นายสันสฤต วิจิตรเลขการ ภาควิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินใหม่(IFRSs) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.54 ว่า ภาพรวมของบริษัทจดทะเบียน 400 กว่าแห่งในตลาดฯ ที่ได้รับจริงคือ Employee Benefit การตั้งสำรองเงินเกษียณในแต่ละปี จากเดิมแต่ละบริษัทไม่มีการตั้งสำรองเงินส่วนนี้
แต่ทางสภาวิชาชีพฯก็หาวิธีผ่อนปรนให้เลือกในการบันทึก 4 วิธี คือ 1.ปรับที่กำไรสะสมต้นงวด 2.ปรับที่งบการเงินย้อนหลังบวกกำไรสะสมต้นงวด 3.ใช้วิธีเฉลี่ย 5 ปี และ 4.ค่าใช้จ่ายครั้งเดียว แล้วแต่ใครจะเลือกวิธีคำนวณ
นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ ต้องเฝ้าระวังในเรื่องการให้ใบสำคัญแสดงสิทธิแก่พนักงาน (ESOP) เพราะส่วนใหญ่ประเมินผลปลายปี โดยจะปรากฎเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทจากเดิมไม่มีการบันทึกมาก่อน
ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาหลังจากที่มีการใช้ IFRS พบว่า มีเพียงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ โดยเบื้องต้นพบอยู่ 7-8 บริษัท ส่วนใหญ่กระทบในแง่ของการรับรู้รายได้ ซึ่งจะรับรู้ได้เมื่อโอน ได้แก่ บมจ.ไรมอนแลนด์(RAIMON) , บมจ.รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์(RASA), บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์(SF) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนการบันทึกอาจจะปรับเรื่องอื่นด้วยไม่เฉพาะการรับรู้รายได้ จึงทำให้ส่งผลกระทบโดยรวม และเรื่องอื่นอาจเป็นเรื่องสมัครใจจะทำ ส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือเพราะเริ่มเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 51,52 และ 53 แล้ว พอปีนี้มีผลบังคับใช้จริงก็ไม่กระทบ
นายสันสกฤต มองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลดีต่อนักลงทุนที่จะเห็นการบันทึกงบการเงินที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น อยากจะบอกนักลงทุนถึงแม้นโยบายบัญชีเปลี่ยนใหม่แต่ในแง่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เปลี่ยน แต่อาจจะมีผลกระทบต่อกำไรสะสมต้นงวดลดลงบ้าง แต่ไม่กระทบกระแสเงินสด
ผลกระทบตามมาคือการจ่ายปันผลอาจน้อยลง หรือบางบริษัทอาจจะกระทบ cash flow กรณีการเรียกเก็บเงินตอนนี้หรือตอนหน้าก็จะมีผลต่อ inflow แต่ก็มองว่าเป็นผลดีต่อนักลงทุนเพราะตามมาตรฐานใหม่จะสะท้อนงบการเงินเป็นจริงมากกว่าเดิม เช่น จองคอนโดมิเนียม เดิมบันทึกเป็นรายได้ แต่งบการเงินใหม่ต้องรับรู้รายได้เมื่อโอน
"มาตรฐานบัญชีเปลี่ยน แต่ปัจจัยพื้นฐานบจ.ไม่ได้เปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นคืออาจจะกระทบ cash flow บ้าง กรณีเรียกเก็บตังค์ช้า-เร็ว ขึ้นอยู่กับประเด็น"นายสันสกฤต กล่าว