นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานในการเปิดการสัมมนา เรื่อง "ความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีเพื่อการแนะนำด้านภาษีอากรที่มีคุณภาพ" โดยได้ชี้แจงประเด็นความเสี่ยงจากการแนะนำด้านภาษีอากรของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางในการบริหารจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากร รวมทั้งบทบาทของสำนักงานบัญชีต่อภาษีอากร เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศไทย
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk Based Audit System : RBA) เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดเลือกผู้เสียภาษีที่มีความเสี่ยงและเลือกใช้เครื่องมือตรวจสอบที่มีความเหมาะสมกับพฤติการณ์ของผู้เสียภาษี เพื่อให้มีความเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบนี้เป็นการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลภายในและข้อมูลภายนอกกรมสรรพากรมารวบรวมเพื่อประเมินความเสี่ยง แล้วส่งให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้เสียภาษีแต่ละราย
โดยในระยะแรก กรมสรรพากรจะเน้นการตรวจแนะนำ โดยจะเชิญผู้ทำบัญชี/สำนักงานบัญชีเข้าร่วมฟังคำแนะนำด้วย เพื่อนำคำแนะนำไปปรับปรุงข้อผิดพลาด เนื่องจากผู้ทำบัญชีเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของผู้ประกอบการให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเมื่อระบบ National e-Payment มีความสมบูรณ์ บทบาทของสำนักงานบัญชีจะเปลี่ยนไปสู่การวิเคราะห์สารสนเทศทางบัญชี และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ สำนักงานบัญชีที่มีการปรับตัวจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเองได้มากขึ้น
ปัจจุบันกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบงานต่าง ๆ รองรับการทำงานของสำนักงานบัญชี เช่น การจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice) ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (E-receipt)
"สำนักงานบัญชีที่มีพฤติกรรมจงใจบันทึกบัญชีโดยปกปิดข้อเท็จจริง สร้างรายจ่ายอันเป็นเท็จ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ตลอดจนการขอคืนภาษีเป็นเท็จ นอกจากจะถูกกรมสรรพากรดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรแล้ว ยังเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ด้วย ซึ่งมีทั้งโทษปรับและจำคุก รวมถึงเป็นความผิดในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีฯ อาจลงโทษสูงสุดถึงขั้นเพิกถอนการขึ้นทะเบียน" อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว