สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.60 อยู่ที่ 110.54 หดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 112.22 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 60.10%
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.พ.60 ลดลง 1.5% จากผลกระทบการลดลงการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ซ่อมบำรุงประจำปีจนต้องลดกำลังการผลิตจากเดือนม.ค.ถึง 24.32% แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จาก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่เป็นไปตามแนวโน้มคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของตลาดโลกที่เติบโตเพิ่มขึ้น
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.76% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เป็นผลจากการคลี่คลายปัญหาการดัมพ์ตลาดจากจีนที่ลดลงในเหล็กทรงยาว รวมถึงคำสั่งซื้อของภาครัฐและการซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาคใต้ ในขณะที่เหล็กทรงแบนเองได้เร่งการผลิตจากการหยุดชั่วคราวในเดือนก่อน โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
เวชภัณฑ์ยา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.84% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตรายใหญ่ได้หยุดปรับปรุงระบบการผลิตใหม่ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.59 และการย้ายโรงงานในช่วงปลายปีก่อน รวมทั้งในปีนี้มีการเปิดตลาดยาเม็ดได้ใหม่ในประเทศฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น ทำให้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.38% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากปลาแช่แข็ง และปลาหมึกแช่แข็ง เนื่องจากวัตถุดิบที่มีมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่สูงขึ้น
และ เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.99% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเพิ่มยอดผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเพิ่มชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นมา
ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ได้แก่ รถยนต์ ปรับตัวลดลง 9.34% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการส่งออกรถยนต์ลดลง จากประเทศแถบตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกหลัก แต่ทว่าตลาดในประเทศ พบปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 13.36% หลังผู้ซื้อที่ใช้สิทธิ์รถคันแรกเมื่อ 5 ปีก่อนเริ่มปลดล็อกและขายรถยนต์เก่าออกไปได้
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ปรับตัวลดลง 9.30% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ช่วงต้นปีที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดน้อย สวนยางบางแห่งได้เริ่มผลัดใบเร็วกว่าปกติ ราคายางจึงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางจากไทยยังมีสต็อกยางในปริมาณที่สูง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง 12.67% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มตลาดที่มีการแข่งขันสูง
น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวลดลง 9.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งลดลง 24.32% จากเดือนก่อน โดยมีสาเหตุจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นตามแผนธุรกิจประจำปี ส่งผลให้น้ำมันสำเร็จรูปรายการหลักต่าง ๆ มีปริมาณการผลิตลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งมีสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายสูงสุดปรับตัวลดลง