ปัจจุบัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากไม่แพ้การค้าระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการลงทุนที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนอย่างมหาศาล โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ประเมินว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปี 2553-2563 อาจต้องใช้เงินถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเอเชียและสำหรับอาเซียนคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) ตามแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง AIIB ภายใต้ความพยายามของจีนที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียเข้าด้วยกันผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน พลังงาน และโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งการพัฒนาเส้นทางขนส่งในเอเชียจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิด "One Belt, One Road" ของจีนในการเชื่อมต่อเอเชียกับทวีปรอบข้าง โดย AIIB จะทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (the 21st Maritime Silk Road) อันจะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
"การที่จีนเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้ง AIIB สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของทางการในการเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยผลักดันเงินหยวนไปสู่การเป็นเงินสกุลหลักของโลก ส่งผลให้จีนทุ่มเงินลงทุนถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินทุนตั้งต้นของ AIIB และตั้งเป้าจะระดมเงินทุนตั้งต้นของ AIIB เพิ่มเติมให้ได้ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะถัดไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในส่วนของไทยที่ปัจจุบันมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วนั้น ทำให้คาดว่าบทบาทของไทยใน AIIB ก็คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการเข้าร่วม AIIB นอกจากจะช่วยส่งเสริมจุดยืนของไทยในภูมิภาคแล้ว ไทยยังได้ประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือของ AIIB เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศข้างเคียงไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่จะทำให้ท้ายที่สุดไทยสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นๆในเอเชียได้ โดยเฉพาะจีน และอินเดียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบทบาทของจีนในธนาคารโลกและ ADB ยังนับว่ามีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับขนาด และความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้จีนยังมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอในการเล่นบทบาทผู้สนับสนุนหลักของ AIIB ซึ่งจะช่วยให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบโดยรวมจากการที่มี AIIB ต่อเงินสมทบที่ธนาคารโลก และ ADB ได้รับจากประเทศสมาชิกอาจมีไม่มาก เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของธนาคารโลกและ ADB อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา น่าจะยังคงต้องการที่จะรักษาสถานะและสิทธิในการออกเสียงในองค์กรทั้งสองแห่งนี้ไว้ แต่สำหรับประเทศขนาดเล็กในเอเชียที่มีเงินทุนไม่มาก กอปรกับมีบทบาทในธนาคารโลก และ ADB น้อยอยู่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้ความสำคัญและจัดสรรเงินทุนให้ AIIB มากขึ้น ซึ่งก็คงส่งผลกระทบต่อธนาคารโลก และ ADB ในกรอบจำกัด
ในระยะยาว ยังต้องจับตาการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเอเชียภายใต้ความร่วมมือของนานาประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของอาเซียนเองก็มีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) เมื่อปี 2555 เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ด้วยเช่นกัน และในอนาคตอาจจะเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศเหนือรัฐ (Supra-National Authority) มากขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อขยายการค้า และส่งเสริมการลงทุน ท้ายที่สุดคือนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการสร้างความมั่งคั่งร่วมกันของประชาคมโลก