นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเข้าหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กรณีปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการยื่นล้มละลายของสายเรือ Hanjin Shipping ต่อผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยว่า รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ศึกษากฎหมายที่สามารถนำมาใช้เรียกข้อมูลตู้สินค้าที่ขนส่งระหว่างทางจากตัวแทนสายเรือ Hanjin Shipping ในประเทศไทย และ ให้ทำจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังบริษัทสายเรือหรือตัวแทนสายเรือโดยเร็ว
ทั้งนี้ ตัวแทน Hanjin ในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นผู้รับจัดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตามพระราชบัญญัติขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พุทธศักราช 2548 จึงอาจใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ ควบคู่กับ อำนาจในพระราชบัญญัติส่งเสริมพาณิชย์นาวี พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ขนส่งสินค้า ต้องส่งข้อมูลให้ภาครัฐตามที่ร้องขอ หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษถึงขั้น จำคุก
ส่วนแนวแทางการแก้ไขปัญหาระยะกลาง กระทรวงคมนาคม จะพิจารณามอบหมายหน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาในกรณีเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะ ผู้ขนส่งสินค้าหลายรายมีปัญหาการขาดทุนจากการให้บริการ เช่นเดียวกัน
ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะมีการพิจารณาออกกฎหมาย (ร่าง) พระราชบัญญัติบริหารการขนส่ง พ.ศ..... ซึ่งมีบทบัญญัติที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว, ศึกษาแนวทางการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ..... เพื่อให้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้ชัดเจน ป้องกันกรณีปฏิเสธความรับผิดของ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กรณีสายเรือ Hanjin รวมถึง ให้มีการกำหนดวงเงินสำหรับเป็นหลักประกันความรับผิดชอบในการให้บริการ เช่นเดียวกับสายเรือ เป็นต้น
อีกทั้งศึกษาการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของท่าเรือ เพื่อให้สามารถเรียกข้อมูลตู้สินค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจดำเนินการตามแนวทางขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่พยายามผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ Maritime National Single Window
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Hanjin Shipping นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ประกอบด้วย การขาดข้อมูลตู้สินค้านำเข้าและส่งออกที่ใช้บริการผ่านสายเรือ ขณะที่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาในทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที เพราะไม่ทราบสถานะของสินค้าและวัตถุดิบระหว่างการขนส่งว่าจะเดินทางถึงเมื่อใด
ความเสียหายต่อผู้ใช้บริการและผู้ส่งสินค้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งความเสียหายต่อตัวสินค้าและความเสียหายต่อกระบวนการทางธุรกิจในซัพพลายเชนและสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรับผิดชอบของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ด้านการเงินสำหรับการเข้าประกอบตลอดจนการดำเนินการตลอดจนการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้มีหลักประกันสำหรับผู้ใช้บริการในการได้รับชดเชยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันพบว่ามีผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบางรายแจ้งให้ใช้บริการติดต่อกับทางสายเรือ Hanjin Shipping เพื่อติดตามสถานการณ์และเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปฏิเสธหน้าที่ตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการขนส่งตามสัญญารับขนหรือที่เรียกว่าในตราส่ง (Bill of Lading:B/L) และบทบาทในการแก้ไขปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องเน้นย้ำบทบาทและความรับผิดชอบ ตลอดจนควบคุมกิจกรรมและบทบาทหน้าที่ให้เป็นไปตามสัญญาขนส่งสินค้า
ผลกระทบจากการล้มละลายของสายเรือ Hanjin Shipping แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการกำหนดกลไกดำเนินงานในลักษณะนี้เพื่อให้สามารถประสานงานและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ