ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดแนวโน้มราคาข้าวในประเทศ-ส่งออกH2/54ยังสูงต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาข้าวในเดือนสิงหาคม 2554 มีแนวโน้มสูงขึ้น ต่อเนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2554 จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงปลายฤดูการผลิตข้าวนาปรัง และนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2554 (ต้นฤดูการผลิตข้าวนาปี 2554/55) โดยคาดว่าราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 15,000 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ทำให้โรงสีและพ่อค้าข้าวเข้ามาแย่งซื้อข้าวจากชาวนา เพื่อรอราคาที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ส่งออกชะลอรับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ เนื่องจากเกรงว่าจะขาดทุน และรอดูความชัดเจนของมาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดใหม่

"ผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 3/54 และข้าวนาปีฤดูการเพาะปลูก 2554/55 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 4/54 อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์ไว้ แต่ถ้าสภาพอากาศปกติหรือข้าวไม่ได้รับความเสียหายมากนัก มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดในปริมาณสูง จากแรงจูงใจในด้านราคา ทำให้ชาวนาขยายปริมาณการผลิต ราคาข้าวมีแนวโน้มชะลอลง" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางราคาในตลาดโลก และมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาข้าวในประเทศในระยะต่อไป

ส่วนราคาข้าวไทยในต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อรับรู้ในเรื่องแนวโน้มทิศทางราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับปัจจัยหนุนจากในช่วงนี้มีความต้องการข้าวของประเทศอินโดนีเซีย และบังคลาเทศ รวมทั้งบางประเทศในแอฟริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้หันไปซื้อข้าวจากเวียดนาม และอินเดีย เนื่องจากราคาข้าวถูกกว่าไทย โดยเวียดนามได้คำสั่งซื้อข้าวจากอินโดนีเซียไป 0.5 ล้านตันเพื่อส่งมอบในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2554 ซึ่งนับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้สมาคมอาหารของเวียดนามเลื่อนแผนการจะซื้อข้าวสาร 1 ล้านตัน หรือข้าวเปลือก 2 ล้านตันจากฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (ฤดูการผลิตข้าวสำคัญของเวียดนาม ที่มีผลผลิตมากที่สุดในปีการผลิต) ซึ่งเดิมเคยเป็นปัจจัยที่เตรียมไว้เพื่อกระตุ้นราคาข้าวในประเทศ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าที่มีคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น

ในกรณีของอินเดีย รัฐบาลอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ(ข้าวขาวและข้าวนึ่ง) 1.8 ล้านตัน โดยให้เอกชนส่งออก 1 ล้านตัน จำหน่ายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล 0.5 ล้านตัน และจำหน่ายให้บังคลาเทศ 0.3 ล้านตัน ซึ่งการกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งของอินเดียหลังจากหยุดส่งออกไปตั้งแต่ปี 2552 คาดว่าอินเดียเข้ามาเป็นคู่แข่งขันส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2554 ทั้งในตลาดบังคลาเทศ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจัยทั้งจากเวียดนามและอินเดียอาจะส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2554 มีแนวโน้มชะลอลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับเดือนกรกฎาคม 2554 ดัชนีราคาข้าวทุกประเภทปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2554 และเดือนมิถุนายน 2553 โดยดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับ 186.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนหน้า(MoM) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ตลาดรับรู้ราคาข้าวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดใหม่

ดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีก็เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 183.23 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 MoM และร้อยละ 6.1 YoY ส่วนดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 175.46 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 MoM และร้อยละ 12.2 YoY เนื่องจากบรรดาโรงสีและพ่อค้าบางรายเริ่มออกรับซื้อข้าวเก็บสต็อก จากการคาดการณ์ว่าราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น

โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ ดัชนีราคาข้าวส่งออก5% ทั้งของไทยและเวียดนามในเดือนกรกฎาคม 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 142.28 และ 155.19 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2554 เนื่องจากความต้องการซื้อข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย บังคลาเทศ อิรัก และจีน จากที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ดัชนีราคาข้าวของทั้งสองประเทศยังหดตัวถึงร้อยละ 8.9 และ 7.4 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราคาข้าวส่งออกของไทยในตลาดโลกยังสูงกว่าเวียดนามประมาณ 5-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทข้าว) นับว่าเป็นช่วงห่างของราคาข้าวที่ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นจากในช่วงระยะปี 2552-2553 ที่ราคาห่างกันประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทำให้ภาวะการแข่งขันของข้าวไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ประเด็นที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวของไทยยังกังวลคือ ราคาข้าวส่งออกของไทยอาจจะมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาข้าวในประเทศ อันเป็นผลจากมาตรการรับจำนำข้าว ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ แล้ว ราคาข้าวของไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าทุกประเทศ ยกเว้นสหรัฐฯ ดังนั้น ประเทศผู้นำเข้าข้าวยังมีทางเลือกในการพิจารณานำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่ออินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ