นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบหลังมีกระแสข่าวว่า มีผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทผลิตน้ำยางข้นแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา และต้องการให้ตรวจสอบว่าทำไมจึงจำกัดการส่งออกยางเหลือแค่ 50% เพียง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาวด์ และยางแท่ง STR20 แต่ไม่จำกัดการส่งออกน้ำยางข้นและยางก้อนถ้วย
"มีผู้บริหารระดับสูงของ กยท.ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของพ่อค้าน้ำยางข้นและทำไมจำกัดการส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาวด์และยางแท่ง แต่ไม่จำกัดการส่งออกน้ำยางข้นกับยางก้อนถ้วย เหมือนเปิดช่องให้การส่งออกน้ำยางข้นกับยางก้อนถ้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบไปให้ต่างประเทศแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งกลับมาขายเราในราคาแพงๆ แทนที่เราจะแปรรูปเพิ่มมูลค่าภายในประเทศก่อนส่งออก" นายทศพล กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
ทั้งนี้ เกษตรกรทุกเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลจับมือกับบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ เพื่อจำกัดการส่งออกยางทุกชนิด
"ที่สำคัญสิ่งที่ทำให้ราคายางไม่ขึ้นเลย...ประมาณเดือนครึ่งแล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ออกนโยบายมาและขอเวลา 3 เดือน นี่ผ่านมาครึ่งทางแล้ว อยากถามว่านโยบายการแก้ไขที่ออกมามันตอบโจทย์หรือยัง เพราะเราคัดค้านไปแล้วโดยเฉพาะการที่ให้พ่อค้ากู้ 2 หมื่นล้านบาทโดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% เพื่อให้พ่อค้าดูดซับยางแท่งเข้าเก็บในสต็อก วันนี้ราคายางขยับขึ้นหรือยัง ได้ผลหรือยัง...แทนที่จะมาเสริมความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร แต่กลับไปสร้างมั่นคงให้พ่อค้า สุดท้ายเงินที่ให้พ่อค้ากู้เพื่อดูดซับยางออกจากตลาด แต่ราคาขยับขึ้นหรือยัง เพราะฉะนั้นการที่ไม่จำกัดการส่งออกทุกชั้นยางทำให้น้ำยางข้นและยางก้อนถ้วยไหลออกจากประเทศ"นายทศพล กล่าว
นายทศพล กล่าวต่อว่า ต้องการให้มีการตรวจสอบและอุดรูรั่ว และอยากให้เร่งดำเนินการก่อนจะถึงฤดูการปิดกรีด ซึ่งภาคเหนือและอีสาน ฤดูปิดกรีดจะอยู่ระหว่างกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไปและจะกลับมากรีดอีกครั้งประมาณเดือนพฤษภาคม ส่วนภาคใต้เริ่มปิดกรีดมีนาคมและเปิดกรีดปลายพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนมิถุนายน
ดังนั้น ที่รัฐมนตรีขอเวลาเอาไว้ 3 เดือน จึงไม่มีประโยชน์เพราะพอครบ 3 เดือนก็ตรงกับช่วงปิดกรีด ราคายางขยับขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ และช่วงปิดกรีดราคายางก็ขยับขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้วแต่ชาวสวนไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่มีของจะขาย เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลปล่อย 2 หมื่นล้านบาทให้พ่อค้าซื้อเก็บเข้าสต็อก ผลประโยชน์จึงตกอยู่ที่พ่อค้า
"การที่รัฐบาลให้งบประมาณพ่อค้ามากว้านซื้อยางในราคา 40 บาท/กก. พอถึงฤดูปิดกรีดราคาขยับขึ้น พ่อค้าจะทำการส่งออกราคายางน่าจะขยับขึ้นไปถึง 50 บาท/กก. พ่อค้าก็ได้ประโยชน์อีก"นายทศพล กล่าว