ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า โครงการมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปีรวมถึงสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้านทีอียูต่อปีหรือคิดเป็น 30% ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดโดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน
การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วนคือ 1.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าเทียบเรือมาตรฐาน การขุดลอกร่องน้ำ ถนน ราง ระบบ ไฟฟ้า ประปา มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงทุนเอง โดยจะเปิดประมูล ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯพ.ศ. 2560 คาดว่าจะได้ตัวผู้ดำเนินการในเดือน ม.ค.-ก.พ.62 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ซึ่งประเมินว่าจะใช้เลินลงทุนบางส่วนจากรายได้ของการท่าเรือ ฯ ซึ่งมีกระแสเงินสดปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และบางส่วนจะระดมทุนเช่น ออกพันธบัตร หรือ กู้เงินในประเทศ ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงิน อยู่ระหว่างศึกษา
2.การบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยภาคเอกชนจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือให้พร้อมในการให้บริการ จัดหาเครื่องมือต่างๆ ระบบไอที และทำการตลาด ประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งในส่วนนี้ จะใช้ระเบียบ PPP EEC Track โดยจะทำ Market sounding ครั้งที่ 2 ในเดือน มิ.ย. และครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ค. จากนั้นจะสรุปข้อมูลเสนอขออนุมัติ และประกาศทีโออาร์ในเดือน ก.ค. ขายซองประมูลในเดือน ส.ค. ได้ตัวเอกชนผู้รับเหมาและลงนามสัญญาในเดือน ธ.ค.61
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ.2558-2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ และใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของภาคเอกชนมาช่วยในการบริหารท่าเรือ ซึ่งจะรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะของภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับปรุงรูปแบบการลงทุน และนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติและเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการภายในปีนี้
ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการส่งออกของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าที่ 7 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งภายใต้นโยบาย EEC จะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่และปริมาณการค้าเติบโต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาขั้นที่ 3 โดยมีแนวคิด คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินต้าเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี 2.นำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation มาบริหารจัดการ 3.ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Multi Model ) โดยส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งเชื่อว่า เมื่อดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังติดใน TOP 20 ของโลก
รมช.คมนาคม กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกของไทยมีการเติบโตมากในช่วงนี้ ซี่งนโยบาย EEC จะเป็นตัวกระตุ้นให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องเริ่มต้นโครงการตอนนี้ เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 5 ปี และต้องคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาบริหารคู่ขนานไปด้วย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งคาดหวังจะได้ผู้บริหารท่าเรือที่มืออาชีพ มีระบบที่ทันสมัย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ขณะนี้ สิงคโปร์มีท่าเรือที่ใหญ่ขนาด 30 ล้านทีอียู ส่วนไทยหากพัฒนามาอยู่ที่ 18 ล้านทีอียูได้จะเทียบเท่ามาเลเซีย และจะอยู่ในอันดับต้นๆของภูมิภาคได้
"การส่งเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศจะต้องดำเนินการควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นและทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย" นายไพรินทร์ กล่าว