นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ยืนยันว่า การพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) นั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้ครอบคลุมสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายเล็ก หรือในครัวเรือน มุ่งหวังเพียงกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ อย่างในกลุ่มโรงงาน หรือห้างสรรพสินค้า ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งระบบไฟฟ้าหลักของประเทศอยู่ โดยมอบหมายให้หน่วยงานการไฟฟ้าไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วนำเสนอกลับมาให้กกพ.พิจารณาต่อไป
"ตั้งแต่ปีที่แล้วเทคโนโลยีเรื่องพลังงานทดแทนต้นทุนถูกลง ก็มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตเองใช้เองส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็ซื้อไฟฟ้าด้วย และเขาขอมาเชื่อมไฟฟ้ากับการไฟฟ้า แต่การไฟฟ้าไม่ให้เชื่อมเข้าระบบ ก็มาร้องเรียนที่ผม ตามกฎหมายผมคนมาขอเชื่อมต้องให้เขาเชื่อม ในเมื่อไม่ให้เขาเชื่อมมีกติกาอะไรก็ว่ามา เขาก็ไม่มีกติกาเราก็อนุญาตให้เชื่อมไป ก็เกิดเยอะขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างโซลาร์เซลล์ ก็จะมีตัวใหญ่ ๆ อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ถามว่าเชื่อมมีปัญหาอะไรไหม การไฟฟ้าเขาก็ต้องสำรองไฟฟ้าไว้ เราก็ถามว่ามีต้นทุนอะไร อย่างโซลาร์เซลล์ ฝนตก 3 วันก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เขาก็ต้องให้การไฟฟ้าผลิตไฟฟ้ามาทดแทน ก็มีต้นทุนเพราะปีหนึ่งเดินเครื่องไม่กี่วัน ก็ให้การไฟฟ้าไปคิดต้นทุนมาว่าคืออะไร นั่นคือต้นเรื่อง เราไม่ได้ตั้งใจเรื่องโซลาร์รูฟบนหลังคาขนาดเล็ก เราหมายถึงโซลาร์ตัวใหญ่ๆ"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเรียกเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า ดังกล่าวจะอยู่ในกลุ่มใดบ้าง ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ว่ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทใดที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ที่เกิดปัญหาขณะนี้คือผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ ส่วนการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาการจัดอัตราระบบสำรองไฟฟ้าสำหรับกลุ่มครัวเรือนด้วยนั้น อาจเป็นการศึกษาภาพรวมทั้งหมดว่าผลกระทบเป็นอย่างไร เพื่อนำมาพิสูจน์ว่าผลกระทบโดยรวมจะเป็นอย่างไร
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่น ๆ ทั้งกลุ่มชีวมวล เช่น กลุ่มโรงสีข้าว ,โรงงานน้ำตาล ที่แม้จะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบใช้ด้วยเช่นกัน แม้จะมีอัตราการซื้อขายไฟฟ้าที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งโรงไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองอาจเสียและต้องหยุดซ่อมบำรุง ก็จะต้องกลับมาซื้อไฟฟ้าจากระบบเพิ่มเติม ซึ่งในกรณีนี้ทำให้กฟผ.ยังคงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย ก็คงต้องเอาตัวเลขมาพิจารณากันต่อไป
ก่อนหน้านี้ กฟผ.ระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เองที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้จดแจ้งในระบบแล้วราว 200 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าปกติ โดยเงินที่เรียกเก็บจะนำมาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าปกติทั่วไป