นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเจรจาการย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้าบางคล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดการเจรจากับผู้บริหารของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้เสนอหลักการและเหตุผลในการขอย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าออกจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
ขณะที่คณะทำงานมีเงื่อนไขในการเจรจาว่า โรงไฟฟ้าที่จะย้ายจะต้องตั้งอยู่ในแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หากตั้งอยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ก็จะทำให้ไม่สามารถจัดหาก๊าซฯ มาป้อนโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทก็ได้เสนอพื้นที่มาหลายแห่ง
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในเรื่องของสายส่งไฟฟ้าที่จะรองรับการแก้ปัญหามวลชนในพื้นที่ไม่ให้เกิดการต่อต้านโครงการ เพื่อให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ และพื้นที่นั้นจะต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในโรงไฟฟ้า เพราะโครงการโรงไฟฟ้าต้องใช้เป็นจำนวนมากในระบบหล่อเย็น หากมีการย้ายพื้นที่ไปจะต้องมีแหล่งน้ำซึ่งเมื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังต้องไม่แย่งแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ด้วย และประการสุดท้ายค่าไฟฟ้าจะต้องไม่แพงขึ้นด้วย และเป็นอัตราที่กระทรวงพลังงานรับได้
ทั้งนี้ เหตุผลทั้งหมดนี้จะต้องชัดเจน เนื่องจากทางคณะทำงานเมื่อตอบตกลงรับข้อเสนอทั้งหมดแล้วจะต้องสามารถอธิบายกับประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเรื่องนี้จะเจรจาเสร็จเมื่อไร โดยในส่วนของคณะทำงานได้มีการเจรจากับบริษัทมาแล้ว 3 รอบ และคาดว่าจะต้องมีการเจราอีกครั้งหนึ่งก่อนสรุปให้คณะอนุกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าบางคล้า ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าคณะอนุกรรมการฯ จะเวลาในการพิจารณานานแค่ไหน
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตีความข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า การย้ายโรงไฟฟ้าบางคล้าไปอยู่พื้นที่อื่นไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลไอพีพี เพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัยโรงไฟฟ้าไม่สามารถที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ จึงให้ทางบริษัทหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้า โดยมีกรอบว่าจะต้องไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และโครงการจะต้องสามารถดำเนินการได้ตามแผน
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าบางคล้าเป็น 1 ใน 4 โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนที่ชนะการประมูลไอพีพี ประกอบด้วย บริษัท จีโค-วัน จำกัด ในกลุ่มของบริษัท โกวล์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน พ.ย.54,
โครงการของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด กับกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่ อ.พนมสารคราม จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2555-2556,บริษัท สยาม เอ็นเนอยี่ จำกัด ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2555
และบริษัท เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ก่อสร้างในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2557
ในส่วนของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ และบริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น เบื้องต้นได้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปจากแผนเดิม 1 ปีแล้ว และไม่แน่ใจว่าจะต้องเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีกหรือไม่