นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ"อนาคตพลังงานไทย" ในงานสัมมนาหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า พลังงานของประเทศไทยในอนาคตจะต้องมีความมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ราคาย่อมเยา ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่มีราว 30,000-40,000 เมกะวัตต์นั้น เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ทำให้คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้ายังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล ที่จะทำให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพ
"ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าแบบ firm มากเพียงพอกับความต้องการ จนถึงปี 65-66 เรายังมีไฟฟ้าเพียงพอ ทำให้อีก 5 ปีไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ยกเว้นพวกที่มีสัญญาอยู่แล้ว แต่พวกที่จะคัดเลือกใหม่นั้นเรายังมีเวลา ไม่รีบร้อน และใช้เวลานี้ในการวางรูปแบบความมั่นคง ยั่งยืน และมีราคาย่อมเยา"นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า สำหรับความมั่นคงนั้น จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงของการมีก๊าซฯ เพียงพอในการเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 60-70% ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีแหล่งก๊าซฯเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซฯหลักในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 นั้น รัฐบาลก็อยู่ระหว่างการประมูลเพื่อหาผู้ดำเนินการต่อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ประกอบการใหม่ได้ภายในเดือนธ.ค.61 และลงนามสัญญาได้ในเดือนก.พ.62 รวมถึงยังต้องมีความยั่งยืน จะต้องเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม ภายใต้ราคาที่ย่อมเยา
ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้า โดยจะแยกเป็นรายภาค เพื่อให้เกิดการลงทุนและเพิ่มความมั่นคงเป็นรายภาค และจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาการซื้อขายผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้สตาร์ทอัพเข้ามามีบทบาท โดยไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใด ซึ่งคาดว่าจะมีกรอบความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ แต่การจะใช้ระบบนี้จริงคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
"โครงสร้างระบบที่ตามบ้านสามารถสร้างแผงโซลาร์ รับไฟแล้วขายส่วนเกินเข้ามาขายกันเอง ขายเข้าหมู่บ้าน ขายเข้าชุมชน และขายเข้าหลวง ต้องมีระบบที่เหมาะสม ก็ต้องขอความร่วมมือขอความคิดเห็นจากหลายๆท่าน เราต้องเดินไปอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่ภายในสิ้นปีนี้จะดำเนินการได้ ภายในสิ้นปีนี้จะต้องมีกรอบระบบขึ้นมาให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น...ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่โซลาร์รูฟท็อป"นายศิริ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงมีแนวคิดที่จะใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานราว 150-200 ล้านบาทเป็นเงินให้เปล่าเพื่อให้กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ดำเนินการก่อสร้างโรงงานต้นแบบลิเทียมไอออนขนาดเล็ก และทดลองผลิตลิเทียมซัลเฟอร์ควบคู่กันไปด้วย ในพื้นที่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)เพื่อผลักดันให้กลุ่มสตาร์ทอัพนำไปต่อยอดได้ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในต้นปีหน้า