กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--โฟร์ฮันเดรท
“นมวัวแดง” ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 รุกหนักตลาดนมยู.เอช.ที เร่งสร้าง Brand Awareness ย้ำนมคนไทยใช้นมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง รุกหนักภาคอีสานเติบโตอันดับ 1 ในภูมิภาค เน้นส่งเสริมภูมิความรู้วิชาการเลี้ยงโคนม เพื่อสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมพระราชทาน สร้างภูมิคุ้มกันเกษตรกร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นเข้าเมือง
นายสุมิตร ลิกขะไชย ผู้จัดการสำนักงาน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่านับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ได้ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ นั่นคือวันแห่งประวัติศาสตร์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย เพราะถือเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและลึกซึ้ง ที่ทรงอยากให้เกษตรกรชาวไทย ได้มีความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต และพึ่งพาตนเองได้
ขณะเดียวกันเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประสบกับปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิต ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีหนี้สินผูกพัน รัฐบาลเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหนึ่งที่มีรายได้มั่นคงและต่อเนื่อง มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรยึดเป็นอาชีพทดแทนอาชีพเดิม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ตามแผนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร) โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 — 2539 (3ปี) โดยลดพื้นที่ในการปลูกข้าว 24,000 ไร่ ลดพื้นที่การปลูกมันสำประหลัง 6,000 ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงโคนม จำนวน 2,000 ครอบครัว/ปี ครอบครัวละ 5 ตัว เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการเลี้ยงโคนม และเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบในประเทศ ลดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ และเพิ่มการสร้างงานและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้โครงการดังกล่าว บรรลุวัตถุประสงค์ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 254 ล้านบาท ให้ อ.ส.ค. ในการจัดตั้งโรงงานแปรรูปน้ำนมดิบระบบ UHT ขึ้นที่ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 60 ตันต่อวัน จำนวน 1 แห่ง และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจำนวน 5 ศูนย์ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ปัจจุบันองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ดำเนินการมาแล้ว 50 ปี และในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการมาแล้ว 15 ปี โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา ปี 2540 -2544 สามารถผลิตนมได้เฉลี่ย 45-60 ตัน / วัน ปี พ.ศ. 2545-2549 ผลิตนมได้เฉลี่ย 70-85 ตันต่อวัน พ.ศ. 2550-2554 ผลิตนมได้เฉลี่ย 90-100 ตัน / วัน และปัจจุบันผลิตนมได้เฉลี่ยที่ 100 ตัน/ วัน โดยมีศูนย์รับน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 7 ศูนย์ เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้น
กิจกรรมหลักของสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และไม่ย้ายถิ่นฐานเข้าไปขายแรงงานในกรุงเทพ โดยเริ่มส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ครอบครัวละ 5 ตัว อีกทั้งโคนมยังเป็นทรัพย์สินที่งอกเงย ปัจจุบันเกษตรมีโคนมเฉลี่ย 30 / ฟาร์ม เฉลี่ยแม่โคที่สามารถรีดนมได้ 15 ตัว /ฟาร์ม รีดน้ำนมได้ 400 กิโลกรัม / ฟาร์ม/ วัน โดย อ.ส.ค รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในราคาประกัน อยู่ที่ 7 บาท ต่อกิโลกรัม เฉลี่ยรายได้ของเกษตรผู้เลี้ยงโคนม เฉลี่ย 70, 000 — 80,000 บาท / ฟาร์ม/เดือน /ครอบครัว หลังจากนั้นนำน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการแปรูปนมโคสดแท้ เป็นผลิตภัณฑ์ นม ยู.เอช.ที, นมพาสเจอร์ไรส์ ภายใต้แบรนด์ “นมไทย-เดนมาร์ค” และนมโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีบริการทางสัตวแพทย์ และการผสมเทียมโคนม
ช่องทางการจัดจำหน่าย อ.ส.ค.ได้แบ่งการทำตลาดพานิชย์ เป็น 2 ส่วน คือ ตลาด Modern Trade (MT) ได้แก่ Big C, Tesco Lotus, Makro, TOPS , 7 —Eleven และตลาด Traditional Trade (TT) ผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเขตจังหวัดขอนแก่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหสินเทรดดิ้ง นับว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์คอีกรายหนึ่ง ที่มีการบริหารจัดการสินค้าและเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นอับดับต้นๆของเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คุณคณิต สีสิริกุล ประธานกรรมการ หจก.สหสินเทรดดิ้ง กล่าวว่า นอกจากการบริหารสินค้าอุปโภคและบริโภคหลากหลายประเภทเพื่อจัดจำหน่ายในรายจังหวัดต่างๆของเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว การบริการที่ดี และการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้า ถือว่าเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าท้องถิ่นที่จะช่วยดึงลูกค้าให้มาซื้อของกับเรามากขึ้น เพราะเขาถือว่าถ้าเขามาซื้อของกับเรา เราต้องขายถูกกว่าห้าง Modern Trade แน่ อันนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้สหสินฯทำธุรกิจการค้าลักษณะแบบนี้มาอย่างยาวนานและมีลูกค้าทั้งใหม่และเก่าเข้ามาติดต่อและซื้อสินค้าทั้งปลีกและส่งอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทาง อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังได้จัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะธุรกิจสปาในลาว นิยมใช้นมจากนมไทย-เดนมาร์คในบริการแช่น้ำนมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนมโคสดแท้ 100 % โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งในประเทศดังกล่าวไม่การเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศ
โดยในตลาดต่างประเทศ ทาง อ.ส.ค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังสามารถรับชมข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์ของไทย และได้รับรู้ถึง นมไทย-เดนมาร์ค เป็นนมโคสดแท้ 100% และอยู่คู่คนไทยมายาวนาน 50 ปี จึงมีความเชื่อมั่น และเกิด Brand Royalty
นอกจากนี้ อ.ส.ค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อส่งเสริมและ รณรงค์การดื่มนมให้กับเยาวชนและผู้ปกครอง อาทิ กิจกรรมการผลิตนมฟลูออไรด์ ในโครงการนมฟลูออไรด์ เพื่อเด็กขอนแก่น แข็งแรง ปราศจากฟันผุ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2548 -2555 กิจกรรม Milk for Child and Milk for Science เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และกิจกรรมวันเกษตรภาคอีสานที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี
จากผลดำเนินการที่ผ่านมา อ.ส.ค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียอดขายจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค เป็นอันดับ 1 ในตลาดนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าตลาด 1, 400 ล้านบาท จาก มูลค่าตลาดรวมของ อ.ส.ค .6,000 ล้านบาท สามารถผลิตนมได้เป็นอันดับ 2 เฉลี่ย 100 ตัน/วัน รองจาก อ.ส.ค อำเภอหมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เฉลี่ย 200 ตัน/วัน โดยในปี พ.ศ. 2559 ตั้งเป้าไว้ที่130 ตัน/วัน