อินเทล คอร์ป บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลก ถูกคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับเงินเป็นจำนวน 1.06 พันล้านยูโร (1.45 พันล้านดอลลาร์) โทษฐานขัดขวางการแข่งขันในตลาดไมโครชิพอย่างผิดกฎหมาย
โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า อินเทลขัดขวางการแข่งขันทางการค้า ด้วยการใช้ยุทธิวิธีการขายที่ผิดกฎหมายเพื่อบีบให้คู่แข่งอย่าง เอเอ็มดี ต้องออกจากตลาดไป ทั้งนี้ หลังจากสืบสวนอยู่นาน 8 ปี อียูพบว่าในระหว่างปี 2545 - 2550 อินเทลได้จ่ายเงินให้ผู้ผลิตหลายรายและผู้ค้าปลีกรายหนึ่งเพื่อให้ซื้อชิปของอินเทลแทนชิปของบริษัทเอเอ็มดี
อีซีระบุว่า อินเทลได้คืนส่วนลดให้แก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายราย อาทิ เอเซอร์, เดลล์, เอชพี, เลอโนโว และ เอ็นอีซี เพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้ซื้อชิปหรือซีพียูของอินเทล หรือเพื่อให้บริษัทเหล่านี้ยุติหรือเลื่อนการออกวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิปของเอเอ็มดี
นอกจากนี้ อินเทลยังจ่ายเงินให้บริษัทมีเดีย แซทเทิร์น โฮลดิง ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็คทรอนิคส์รายใหญ่สุดของเยอรมนี ให้ซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิปของอินเทลเท่านั้น ส่งผลให้พนักงานที่โรงงานในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปของเอเอ็มดีไม่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิพของเอเอ็มดีจากร้านค้าในเมืองที่โรงงานตั้งอยู่ได้
ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวถือเป็นสถิติสูงสุด ซึ่งสูงกว่าค่าปรับจำนวน 497 ล้านยูโรที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เคยสั่งปรับไมโครซอฟท์ด้วยข้อหาผูกขาดการค้าเมื่อปี 2547
"อินเทลสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคหลายล้านคนในยุโรปด้วยการกระทำซึ่งมีเจตนาที่จะกำจัดคู่แข่งออกไปจากตลาดเป็นเวลาหลายปี" อียูระบุ "การกระทำที่เป็นการการฝ่าฝืนกฎต่อต้านการผูกขาดของอียูอย่างรุนแรงและยาวนานเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้"
อย่างไรก็ตาม อินเทลประกาศว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ต่อไป
"อินเทลขอคัดค้านผลการตัดสินนี้ เราเชื่อว่าเป็นการตัดสินที่ผิด และไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่ว่ามีการแข่งขันกันสูงในตลาดไมโครโพรเซสเซอร์" พอล โอเทลลินี ซีอีโอของอินเทลกล่าวภายหลังรับทราบผลการตัดสิน
"เราไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย อินเทลจะยื่นอุทธรณ์" เขากล่าว