กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน
ภาวการณ์ทั่วไป
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Constructions Association: THCA) สำรวจภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศไตรมาสแรก (เดือนม.ค.-มีค. 2555) พบว่ากำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคขยายตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้พบว่ามีการขยายตัวมากกว่า 15-20% ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกทม.และปริมณฑลเติบโตเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านกิจกรรมทางการตลาดและสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กอปรกับแรงกดดันอันเกิดจากราคาบ้าน ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นตามต้นทุนใหม่ ทำให้ผู้บริโภคที่มีแผนจะสร้างบ้านหลังใหม่อยู่ก่อนแล้วตัดสินใจเร็วขึ้น นับเป็นแรงกระตุ้นให้กำลังซื้อฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ว่าความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ทั่วประเทศในปีนี้ มีทิศทางและแนวโน้มการเติบโตที่น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ เกี่ยวกับแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดปี 2555 โดยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 75% เชื่อว่ามีแนวโน้มเติบโตกว่าปีที่แล้ว และผู้ตอบจำนวน 17% เชื่อว่าเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว อันดับสุดท้ายผู้ตอบจำนวน 8% เชื่อว่าเติบโตลดลงจากปีก่อน
การแข่งขัน
ภาพรวมการแข่งขันไตรมาสแรกโดยทั่วไป พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านต่างปรับตัวและหันมาเน้นการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งเน้นการนำเสนอนวัตกรรมสร้างบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำในกลุ่ม Top 5 ได้แก่ กลุ่มบิวท์ทูบิวด์ กลุ่มซีคอน กลุ่มพีดีเฮ้าส์ กลุ่มรอแยลเฮ้าส์ และกลุ่มแลนดี้โฮม โดยสื่อสารผ่านช่องทางโฆษณาและประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ทีวี สิ่งพิมพ์ ป้าย เวบไซต์ และออกบูธงานแสดงสินค้า ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและผู้บริโภคทั่วไป
ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำโดยเฉพาะในกลุ่ม Top 5 ดังกล่าว มีการใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และคาดว่าตลอดปีจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 120-140 ล้านบาท หรือประมาณ 60% ของงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ธุรกิจรับสร้างบ้านรวมทั้งระบบปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท โดยการแข่งขันในธุรกิจรับสร้างบ้านปีนี้ ผู้ประกอบการชั้นนำต่างเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ มากกว่าจะมุ่งแข่งขันราคาเพื่อให้มีปริมาณงานมากๆ เท่านั้น
อีกประการหนึ่ง สมาคมฯ ประเมินว่าผู้ประกอบการเองก็มีความกังวลต่อสภาวะต้นทุนที่ปรับขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันราคาไม่รุนแรงเหมือนปีก่อนๆ อย่างไรก็ตามในพื้นที่กทม.และปริมณฑลก็ยังคงมีการแข่งขันกันสูงอยู่พอสมควร เนื่องเพราะมี Player รายเล็กๆ อยู่ในตลาดรับสร้างบ้านมากกว่า 100 ราย ขณะที่ในต่างจังหวัดจำนวนบริษัทรับสร้างบ้านมีน้อยรายหรือมีเพียง 50-60 รายจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ
แนวโน้มและทิศทางตลาดรับสร้างบ้าน Q2
สำหรับครึ่งปีแรกนี้ สมาคมฯ คาดว่าผู้ประกอบการชั้นนำจะมีการขยายตลาดหรือขยายการให้บริการสร้างบ้านออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยแบ่งลักษณะการให้บริการออกเป็น 2 แบบคือ 1.มีการขยายสาขาออกไปยังจังหวัดที่ให้บริการนั้นๆ และ 2.มีสาขาตั้งอยู่เฉพาะในกทม.แต่รับสร้างในตจว.ด้วย ทั้งนี้เป็นการรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่ต้องการเลือกมืออาชีพรับสร้างบ้าน แทนผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีแนวโน้มว่าปีนี้ความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ในภูมิภาคจะเติบโตมากกว่าปีก่อนๆ
โดยสมาคมฯ ประเมินว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดรับสร้างบ้านในตจว.ไตรมาสสองเติบโตได้แก่ ประการแรกเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการขยายตัวที่ดี ประการถัดมาประชาชนในกทม.หันมานิยมสร้างบ้านหลังที่ 2 ในตจว.มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม และประการสุดท้ายบริษัทรับสร้างบ้านมีการลงทุนและขยายสาขาออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ความต้องการหรือกำลังซื้อที่เติบโตในช่วงท้ายไตรมาสแรกของบริษัทรับสร้างบ้าน น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีและต่อเนื่องมาถึงไตรมาสสอง
การฟื้นตัวของภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านทั่วประเทศ นับว่าเร็วกว่าที่สมาคมฯ เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะฟื้นตัวได้ช่วงปลายไตรมาสสอง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองของบริษัทรับสร้างบ้านที่มีการปรับตัวล่วงหน้าไปก่อนแล้ว รวมถึงรายที่กำลังเร่งปรับตัวเพื่อจะขยายสู่ตลาดตจว. ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่และการแข่งขันก็ยังไม่รุนแรงเท่าตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
ปัจจัยที่มีผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำลังซื้อจะมีแนวโน้มเติบโตในไตรมาสสองนี้ แต่อุปสรรคใหญ่ที่กำลังบั่นทอนผู้ประกอบการเป็นอย่างมากคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลภายหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ส่งผลในทางจิตวิทยากับแรงงานภาคก่อสร้าง ทั้งแรงงานที่มาจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าว ที่เคยเข้ามาขุดทองขายแรงงานอยู่ในเมืองหลวง ส่วนใหญ่เมื่อมีการย้ายกลับถิ่นฐานก็ไม่ย้อนกลับเข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างอีก ซึ่งอาจเป็นเพราะ 1.แรงงานเหล่านี้กลัวว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต 2.บ้านเกิดหรือท้องถิ่นเดิมมีการจ้างงานไม่ต่างกัน โดยปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่เหมือนๆ กัน
แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายเล็กดูจะได้รับผลกระทบหนักกว่ารายใหญ่ เพราะไม่มีศักยภาพมากพอจะหันไปใช้การก่อสร้างระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปได้ อาจเป็นด้วยมีจำนวนหรือปริมาณงานก่อสร้างไม่มาก และไม่อาจต่อรองใดๆ กับโรงงานผู้ผลิตได้ ซึ่งมีออร์เดอร์จากเจ้าของบ้านจัดสรรมากพออยู่แล้ว
สรุปภาพรวม
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านที่เติบโตในช่วงท้ายไตรมาสแรก ถือเป็นสัญญาณบวกและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องมาถึงไตรมาสสอง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการก็จะต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโต ของกำลังซื้อในต่างจังหวัดหรือภูมิภาคให้มากขึ้น รวมทั้งหาทางรับมือกับอุปสรรคที่มีผลกระทบกับธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ความน่าเชื่อถือขององค์กร ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ โดยเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านรายเล็กและรายกลาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เข้มแข็ง ซึ่งอาจใช้วิธีรวมตัวกันอย่างมีระบบระหว่างรายเล็กด้วยกันเอง หรือรวมตัวกับรายที่เข้มแข็งกว่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
หากว่าปีนี้ไม่เกิดปัญหาภัยธรรมชาติหรือน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีกครั้ง ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านครึ่งปีแรก เชื่อว่าน่าจะเติบโตกว่าปีที่แล้วหรือเติบโตได้ใกล้เคียงกันปี 53 โดยสมาคมฯ มองว่าปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดจะเป็นตัวช่วยฉุดให้ตลาดรวมเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นเกิดน้ำท่วมซ้ำในปีนี้อีก...เหนื่อยแน่