กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพเสนอภาครัฐ ปูทางแก้ปัญหาแพทย์ พยาบาล ล่าม และบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอรับมือแรงงานต่างด้าวทะลุ 4 ล้านคน หนุนนำเข้าแก้ปัญหาชั่วคราว เฉพาะพื้นที่ พร้อมป้องกันปัญหาผลกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยชาวไทย
เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มีการพิจารณา "แผนกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรองรับสุขภาพแรงงานข้ามชาติ" ตามที่ นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการสนับสนุนการนำมติสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 ไปสู่การปฏิบัตินำเสนอ โดยเป็นผลจากการประชุมวิชาการเรื่อง "สุขภาพแรงงานข้ามชาติ : ทางออกที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ" เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา
จากการรายงานสถานการณ์พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระบบและเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนมากถึง 4 ล้านคน จำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกเพื่อรองรับการใช้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ทำธุรกิจประมง การท่องเที่ยว และพื้นที่ชายแดน อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร ภูเก็ต ตาก และชลบุรี มีปริมาณแรงงานข้ามชาติใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐสูงมาก จนประสบปัญหาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะรองรับไม่เพียงพอ , การสื่อสารกับคนต่างด้าวมีปัญหา , อัตราการครองเตียงผู้ป่วยที่เป็นคนต่างด้าวสูงมากเนื่องจากจะมาหาหมอก็เมื่อป่วยมากแล้ว ซึ่งกระทบการให้บริการผู้ป่วยที่เป็นคนไทยที่ต้องหลบไปใช้โรงพยาบาลเอกชนแทน
ปัญหาที่โรงพยาบาลเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน
1.บุคลากรไม่เพียงพอในการให้บริการคนไทยและต่างด้าว
2.การสื่อสารกับคนต่างด้าวมีปัญหา
3.อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในของคนต่างด้าวสูงและโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยเหล่านี้ได้และแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ
4.แรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเรื่องการเลือกสถานพยาบาลและการใช้สิทธิ์
5.พบทั้งโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังในแรงงานต่างด้าว เช่น TB
ดื้อยา meningitis โรคเท้าช้าง มาลาเรีย HIV เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
6.อนามัยแม่และเด็กของคนต่างด้าวมีปัญหา พบว่าทารกที่คลอดต้องเข้าไปอยู่ใน NICU จำนวนมากและมารดาจำนวนหนึ่งต้องอยู่ใน MICU (tetanus)
ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดจากการเปิด ASEAN Community (AC)
1.ศูนย์พักพิงชั่วคราวจะถูกยุบ NGOs ที่เคยช่วยให้บริการระดับ primary care ในศูนย์พักพิงจะถอนตัวไป ทำให้ประชากรที่เคยอาศัยในศูนย์รวมกับประชากรในเขตประเทศเพื่อนบ้าน จะข้ามมาใช้บริการสถานบริการสาธารณสุขของไทย
2.โรคระบาดต่างๆที่แฝงอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดน อาจเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพรับทราบข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา 3 ประเด็นได้แก่ 1.ศึกษาระเบียบเพื่อรองรับการจ้างงานบุคลากรต่างด้าวมาให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาะการจ้างล่ามในลักษณะของลูกจ้างชั่วคราวของรัฐบาล และการนำเข้าแพทย์และพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาให้บริการคนต่างด้าว ในลักษณะการออกใบอนุญาตให้เฉพาะกรณี ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดชัดเจน แม้ปัจจุบันแพทยสภาจะมีการออกใบอนุญาตชั่วคราวอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้แพทย์ในศูนย์พักพิงผู้อพยพหรือโรงพยาบาลของมูลนิธิ สมาคมสาธารณะประโยชน์เท่านั้น 2. พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามภาระงาน (Pay-for-performance)เพื่อสนองตอบภาระงานหนักของบุคลากร 3.สำรวจและวิจัยเพื่อคาดการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพจากภาระงาน เพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตบุคลากรและแก้ไขปัญหาในอนาคต ทั้งนี้คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพระยะสั้นและระยะยาวในอนาคตไม่เพียงแต่คำนวณจากการดูแลคนไทยเท่านั้นแต่ต้องคำนึงถึงภาระงานจากแรงงานต่างด้าวและผู้ที่ไม่มีสัญญาชาติไทยในพื้นที่ต่างๆด้วย
ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ ยังได้เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการ ประสานงานไปยังคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา , กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติค่อนข้างรุนแรง และประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงต้องเร่งเตรียมแผนรองรับวิกฤตการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามทิศทางการลงทุนในอนาคต
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบ เรื่องยุทธศาสตร์ "การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย" ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ที่ศูนย์การประชุม
ไบเทค บางนา กรุงเทพ พร้อมกันนั้น ยังได้รับทราบผลการศึกษาแนวทางการไปทำงานระหว่างประเทศของพยาบาลไทย ของผศ.ดร.นันทพันธ์ ชินล้ำประเสริฐและคณะ ซึ่งพบสถานการณ์ความยากลำบากของพยาบาลไทยในต่างแดนหลายประการ และมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์กลไกการจัดการกำลังคนระดับพื้นที่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่สอง (2556-2559) เพื่อกระจายอำนาจการบริหารจัดการกำลังคนสู่เขตพื้นที่ด้วย
ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
? พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-832-9141
? เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-832-9143