ซ้อสพริกศรีราชาของชาวเวียดนามติดอันดับหนึ่งซ้อสยอดนิยมในสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2010 12:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นิตยสาร Bon Appetit ฉบับเดือน มกราคม 2010 ได้ลงเรื่องซ้อสยอดนิยมอันดับหนึ่งในสหรัฐว่าเป็นซ้อสพริกศรีราชา แต่เป็นซ้อสที่ผลิตในสหรัฐโดยคนเวียดนามแต่ใช้ชื่อศรีราชา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ.นครลอสแอนเจลีสจึงจัดทำรายงานเกี่ยวกับซ้อสพริกศรีราชาในตลาดสหรัฐ ดังนี้

ความเป็นมาผู้ริเริ่มชื่อ David Tran อพยพจากเวียดนามมาอยู่ลอสแอนเจลีส เมื่อปี 1980 ไม่สามารถหาซ้อสพริกที่ชอบได้ จึงเริ่มผลิตเอง และขายจากรถบรรทุก ต่อมาเมื่อธุรกิจขยายตัว จึงตั้งโรงงานผลิตที่ Rosemead เขตลอสแอนเจลีส ใช้ชื่อบริษัทว่า Huy Fong Foods Inc. และผลิตซ้อสเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด แต่ซ้อสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือซ้อสที่ใช้ชื่อว่า ซ้อสพริกศรีราชา ตามชื่อซ้อสยอดนิยมของประเทศไทย ที่ตั้งชื่อตามชื่อเมืองศรีราชา ประเทศไทย Huy Fong Foods ขายซ้อสศรีราชาตราไก่ ปีละ 10 ล้านขวด

พริกที่ใช้เป็นพริกเม็กซิกัน Jalapenos ที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียงและนำมาบดผสมกับน้ำส้มสายชู เกลือ และ สารกันบูด บริษัทออกแบบเครื่องจักรที่ใช้ผสมซ้อสเอง และผลิตขวดเองเพื่อลดต้นทุน ทำให้สามารถขายได้ราคาถูก ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทที่จะขายซ้อสในราคาที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้ ขวดนี้กลายเป็นสัญญลักษณ์ที่ทุกคนจดจำได้ ถึงขวดพลาสติก ฝาจุกสีเขียว มีตราไก่ อยู่ข้างขวด ตัวหนังสือเขียนว่า SriRacha Chili Sauce

ซ้อสนี้มีวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ไม่เฉพาะแต่ร้านเอเซียเท่านั้น ตามซูเปอร์มาร์เก็ต mainstream ทุกแห่ง เช่น Walmart, Ralph's จะมีวางขายใน Asian food section แม้แต่ใน Amazon.com หรือ เว็ปไซท์การขายออนไลน์อื่นๆ นอกจากนี้ ตามร้านอาหารไทย เวียดนาม จีนแทบทุกร้านจะมีซ้อสนี้วางอยู่ที่โต๊ะ ในครัวของร้านอาหารไม่ว่าอาหารชาติใดจะมีซ้อสนี้ ร้านอาหารที่เป็น chain ขนาดใหญ่ก็เริ่มใช้ซ้อสตราไก่ในเมนูของตนเอง เช่น P.F.Chang, Applebee's แม้แต่ร้านหรูระดับหลายดาว ไปจนถึงในครัวที่บ้านของเช็ฟดัง ยังใช้ซ้อสนี้ เชฟที่มีชื่อเสียงหลายๆคนจะกล่าวถึงซ้อสนี้ด้วยความชื่นชมและใช้กับเมนูในร้านด้วย

ความนิยมซ้อสพริกตราไก่นี้ กลายเป็นกระแสในหมู่ผู้บริโภคอเมริกันไปแล้ว Facebook ของซ้อสนี้ มีผู้ตามถึง 190,000 กว่าคนแล้ว แต่ละคนแสดงความชื่นชอบอย่างมากกับซ้อสนี้ มีการแลกเปลี่ยนสูตรอาหารที่ใช้ซ้อสนี้ ซึ่งใช้ใส่ในอาหารทุกประเภท ไม่แต่อาหารเอเซียเท่านั้น แต่จะนำไปใช้แทนซ้อสมะเขือเทศ ใส่ไข่ ทานกับมันฝรั่งทอด หรือ แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า พาสต้า ซุป สลัด ซูชิ หรือ อาหารหรูอื่นๆ ไปจนถึงเครื่องดื่ม Bloody Mary Cocktail แม้แต่น้ำมะนาว Lemonade ยังมีสูตรที่ใส่ซ้อสศรีราชา กระแสความนิยมสูงขนาดมีคนสักเป็นตราไก่ไว้ที่ขา หรือในการแต่งตัวเทศกาลฮาโลวีนมีคนแต่งตัวเป็นขวดซ้อสตราไก่

สำหรับชื่อ ศรีราชานี้ ผู้ผลิตกล่าวว่าไม่เกี่ยวกับซ้อสศรีราชาจากประเทศไทย เขาปรุงขึ้นตามความชอบของตนเอง เพียงแต่ใช้ชื่อนี้เท่านั้น เมื่อเริ่มผลิตตั้งใจเพียงว่าจะขายคนเวียดนามอพยพในสหรัฐเพื่อใช้ใส่ในเฝอ และหวังว่าคนอเมริกันอาจจะใช้ด้วย เช่น ใส่แฮมเบอร์เกอร์ หรือ ฮ้อทดอกบ้าง และไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับความนิยมสูงขนาดนี้ และไม่ได้มีการทำการตลาดเหมือนกับซ้อสอเมริกัน ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ แต่สามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย

ในขณะที่ซ้อสศรีราชาของแท้ดั้งเดิมจากประเทศไทยมีวางขายอยู่บ้างตามตลาดไทย แต่มีจำนวนน้อยกว่าซ้อสศรีราชาตราไก่นี้ แม้แต่ร้านอาหารไทยเกือบทุกร้านจะมีซ้อสตราไก่นี้วางเป็นเครื่องปรุง ไม่ได้ใช้ซ้อสไทย เนื่องจากกระแสความนิยม ได้มีผู้ผลิตยี่ห้ออื่นๆเรี่มผลิตซ้อสพริกเรียกว่า Sri Racha sauce ออกมาวางขาย เช่น ยี่ห้อ Roland, Dynasty เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า คำว่า "ศรีราชา" กลายเป็นชื่อเรียกประเภทของซ้อสพริกที่มีส่วนผสมของพริก น้ำส้ม กระเทียม น้ำตาล เกลือ ไปแล้ว อย่างไรก็ดี ยี่ห้อ Rooster หรือ Cock เป็นที่นิยมมากที่สุด

ราคาขาย ปลีกขวดขนาด 17 oz. ราคา 3.69-3.89$ ส่วนซ้อสศรีราชาตราฉลามจากประเทศไทย บรรจุขวดแก้วขนาด 7 oz. ราคาขายออนไลน์ 3.29$ ไม่มีวางขายแพร่หลายส่วนซ้อสยี่ห้ออื่นๆ ขายในราคาใกล้เคียงกัน

ผู้ส่งออกไทยเริ่มผลิตซ้อสพริกศรีราชาออกสู่ตลาดสหรัฐแล้ว เห็นได้จากงานแสดงสินค้า Winter Fancy Food Show ที่ซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2553 ได้มีผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานเองโดยตรง ( งานนี้กรมฯไม่ได้สนับสนุนการเข้าร่วมงาน ) เช่น บริษัท Thai Agri Foods ได้นำซ้อสศรีราชา ตรา Foco ซึ่งเป็นตราของบริษัทเอง ออกแสดงในงานนี้ด้วย หรือ บริษัทเขาช่อง ได้นำถั่วยี่ห้อ เขาช่อง รสศรีราชา ออกแสดงด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมงาน สำหรับผลการสั่งซื้อจะต้องรอติดตามหลังงานต่อไป

สำหรับซ้อสไทยประเภทอื่นๆที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ได้แก่ น้ำปลา ซึ่งมีการเรียกทับศัพท์ว่า Nam Pla และน้ำจิ้มไก่ Sweet Chili Sauce ยี่ห้อแม่พลอยจะแพร่หลายมากที่สุด แต่ได้มีบริษัทอเมริกันหลายบริษัท เริ่มผลิตน้ำปลา น้ำจิ้มไก่ ออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองอย่างแพร่หลาย และมีทั้งที่ผลิตจากประเทศไทยและผลิตจากประเทศอื่นรวมทั้งสหรัฐเองด้วย ซี่งทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมให้แพร่หลายแต่ก็เป็นคู่แข่งไปด้วย

แนวโน้มความนิยมของผู้บริโภค ให้ความสนใจกับซ้อสประเภทต่างๆมากขึ้น เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการทานอาหารนอกบ้านลง และทำอาหารทางเองที่บ้านมากขึ้น การใช้ซ้อสต่างๆ เป็นตัวช่วยให้อาหารมีรสชาติหลากหลายโดยไม่ต้องเสียเวลาปรุงเอง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และรสชาติคงที่แน่นอน ยอดขายของซ้อสต่างๆเพิ่มขึ้นมาก และมีการแข่งขันสูง อย่างไรก็ดีเนื่องจากอาหารไทยและอาหารที่ใส่เครื่องเทศสมุนไพร อาหารรสจัด รสเผ็ด เป็นที่นิยมมากขึ้น ดังนั้น โอกาสของซ้อสจากประเทศไทยยังมีอีกมาก หากสามารถปรับปรุงรสชาติให้หลากหลาย และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาดจะช่วยให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น

เช่น ขวดควรมีขนาดเล็ก หากจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป วัสดุที่ใช้ควรทำให้บีบหรือเทออกจากขวดได้ง่าย เพิ่มข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผสมสมุนไพร ไม่ใส่สารเคมี ไม่มีไขมัน Transat หรือ Cholesterol หากขายให้ Foodservice หรือ ร้านอาหาร เชฟต้องการขวดขนาดใหญ่ ที่ปากขวดใหญ่พอที่จะตักหรือตวงจากขวดได้ง่าย

สถิติการนำเข้าซ้อสของสหรัฐ ภายใต้หมวด Condiments หรือเครื่องปรุงรสต่างๆ รวมถึงซ้อสประเภทต่างๆ นำเข้ารวมคิดเป็นมูลค่า 635 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เดือน มกราคม - พฤศจิกายน 2552) นำเข้าจากไทยเป็นอันดับสี่ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และ อิตาลี การนำเข้าจากไทย คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนตลาด 6.46% ขยายตัว 4% ส่วนไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 309 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งไปสหรัฐสูงเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นมูลค่า 38.33 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 12.4% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.77%

การนำเข้าซ้อสมักจะนำเข้าโดยผู้นำเข้าชาวเอเซียเนื่องจากคุ้นเคยกับสินค้า และจัดส่งให้ลูกค้าที่เป็นผู้ค้าส่ง หรือ ตัวแทนที่นำไปส่งตามร้านอาหาร ตลาดเอเซียต่างๆ ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ไม่นำเข้าเอง แต่จะซื้อจากตัวแทนผู้นำเข้า หรือตัวแทนสินค้านั้นๆมีผู้นำเข้าบางรายขายปลีกและส่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะเห็นได้ว่าซ้อสไทยยังมีโอกาสอีกมากในตลาดสหรัฐ และขณะนี้เป็นโอกาสดีที่จะเร่งขยายตลาดเนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยควรหากทำการตลาดอย่างถูกวิธี การมีตัวอย่างให้ลูกค้าและผู้บริโภคชิมเป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้ซื้อจะไม่ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกและราคาอย่างเดียว รสชาติ กลิ่น เป็นสิ่งจำเป็นที่บางครั้งผู้ส่งออกไม่ได้เห็นความสำคัญในประเด็นนี้

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ.นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ