสหรัฐ) ไม่มีข้อกำหนดสำหรับถิ่นที่อยู่ของกรรมการและผู้บริหารของ A / S หรือ ApS

เดนมาร์กเรียกเก็บภาษีการจัดตั้งบริษัทสำหรับการให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น บริษัททางด้านกฎหมาย การบัญชีตรวจสอบและการบริการทางการแพทย์ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ต้องจัดหาใบรับรองทางอาชีพของเดนมาร์ก และ/หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในเดนมาร์ก ในบางกรณี เดนมาร์กอาจยอมรับใบรับรองอาชีพจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ภายใต้การยอมรับซึ่งกันและกัน

การจัดตั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเขตนอกเมืองอยู่ภายใต้กฎการไม่เลือกปฏิบัติตามความต้องการทางเศรษฐกิจ และต้องดีรับความยินยอมจากหน่วยงานท้องถิ่น

4.5 ภาษี

ระบบภาษีของเดนมาร์กถือว่าเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ โดยมีอัตราภาษีนิติบุคคล (Corporate tax) ที่ร้อยละ 25 มีเครือข่ายสนธิสัญญาภาษีที่กว้างขวาง และกฎระเบียบภาษีที่ดึงดูดผู้ลงทุนชาวต่างชาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

4.5.1 อัตราภาษีนิติบุคคล

อัตราภาษีนิติบุคคลของเดนมาร์กเป็นอัตราคงที่ (Flat rate) อยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งต่ำกว่าโดยเฉลี่ยในยุโรป อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นภาษีที่สามารถหักค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ และค่าเสื่อมได้ แทบจะไม่มีเงินอุดหนุนสวัสดิการทางสังคม สำหรับนายจ้างดังเช่นอีกหลายๆ ประเทศ ไม่มีภาษีทรัพย์สิน (Capital duty & Wealth tax) หรือภาษีการโอน (Share transfer duty) โดยทั่วไป เงินปันผลอาจได้รับ และแจกจ่ายโดยไม่เสียภาษี กฎหมายการกำหนดราคาโอน (Transfer pricing) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว เดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมสนธิสัญญาทางภาษีมากที่สุดเพื่อลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Double taxation)

4.5.2 ระบบภาษี

เงินได้นิติบุคคล และค่าเสื่อมถือเป็นภาษีนิติบุคคล ในเดนมาร์กสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ทั้งในรูปแบบ A/S และ ApS การลงทุนแบบร่วมมือกับพันธมิตรเป็นการลงทุนเพื่อความโปร่งใสทางด้านภาษี

4.6 ข้อมูลอื่นๆ

4.6.1 ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนกับไทย

ธุรกิจที่เดนมาร์กมีความสนใจไปลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางซึ่งเดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องดื่มเบียร์ อุตสาหกรรมอาหาร และกิจการด้านบริการโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นสาขาที่เดนมาร์กมีประสบการณ์และถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป ในช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (ค.ศ.1997) นั้นได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเดนมาร์กในระดับหนึ่ง โดยได้มีการชะลอการลงทุนลงทั้งในประเภทการลงทุนโดยตรงและการลงทุนร่วมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้าสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับโครงการลงทุนของเดนมาร์กที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of Board of Investment — BOI) ในปี 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 17,978 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับเดนมาร์กในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือทางด้านโบราณคดี โครงการความร่วมมือทางด้านพฤกษศาสตร์ กิจการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สยามสมาคม เป็นต้น ปัจจุบันเดนมาร์กมี 2 หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับเดนมาร์ก คือ (1) หน่วยงานการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance — DANIDA) และ (2) หน่วยงานรับผิดชอบความร่วมมือด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก (Danish Cooperation for Environment and Development — DANCED)

DANIDA เป็นหน่วยงานบริหารการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ต่างประเทศและอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในกรอบทวิภาคีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ.1961) เช่น การให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีดังกล่าวมีกำหนดสิ้นสุดโครงการในปี 2542 เนื่องจากเดนมาร์กเห็นว่าไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (รายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 2,160 เหรียญสหรัฐฯ) แม้ว่าเดนมาร์กจะมีนโยบายหยุดการให้ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีแก่ไทย แต่ไทยก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากเดนมาร์กในกรอบระดับภูมิภาค ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางสถาบันระดับภูมิภาค เช่น สถาบัน Asian Institutes of Technology (AIT) รวมทั้งโครงการให้ความช่วยเหลือภายใต้การให้เงินกู้แบบผ่อนปรน (Mixed Credits Programme) นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความช่วยเหลือและมีความร่วมมือกับ DANCED ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก โดย DANCED ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาสาขาที่เดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและโรงงาน การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมแก่ประเทศที่สามในไทย โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดจีน อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือที่เป็นทางการในการดำเนินความสัมพันธ์ในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา คือ การจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันเป็นประจำทุกปีระหว่างหน่วยงาน DANIDA กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (กรมวิเทศสหการเดิม) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ-ไทย-เดนมาร์กด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ครั้งที่ 12 (The Annual Consultation on Thai-Danish Environmental Cooperation) ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2546

4.6.2 การจัดตั้งสำนักงานตัวแทน

การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนนั้นมีสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีภายใต้การควบคุมของเดนมาร์ก การบริหารค่าใช้จ่ายโดยการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อนคือ การตั้งสำนักงานใหญ่ในเดนมาร์กแทนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ การจัดตั้งบริษัทเดนมาร์ก, A/S หรือ ApS สามารถจัดทำได้ 3 ทางด้วยกัน

  • การลงทะเบียนออนไลน์ สามารถลงทะเบียนได้สะดวกรวดเร็วที่ Danish Commerce and Companies Agency
  • การลงทะเบียนด้วยตนเอง ใช้เวลาประมาณ ๒ ถึง ๓ สัปดาห์
  • การลงทะเบียนแบบต้องการ Shelf company สามารถทำได้วันต่อวัน อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนออนไลน์เป็นการลงทะเบียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

4.6.3 การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน

สิทธิในทรัพย์สินในประเทศเดนมาร์กได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นอย่างดี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเดนมาร์กนับว่ายิ่งได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เดนมาร์กปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญและสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน WTO ข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องของด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights TRIPS) ได้รับการอนุมัติ เดนมาร์กได้เซ็นสัญญาสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ต (WIPO), สนธิสัญญาลิขสิทธิ์ (WIPO Copyright Treaty: WCT) และ การปฏิบัติงานสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ตและการบันทึกเสียง (WIPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) แต่ยังไม่อนุมัติเนื่องจากเดนมาร์กยังอยู่ระหว่างรอการดำเนินการร่วมสัตยาบันกันของสหภาพยุโรป

4.6.4 ความโปร่งใสของของการควบคุมดูแลระบบ

กฎหมายและนโยบายเงินช่วยเหลือของเดนมาร์กให้กับการลงทุนจากต่างประเทศถูกออกแบบให้ช่วยส่งเสริมเป้าหมายในการเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติของเดนมาร์ก ระดับสุขภาพของประชาชนชาวเดนมาร์กอยู่ในระดับสูง รวมทั้ง สิ่งแวดล้อม การรักษาความปลอดภัย และกฎหมายแรงงาน กฏหมายของเดนมาร์กทางด้านบริษัทเป็นไปในทิศทางเดียวกับกฏหมายของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ความถูกต้องตามกฎหมาย การควบคุมกฎหมาย และระบบบัญชีของเดนมาร์กถือได้ว่ามีความโปร่งใสเมื่อเทียบกับมาตรฐานของโลก ขั้นตอนของระบบข้าราชการนั้นถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น และโปร่งใสมากขึ้น กฏหมายและกฏระเบียบที่ยื่นเสนอมีการเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อการตอบรับความคิดเห็นต่างๆ

4.6.5 ตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพ และยอดรวมการลงทุน

เดนมาร์กให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในด้านกระแสเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงเพื่อการลงทุนโดยตรง และยอดรวมการลงทุน เครดิตถูกจัดสรรได้อย่างอิสระในตลาด ระบบธนาคารของเดนมาร์กอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากผู้ที่มีอำนาจการดูแลทางด้านการเงิน ธนาคารของเดนมาร์กประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเงินเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในปี 2551 ธนาคารขนาดกลาง และขนาดย่อมได้ล้มตัวลง ในขณะที่หลายแห่งถูกรวมเข้ากับสถาบันทางการเงินอื่นๆ เพื่อป้องกันการพังทลาย

ในปี 2551 รัฐสภาเดนมาร์กได้ผ่านการออกกฏหมายสำหรับธนาคารเอกชนทุกแห่ง และรัฐบาลเดนมาร์กได้ร่วมจัดหาเงินทุนให้กับโครงการความปลอดภัยสุทธิ (Safety Net) ซึ่งจัดหาการค้ำประกันอย่างไม่มีข้อจำกัดสำหรับเงินฝากธนาคาร และเจ้าหนี้ธนาคารบางประเภทในปี 2553 ถึงแม้ว่าได้มีหลายธุรกิจร้องเรียนการกู้เงินที่เข้มงวด และความยากลำบากจากการได้รับเงินสนับสนุนจากธนานคารจากการออกกฏหมายนี้

สินทรัพย์ของสามธนาคารใหญ่ในเดนมาร์ก (Danske Bank, Nordea Bank และ Jyske Bank) คิดเป็นร้อยละ 75 ของสินทรัพย์ทั้งหมดในภาคธนาคารในเดนมาร์ก ธนาคารใหญ่ของเดนมาร์กถูกจัดอันดับโดยหน่วยงานระหว่างประเทศ และได้รับความเชื่อถือในระดับสากล

ตลาดหลักทรัพย์เดนมาร์กทำงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในปี 2548 Copenhagen Stock Exchange ได้รวมตัวกับตลาดหลักทรัพย์นอร์ดิกส์ และบาร์ติกส์ ซึ่งอยู่ที่ OMX Exchanges ณ สำนักงานใหญ่กรุงสต็อกโฮล์มส์ นอกจากสต็อกโฮล์มส์ และโคเปนเฮเกนแล้ว OMX ยังได้รวมตลาดหลักทรัพย์ในเฮลซิงกิ ทาร์อิน ริกา และ วิลนุซอีกด้วย และเพื่อเพิ่มการเข้าถึงทุนสำหรับบริษัทขนาดย่อม OMX ได้เปิดตลาดทางเลือกใหม่นอร์ดิกส์ เรียกว่า First North ในเดนมาร์กด้วย

4.6.6 เสถียรภาพทางการเมือง

เดนมาร์กถือว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองส่งผลต่อโครงการ หรือการตั้งธุรกิจน้อยมากในเดนมาร์ก

4.6.6 การทุจริต

ในปี ๒๕๕๓ เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับจาก Transparency International เกี่ยวกับการทุจริตให้อยู่ที่ระดับ 9.3 ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในโลก ร่วมกับนิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ การทุจริตอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามประมวลกฏหมายอาญาเดนมาร์ก (Danish Panel Code) และกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่รับผิดชอบในการต่อต้านการทุจริต บทลงโทษสำหรับการละเมิดมีตั้งแต่ปรับโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี สำหรับการม่าวนร่วมของภาคเอกชน และจำคุกไม่เกิน 6 ปี สำหรับการมีส่วนร่วมของข้าราชการ ตั้งแต่ปี 2551 ธุรกิจเดนมาร์กไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการหักภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายของสินบนจ่ายให้กับข้าราชการในต่างประเทศ และเดนมาร์กเป็นผู้ลงนามของอนุสัญญา OECD ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนระหว่างประเทศ (OECD Convention on Combating Bribery)

4.6.7 ข้อตกลงทวิภาคีการคุ้มครองการลงทุน

ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงทวิภาคีการคุ้มครองการลงทุนกับเดนมาร์ก เดนมาร์กมีข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนกับ 46 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย, แอลบาเนีย, อาร์เจนติน่า, เบลารุส, โบลิเวีย, บัลแกเรีย, สาธารณรัฐเช็ก, ชิลี, จีน, โครเอเชีย, อียิปต์, เอธิโอเปียเอสโตเนีย, กานา, ฮ่องกง, ฮังการี, อินเดีย, อินโดนีเซีย คูเวตลัตเวียลิทัวเนีย, มาเลเซีย, เม็กซิโก, มองโกเลีย, โมซัมบิก, นิคารากัว, เกาหลีเหนือ, ปากีสถานเปรู, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, โรมาเนีย, รัสเซีย, สโลวาเกียสโลวีเนีย, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, แอฟริกาใต้และแทนซาเนีย, ตูนิเซีย, ตุรกี , ยูกันดา, ยูเครน, เวียดนามเวเนซุเอลาและซิมบับเว นอกจากนี้เดนมาร์กได้ลงนามในข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนกับบอสเนีย เฮเซโกวีน่า, บราซิล, คิวบา, ลาวและโมร็อกโก แต่ข้อตกลงเหล่านี้รอการอนุมัติ

4.6.8 กำลังแรงงาน

เดนมาร์กปฏิบัติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศคุ้มครองสิทธิคนงาน (ILO conventions protecting worker rights) กำลังแรงงานเดนมาร์กโดยทั่วไปมีเสถียรภาพ ได้รับการศึกษาดีเป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพ มีทักษะทางภาษาที่ดีและภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาที่สองในสัดส่วนที่สูงมากในเดนมาร์ก นอกจากนี้ตลาดแรงงานเดนมาร์กมีความยืดหยุ่น กฎการจ้างงานและการปลดพนักงานของเดนมาร์กไม่เป็นภาระต่อนายจ้าง ซึ่งช่วยให้บริษัทปรับพนักงานได้อย่างรวดเร็วเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะตลาด จำนวนกำลังแรงงานเดนมาร์กมีประมาณ 2.9 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 51.97 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเจริญเติบโตของกำลังแรงงานถือว่าอยู่ในช่วงถดถอย โดยลดลงร้อยละ 1.83 ในปี 2552 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 6 ในปี 2553 ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ OECD ที่ร้อยละ 7.4 การปรับตัวในภาคกำลังแรงงานส่งผลดีให้กับภาคการเงินในเดนมาร์กหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วย กำลังแรงงานของกลุ่มพาร์ตทาร์มในเดนมาร์กคิดเป็นร้อยละ 18.88 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เดนมาร์กมีกำลังแรงงานที่เป็นเพศหญิงอยู่ร้อยละ 47.20 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จากการจัดอันดับของ IMD World Competitiveness Online ความได้เปรียบทางด้านกำลังแรงงานของเดนมาร์กได้ถูกจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 37 จากทั้งหมด 58 ประเทศทั่วโลก โดยที่ ดัชนีชี้วัดแรงงานสัมพันธ์อยู่ที่ระดับ 7.71 ในปี 2553 ดัชนีชี้วัดแรงจูงใจของกำลังแรงงานอยู่ที่ระดับ 7.80 ดัชนีชี้วัดการอบรมพนักงานอยู่ที่ระดับ 7.77 ดัชนีชี้วัดแรงงานที่มีทักษะอยู่ที่ระดับ 7.60 ดัชนีชี้วัดทักษะทางการเงินอยู่ที่ระดับ 7.86 การดึงดูดและรักษาความสามารถพิเศษอยู่ที่ระดับ 7.82 ดัชนีชี้วัดปัญหาภาวะหมองไหลที่ไม่มีผลกระทบต่อความได้เปรียบต่อเศณษฐกิจอยู่ที่ระดับ 6.06 ดัชนีชี้วัดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะที่ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 3.71 ดัชนีชี้วัดประสบการณ์ต่างประเทศในระดับผู้จัดการอยู่ที่ระดับ 5.59 และดัชนีชี้วัดความสามารถของผู้จัดการระดับสูงอยู่ที่ระดับ 6.60 โดยเฉลี่ย แรงงานเดนมาร์กมีชั่วโมงการทำงาน 1,685 ชั่วโมงต่อปีในปี 2552 ภาครัฐของเดนมาร์กถือว่ามีขนาดใหญ่และกำลังแรงงานในภาคนี้คิดเป็นร้อยละ 36 ของกำลังแรงงานเต็มเวลา ร้อยละ 80 ของกำลังแรงงานทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน โดยกฏหมายแล้ว พนักงงานมีวันหยุดพักร้อนโดยได้รับค่าจ้าง 4 สัปดาห์ต่อปี แต่กำลังแรงงานหลายแห่งมีสิทธิได้รับวันหยุดพักร้อนโดยได้รับค่าจ้าง 6 สัปดาห์ต่อปี

เดนมาร์กมีระบบประกันการว่างงาน และลาป่วยที่ดี ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้ 52 สัปดาห์ และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเป็นจำนวน 14 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ค่าจ้างในเดนมาร์กถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จำนวนนายจ้างที่เข้าร่วมระบบสวัสดิการสังคมยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ค่าพนักงานสำหรับนายจ้างจึงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ

โดยทั่วไปแล้ว การได้รับใบอนุญาตการทำงานของชาวต่างชาติในเดนมาร์กถือว่าไม่ยากนัก มีข้อกำหนดพิเศษที่เรียกว่า Job Card Scheme สำหรับบางสาขาอาชีพที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เช่น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หมอ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที นักเศรษฐศาสตร์ นักกฏหมาย นักบัญชี และเดนมาร์กยังให้ Green Card scheme แก่ผู้ที่ต้องการมาทำงานในเดนมาร์กด้วย โดยทั่วไปแล้ว ระบบภาษีรายได้บุคคลของเดนมาร์กเป็นภาษีที่สูงที่สุดในโลก แต่โดยทั่วไปแล้ว แรงงานและนักวิจัยชาวต่างชาติจ่ายภาษีที่ร้อยละ 25 ภายใน 3 ปีแรกของการทำงานในเดนมาร์ก เพื่อเป็นสิ่งแรงจูงใจในการทำงาน รายละเอียดสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Danish Immigration Service

4.6.9 Foreign Trade Zones/Free Ports

ในเดนมาร์กมีเพียงแห่งเดียวคือ โคเปนเฮเกนฟรีพอร์ต ซึ่งบริหารโดยการท่าเรือแห่งโคเปนเฮเกน MP สิ่งอำนวยความสะดวกในฟรีพอร์ตส่วนใหญ่จะใช้สำหรับคลังสินค้าปลอดภาษีของสินค้านำเข้าเพื่อการส่งออก การขนส่ง และการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ การประกอบการของสินค้า เช่น การจัดเตรียมรถยนต์นำเข้าเพื่อขาย สามารถประกอบการได้อย่างอิสระในฟรีพอร์ต การดำเนินงานการผลิตสามารถจัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งจะได้รับถ้ามีเหตุผลพิเศษในบริเวณฟรีพอร์ต โคเปนเฮเกนฟรีพอร์ตต้อนรับบริษัทต่างชาติ ให้เข้ามาสร้างคลังสินค้าได้

4.7 แนวโน้ม ทางด้านการเงิน เดนมาร์กจัดเป็นหนึ่งประเทศที่มีเสถียรภาพการเงินที่มั่นคงที่สุดในสหภาพยุโรป

4.8 รายชื่อนักลงทุนไทย การลงทุนจากประเทศไทยในเดนมาร์กยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนหรือสาขาจากประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่

  • บริษัทการบินไทยจำกัด( มหาชน ) สำนักงานกรุงโคเปนเฮเกน
  • บริษัท CPF Denmark
  • บริษัท Team Precision
  • ภัตตาคาร Blue Elephant

นอกนั้น จะเป็นการลงทุนของคนไทยที่พำนักอยู่ในเดนมาร์กส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจประเภท ภัตตาคารอาหารไทย ร้ายขายของชำ และ สปา เป็นต้น

5. หน่วยงานติดต่อที่สำคัญ

5.1 Web site ที่น่าสนใจ

http://www.mfa.go.th

http://www.depthai.go.th

http://www.intracen.org/countries/

www.dipo.dk

http://www.dtn.go.th

http://www.nationmaster.com

http://www.um.dk

http://www.denmark.dk

http://www.nyidanmark.dk

http://www.ds.dk

5.2 รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานราชการ/ รัฐวิสากิจไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการค้าของประเทศ เดนมาร์ก

  • Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy

76 Hellerupvej, Hellerup 2900 DENMARK

Tel : + 45 3962 -6999

Fax : +45 3962 -6099

Email : dep@thaicom.dk ,ttccopenhagen@depthai.co.th

  • Royal Thai Embassy

Norgesmindevej 18, Hellerup 2900 DENMARK

Tel : + 45 3962 -5010

Fax : +45 3962 -5059

Email : info@thaiembassy.dk

  • Danish Chamber of Commerce

Business Contact Centre

Kampmannsgade, Boersen

DK-1217 COPENHAGEN K Denmark

Tel : (0045) 70131200/(0045) 33950556

Fax : (0045) 33325216

Email : hts@hts.dk / bcc@hts.dk

URL : http://www.hts.dk

  • Confederation of Danish Industries

International Trade & Market Devpt 18,

H.C. Andersens Boulevard

DK-1787 COPENHAGEN V ,Denmark

Tel : (0045) 33773377

Fax : (0045) 33773300/(0045) 33773760

Email : di@di.dk / cat@di.dk

URL : http://www.di.dk

  • Danish Trade Council

Trade Section

Asiatisk Plads 2

DK-1448 COPENHAGEN K

Denmark

Tel : (0045) 33920000

Fax : (0045) 32540533

Email : um@um.dk / de2@um.dk

URL : http://www.eksportraadet.dk

  • DIPO (Danish Import Promotion Office)

The Danish Chamber of Commerce

Slotsholmsgade, Boersen

DK-1217 COPENHAGEN K,Denmark

Tel : (0045) 70131200/(0045) 33950500

Fax : (0045) 33120525/(0045) 33325216

Email : dipo@hts.dk / dipo@commerce.dk

URL : http://www.dipo.dk

  • Invest in Denmark

Ministry of Foreign Affairs

2, Asiatisk Plads

DK-1447 Copenhagen K, Denmark

Tlf. +45 33 92 11 16

Fax +45 33 92 07 17

E-mail info@investindk.com

URL : http://www.investindk.dk

รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานสงเสริมการค้าของประเทศ เดนมาร์ก ในประเทศไทย

  • Danish-Thai Chamber of Commerce

5th floor Phayathai Building B

34 Phayathai Road

Bangkok 10400 Thailand

Tel. +66 2354 5220

Fax. +66 2354 5221

URL: http://www.dancham.or.th

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ