ค่ากลางของเงินหยวนของจีนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐถูกกำหนดให้อยู่ที่ระดับ 6.5849 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นติดต่อกัน 2 วันทำการ หลังจากที่ตลาดปิดทำการเป็นเวลา 7 วันเนื่องในวันหยุดเทศกาลตรุษจีน
ตัวเลขดังกล่าวอาจจะมีสาเหตุมาจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่จีนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักให้ควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจีนอาจจะใช้เครื่องมือทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยและการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น เพื่อควบคุมคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้น
อันที่จริงแล้วแนวโน้มการแข็งค่าเร็วขึ้นของเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 แล้ว โดยเงินหยวนเคลื่อนตัวทะลุระดับ 6.6 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 13 ม.ค. และปรับตัวสูงขึ้นมาทำนิวไฮ 10 วัน จากจำนวนวันทำการ 19 วันเมื่อเดือนม.ค.
สำหรับแนวโน้มการแข็งค่าเร็วขึ้นของเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ วงในมองว่าเป็นเพราะกลไกที่ครอบคลุมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ สำหรับภายในประเทศนั้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข็งค่าของเงินหยวนอาจจะช่วยชดเชยแรงกดดันของเงินเฟ้อที่อาจจะทำให้ราคาธัญพืช พลังงาน และวัตถุดิบในตลาดต่างประเทศสูงขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ภายในและต่างประเทศในปัจจุบันนี้ ตลาดมองว่า เงินหยวนจะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไป แต่ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในตลาดเรื่องความเร็วในการแข็งค่าของเงินหยวน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะแข็งค่า 3-6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้
ชู หงปิ่น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะยังคงแข็งค่าอย่างช้าๆต่อไปในช่วง 3-5% ในปีนี้ แต่ในขณะที่ยอดเกินดุลการค้าจะลดลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนก็เคลื่อนตัวใกล้ระดับที่สมดุลของอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงิน และเงินหยวนก็ไม่ได้ถูกประเมินค่าต่ำเกินจริง ดังนั้น เงินหยวนอาจจะไม่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายงานของเจพี มอร์แกนล่าสุดระบุว่า การแข็งค่าของเงินหยวนจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเงินตราของจีนต่อไป และคาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะยังอยู่ที่ระดับประมาณ 6.3 หยวนต่อดอลลาร์ก่อนถึงช่วงสิ้นปีนี้ แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไป และเงินหยวนอาจจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
หม่า จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดอยช์ แบงก์ เกรท ไชน่า รีเจียน มองว่า เงินหยวนน่าจะแข็งค่าที่อัตรา 5% ต่อปี และในภาวะดังกล่าวเท่านั้นที่จีนจะสามารถรับมือกับเงินเฟ้อจากต่างประเทศ และชดเชยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้สกุลเงินหยวนอีก 5%
บล.ยูบีเอส สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และโนมูระ ต่างคาดการณ์ว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น โดยคาดการณ์ว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 6.2 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้
ทางยูบีเอสมองว่า แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภายนอกมากขึ้น แต่จีนก็ยังไม่อยากทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเร็วนัก แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลจีนก็อาจจะทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อลดแรงกดดันจากนานาประเทศ รวมถึงลดความเสี่ยงของนโยบายกีดกันทางการค้า
จีนได้เริ่มปล่อยเงินหยวนลอยตัว และอิงตามอุปทานในตลาดและตลาดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2548 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวน
เงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 23.16% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมาตั้งแต่เดือนก.ค.2548 และแข็งค่าอีกประมาณ 3.72% ตั้งแต่ที่มีการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเมื่อเดือนมิ.ย. 2553
จากการคำนวณของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนในนามได้แข็งค่าขึ้นอีก 13.58% และอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงแข็งค่าขึ้นอีก 21.2% สำนักข่าวซินหัวรายงาน