นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาความเหมาะสมด้านการลงทุนทางท่อปิโตรเลียมในประเทศไทย เห็นว่า การลงทุนควรจะมีการต่อท่อก๊าซธรรมชาติไปภาคอีสาน(สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น) และต่อไปยังภาคเหนือ (สระบุรี-ลำปาง) โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างท่อน้ำมันจะเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง
โดยรูปแบบ คือ บมจ.ปตท.(PTT) เป็นผู้ลงทุนในรูปแบบลงทุนเชิงสังคมเพราะผลตอบแทนจะต่ำ คาดว่าจะคืนทุนภายใน 3-4 ปีแต่ได้ประโยชน์ต่อสังคมสูง ทั้งลดต้นทุนค่าขนส่งปิโตรเลียม ส่งผลให้ราคาน้ำมันจะลดลงได้ 40-50 สต./ลิตร ลดปัญหาการจราจรโดยในส่วนของน้ำมันจะลดลงถึงร้อยละ 75 จากที่ปัจจุบันมีการขนส่งถึง 2 ล้านเที่ยวต่อปี ซึ่งกรณีท่อขนส่งน้ำมันต้องลงทุนเพิ่มประมาณอีก 15,000 ล้านบาท ล่าสุดทราบว่า ปตท.จะเพิ่มทุนในแทปไลน์เพื่อขยายท่อขนส่งน้ำมัน
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนสร้างท่อก๊าซไปเหนือและอีสานจะช่วยทำให้ค่าขนส่งเอ็นจีวีจะลดลงได้ 6-12 บาท/กก. ส่วนการลงทุนในอนาคตที่เหมาะสมสำหรับเอ็นจีวีในประเทศไทยคือ สร้างสถานีขนาดใหญ่ตามแนวท่อ เพราะต้นทุนจะต่ำกว่าสร้างสถานีแม่-ลูก มาก โดยจากการคำนวณในปี 2554 พบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับสถานีตามแนวท่อก๊าซฯอยู่ที่ประมาณ 2.43 บาท/กก.เท่านั้น ส่วนสถานีแม่-ลูกตามถนนต่างที่ขนส่งด้วยรถยนต์พบว่ามีต้นทุนสูง 6.50 บาท/กก. แต่หากมีข้อเรียกร้องให้สร้างสถานีแม่-ลูกเพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลก็ควรจะมีการแยกออกเป็น 2 ราคาเพื่อให้ประชาชนรับรู้ต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้การกำกับดูแลเอ็นจีวี เพื่อให้เกิดการยอมรับ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ควรจะเป็นผู้ดูแลต้นทุนทั้งระบบ
ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่ทางสถาบันฯ ได้มีการศึกษาไว้เป็นต้นทุนที่เหมาะสมแล้ว โดยดูจากต้นทุนเนื้อก๊าซตามสัญญาที่ทุกผู้ผลิตได้แจ้งกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีการเสียค่าภาคหลวง ส่วนค่าผ่านท่อก๊าซฯก็พิจารณาจาก กกพ. โดยต้นทุนเนื้อก๊าซในปี 2554 ปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 9 บาท/กก. และหากรวมค่าใช้จ่ายดำเนินการและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วราคาที่แท้จริงอยู่ที่ 15.58 บาท/กก. แต่ราคาของไทยก่อนปรับราคาเมื่อวันที่ 16 ม.ค.55 ราคาอยู่ที่ 8.50 บาท/กก. นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก
หากเทียบกับอิหร่านที่มีสำรองก๊าซเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ราคาเอ็นจีวียังอยู่ที่ 9.52 บาท/กก. ขณะที่ราคาเอ็นจีวีที่สหรัฐอยู่ระหว่าง 21.77-29.74 บาท/กก.
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าก๊าซธรรมชาติแหล่งเฮนรีฮับของสหรัฐราคาถูกกว่าไทยโดยอยู่ประมาณ 3 ดอลลาร์/ล้านบีทียู หรือ 90 บาท/ล้านบีทียู ส่วนของไทยอยู่ที่ 220 บาท/ล้านบีทียู หรือกว่า 7 ดอลลาร์/ล้านบีทียูนั้น เกิดจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่สหรัฐพบก๊าซแหล่งใหม่ในรูปเชลล์แก๊ส ทำให้มีการแข่งขันการจำหน่ายราคาปากหลุมจึงถูกแต่ผู้ค้าก๊าซได้มีการขายให้กับบรรดาโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และภาคขนส่งในราคาสูงขึ้น เช่น เอ็นจีวีที่สูงกว่าเมืองไทย จึงไม่สามารถจะนำก๊าซ 2 แหล่งมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะหากจะให้ก๊าซไทยมีราคาถูกก็ต้องมีการสำรวจและพบก๊าซเป็นใหม่เป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐ
นอกจากนี้อหล่งก๊าซของไทยที่ใช้ในปัจจุบัน 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันก็นำมาจากอ่าวไทยเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือนำเข้าจากพม่าและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่ต้นทุนสูงมาก โดยต้นทุนแอลเอ็นจีอยู่ที่ 250 บาท/ล้านบีทียู ส่วนพม่า 450 บาท/ล้านบีทียู และอ่าวไทยอยู่ที่ 180 บาท/ล้านบีทียู
ด้านนายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ปตท. กล่าวว่า วันพรุ่งนี้(14 ก.พ.) ปตท.พร้อมชี้แจงข้อมูลแก่ผู้ประกอบการขนส่งตามที่กระทรวงพลังงานได้จัดสัมมนา และเตรียมพร้อมหากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งมี รมว.พลังงาน เป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.พ.จะเห็นชอบปรับขึ้นราคาก๊าซรอบ 2 วันที่ 16 ก.พ.นี้ โดยในส่วนเอ็นจีวีขณะนี้มีการแจกจ่ายบัตรส่วนลดราคาไม่เกิน 2 บาท/กก.ไปแล้ว 7 หมื่นใบ คาดแต่ละปีจะรับภาระรวม 1,600 ล้านบาท ส่วนบัตรเครดิตพลังงานมีการแจกจ่ายไปแล้ว 34,000 ใบ