นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ใช้งานมาเกือบ 20 ปีแลัว นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ซึ่งมีบางมาตราบางบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป กระทรวงแรงงานจึงเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อให้สามารถดูแลคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจกับภาคเอกชนให้ดีขึ้น
โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.การเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างประเภทต่างๆ โดยจะสามารถครอบคลุมลูกจ้างที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือลูกจ้างที่เป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ และในอนาคต หากคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำอยากจะเขียนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับคนทั้ง 3 ประเภทก็จะสามารถกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้
2.การยกเลิกบทบัญญัติที่เคยกำหนดให้นายจ้างต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดขั้นตอนเพิ่มขึ้นสำหรับการทำธุรกิจ ก็จะแก้กฎหมายเป็นให้สามารถจัดเก็บสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้ ณ สถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลาแทน และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้จะสอดรับกับกฎเกณฑ์การประเมินของธนาคารโลกในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ เพราะเราอยากให้ธุรกิจที่เปิดใหม่ ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามามีความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
และ 3.การกำหนดให้เกษียณอายุคือการเลิกจ้าง ในอดีตการเกษียณอายุแล้วแต่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เป็นผู้กำหนด ลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับการชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในอดีตการเกษียณอายุธรรมดาอาจจะไม่ได้รับการชดเชย ทำให้เกิดการฟ้องร้องหลายครั้งและศาลได้ตีความแล้วว่าการให้ลูกจ้างเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างต้องมีการชดเชย แต่กฎหมายใหม่จะให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าใครที่มีอายุเข้าเกณฑ์การเกษียณอายุก็จะได้รับการชดเชย
แต่ในกรณีที่นายจ้างไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ในสัญญาจ้าง ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี และได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนดไว้ และเมื่อเกษียณอายุแล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่ที่อาจจะแตกต่างจากสัญญาเดิมก็ได้ ซึ่งสัญญาใหม่จะเป็นไปตามข้อความเดิมหรือข้อความใหม่ก็ได้แต่อย่างน้อยจะทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองว่าเมื่ออายุ 60 ปีแล้วต้องมีการเกษียณอายุต้องได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ถือเป็นการบังคับนายจ้างจ่ายชดเชยซึ่งถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในเรื่องการคุ้มครองแรงงานที่จะตอบรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต่อไป และจะกระทบต่อผู้สูงอายุในแต่ละปีจำนวน 3-4 แสนคน
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในมาตราของกฎหมายใหม่เขียนไว้ชัดเจนว่า "ให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ในกรณีที่ไม่ได้ตกลง หรือกำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 และอีกวรรค...ในกรณีที่ลูกจ้างที่เกษียณอายุลูกจ้างที่ได้รับการชดเชยตามกฎหมายแล้ว ตกลงทำสัญญาใหม่โดยอาจจะแตกต่างไปจากสัญญาจ้างเดิมก็ได้"
"มีหลายกรณีที่ลูกจ้างอายุ 60 ปี แต่นายจ้างทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้ทำงานไป จนกระทั่งทำไม่ไหวขอลาออกเองก็ไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งอาจจะสูงถึงเกือบ 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน" นายกอบศักดื กล่าว
นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังระบุด้วยว่า ถ้าทำงาน 10 ปีขึ้นไปจะได้รับการชดเชยไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน ถ้าทำงานระหว่าง 6-10 ปี จะได้รับการชดเชยอย่างน้อย 8 เดือน, ทำงาน 3-6 ปี ต้องได้รับชดเชยอย่างน้อย 6 เดือน เป็นต้น
"ปัจจุบันนายจ้างรู้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมีค่าชดเชยแบบนี้จึงไม่กำหนดเรื่องเกษียณอายุไว้ ถ้าลูกจ้างลาออกเองในอนาคตก็เป็นการให้เงินโดยเสน่หา" นายกอบศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีนายจ้างกำหนดการเกษียณไว้ที่อายุ 55 ปี หรือช่วงอายุใดก็แล้วแต่ให้ถือเป็นการเลิกจ้างก็ต้องมีการจ่ายชดเชยเช่นกัน ส่วนคนที่อายุเกิน 60 ปีมาแล้วก็น่าจะได้รับการชดเชยตามเวลาที่ทำงานเกินมา
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 8 มาตรา ได้มีการหารือกฤษฎีกาแล้ว และตั้งใจให้ทันต่อการประเมินของธนาคารโลก (World Bank:WB)เรื่องความยากง่ายในการจัดอันดับการทำธุรกิจซึ่งจะมีการประเมินช่วงกลางปี จึงคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมามีผลบังคับใช้ก่อนเดือน พ.ค.60