คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.25-1.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
ในการประชุมครั้งนี้ เฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. พร้อมกับปรับเพิ่มมุมมองเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยระบุว่า เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ และมีเสถียรภาพที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟดในระยะกลาง ขณะที่แนวโน้มความเสี่ยงในระยะใกล้ของเศรษฐกิจยังคงมีความสมดุล
นอกจากนี้ คณะกรรมการ FOMC ยังมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบการแต่งตั้งให้นายเจอโรม พาวเวล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ ต่อจากนางเจเน็ต เยลเลน ซึ่งจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 3 ก.พ.
-- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 51.5 ในเดือนม.ค. ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว และดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต
-- นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรซึ่งนายกรีนสแปนมองว่า "เป็นสถานการณ์ที่อันตราย"
ทั้งนี้ นายกรีนสแปนกล่าวว่า หากตลาดพันธบัตรเผชิญกับภาวะฟองสบู่เป็นเวลานาน ก็ถือเป็นสถานการณ์อันตราย ขณะเดียวกันนายกรีนสแปนกล่าวว่า สหรัฐกำลังพยายามจัดการกับภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ถือส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ
-- ดอลลาร์ดีดตัวทะลุ 109 เยนเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะกลาง ซึ่งเป็นการกดดันมิให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวขึ้นต่อไป
ณ เวลา 23.43 น. ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.46% สู่ระดับ 109.26 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.79% สู่ระดับ 135.93 เยน และดีดตัวขึ้น 0.32% สู่ระดับ 1.2440 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.16% สู่ระดับ 89.01
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังจากบีโอเจระบุว่าจะเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะกว้างขึ้น
-- บิตคอยน์ปรับตัวย่ำแย่ในม.ค. โดยทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2558 จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่เข้าคุมเข้มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
ทั้งนี้ บิตคอยน์อยู่ที่ระดับ 10,249.56 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลง 23.6% จากระดับ 13,412.44 ดอลลาร์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. แต่หากวัดจากระดับ 9,627.89 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดที่มีการซื้อขายในวันดังกล่าว บิตคอยน์ดิ่งลงถึง 28.2% ส่งผลให้เดือนม.ค.2561 เป็นเดือนที่บิตคอยน์ทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ร่วงลง 30.9% ในเดือนม.ค.2558
-- นายปิแอร์ คาร์โล ปาโดอัน รมว.เศรษฐกิจของอิตาลี กล่าวว่า ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังมีการพิจารณาที่จะออกสกุลเงินดิจิทัล ในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงภาวะฟองสบู่ในตลาด
คำกล่าวของรมว.เศรษฐกิจของอิตาลี สอดคล้องกับที่นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวยอมรับเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วว่า เฟดกำลังเริ่มต้นหารือกันเกี่ยวกับการออกสกุลเงินดิจิทัลสำหรับเฟดเอง แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าเฟดจะออกสกุลเงินดังกล่าวเมื่อใด
-- รัฐบาลเวเนซุเอลาประกาศขาย "petro" ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล ในวันที่ 20 ก.พ. โดยหวังว่ารายได้จากการขายสกุลเงินดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นายนิโคลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะออกสกุลเงิน "petro" เป็นจำนวน 100 ล้านเหรียญ หรือ 100 ล้าน token โดยแต่ละ token จะมีมูลค่าและได้รับการหนุนหลังจากน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจำนวน 1 บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินการออกสกุลเงิน "petro" มีมูลค่ารวมมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์
รัฐบาลหวังว่าการออกสกุลเงิน "petro" จะช่วยให้ประเทศมีรายได้ และพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลว่า การออกสกุลเงิน "petro" เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเหมือนกับการสร้างหนี้ด้วยการออกพันธบัตร ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก ด้านรัฐบาลสหรัฐก็ได้เตือนนักลงทุนที่ต้องการเข้าซื้อสกุลเงิน "petro" ว่า อาจละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบังคับใช้ต่อเวเนซุเอลา
-- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรล ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ระบุก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล หลังจากร่วงลงเป็นเวลา 10 สัปดาห์ติดต่อกัน
ทั้งนี้ สต็อกน้ำมันดิบมักเพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. แต่สำหรับในปีนี้ สต็อกน้ำมันดิบดิ่งลงมากกว่า 12 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นจำนวนการลดลงมากที่สุดของเดือนม.ค.ในรอบ 30 ปี
-- สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในยูโรโซนลดลง 134,000 คนในเดือนธ.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 8.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 ปี
อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานของยูโรโซนยังคงอยู่สูงกว่าในสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี
-- สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ปรับตัวลงในยูโรโซนในเดือนม.ค. เนื่องจากการชะลอตัวของราคาอาหาร และพลังงาน
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ร่วงลงสู่ระดับ 1.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 1.4% ในเดือนธ.ค. และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ดัชนี CPI ที่ปรับตัวลงดังกล่าว บ่งชี้ว่า การแข็งค่าของยูโรเป็นปัจจัยกดดันราคา โดยทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางยุโรปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
-- ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 234,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง และใกล้เคียงกับระดับ 250,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานพุ่งขึ้น 212,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 12,000 ตำแหน่ง และภาคก่อสร้างมีการจ้างงาน 9,000 ตำแหน่ง
-- สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนสำหรับการเซ็นสัญญาไปจนกระทั่งปิดการขาย
--ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 51.5 ในเดือนม.ค. ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว และดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต
-- Line Corp ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นส่งข้อความชั้นนำของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับ SoftBank Group Corp ในการให้ SoftBank เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ Line
นอกจากนี้ Line Corp ยังประกาศรุกธุรกิจ"ฟินเทค" หรือเทคโนโลยีด้านการเงิน ด้วยการก่อตั้งบริษัทแห่งใหม่ ซึ่งจะให้บริการซื้อขายสกุลดิจิทัล รวมทั้งให้บริการด้านสินเชื่อ และการประกัน
-- นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ โดยมาร์กิตจะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.ของฝรั่งเศส,เยอรมนี, อียู, อังกฤษ และสหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค. และยอดขายรถยนต์เดือนม.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการเปิดเผยวันในพรุ่งนี้ ได้แก่ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนม.ค.ของเกาหลีใต้, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนธ.ค.ของอียู และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค.ของสหรัฐ