ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ/ร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2016 09:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัตหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ 2 ฉบับ มีดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจ พ.ศ. ....

1.1 กำหนดนิยามคำว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" หมายถึง เขตพื้นที่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็นและการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้า การบริการ หรือบริการอื่นใด ที่ประกอบกิจการในเขตพื้นที่นั้น

1.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย ประกาศกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดตามและประเมินผล ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ

1.3 ในการกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำกับดูแลและประสานงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บท และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ หรืออยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กรณีที่พื้นที่นั้นมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเป็นการเฉพาะก็ได้

1.4 คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการหรือผู้อาศัยใน เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ การยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี การนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร เป็นต้น

1.5 กำหนดให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้

2. ร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เดิมมีแนวทางที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 แล้วนำมาบัญญัติรวมไว้ในร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ฉบับที่ อก. ขอถอนไปจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (29 มีนาคม 2559) ซึ่งปัจจุบันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเองอยู่แล้ว 10 แห่ง และร่วมดำเนินการกับภาคเอกชนอยู่อีก 45 แห่ง สมควรให้ กนอ. ดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับ กนอ. เป็นองค์กรที่สามารถเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจต่อไปได้ด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ กนอ.เสียในคราวเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... โดยมีประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้

2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ของ กนอ. ให้ดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ดำเนินกิจการท่าเรืออุตสาหกรรม จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับกิจการของ กนอ. เป็นต้น

2.2 กำหนดให้ กนอ. มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมาย จากเดิมที่มีอยู่ 3 ฉบับ เป็น 9 ฉบับ เพื่อให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมสอดคล้องกับบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... (ฉบับใหม่)

2.3 กรณีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการพาณิชยกรรมได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม และเป็นคนต่างด้าวเมื่อเลิกกิจการหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่นหากเป็นการจำหน่ายที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์และส่วนควบให้ กนอ. คิดราคาที่ผู้ประกอบการนั้นซื้อมา และให้ใช้ในกรณีอาคารชุดด้วยโดยอนุโลม

2.4 กำหนดให้การนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของดังกล่าว หรือเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพการประทับตราหรือเครื่องหมายใดๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ