อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่เริ่มมีปัญหาน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขังนานหลายวัน ทำให้ผู้ประสบภัยเป็นโรคน้ำกัดเท้า จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นขอให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วมือนิ้วเท้า แต่หากเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว มีอาการผิวหนังเปื่อย ลอก แดง คัน แสบ ขอให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งจะมียารักษาโรคน้ำกัดเท้าแจกฟรี ขณะนี้ได้ส่งไปยังพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 195,000 ชุด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 300,000 ชุด
ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัยเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตให้มากที่สุด โดยเน้นหนักใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเวชเดิมเพื่อป้องกันปัญหาขาดยา 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ 3.ผู้สูงอายุและผู้พิการ และ4.ผู้ที่สูญเสียอย่างมาก ทั้งด้านทรัพย์สิน มีผู้ใกล้ชิดเสียชีวิตจากน้ำท่วม เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้จะเกิดปัญหาง่าย เพราะมีปัญหาทางจิตใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อประสบปัญหาจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายและมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งผลการประเมินทางจิตจำนวน 3,032 รายใน 32 จังหวัด พบผู้มีความเครียดทั้งหมด 160 ราย ในจำนวนนี้เครียดในระดับสูง 24 ราย ให้ทีมเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเอง และจะส่งเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพจิตครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 26 รายและผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย