กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2 มุ่งมั่นนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อประดิษฐ์สิ่งอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น ทั้งนี้ การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของซีเกทที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics – STEM) อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนคนเก่งที่เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้บกพร่องทางการเห็น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ผู้เข้าร่วม "การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2"
กิจกรรมในเวิร์คช็อปประกอบด้วยการบรรยายเรื่อง "เทคโนโลยีช่วยผู้บกพร่องทางการเห็นที่มีในปัจจุบันและความต้องการในอนาคต" โดยนายรักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ จากนั้น มีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม หัวข้อ "ประสบการณ์ในโลกมืด" โดยการปิดตาและจำแนกประเภทของวัตถุตามโจทย์ที่ทางคณะกรรมการระบุไว้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเข้าใจว่าผู้บกพร่องทางการเห็นต้องใช้ประสาทสัมผัสอย่างไร
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การประกวดนวัตกรรมฯ ซึ่งซีเกทสนับสนุนเป็นครั้งที่ 2 นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางการเห็น และช่วยพัฒนานักสร้างนวัตกรรมรุ่นใหม่ให้แก่สังคมไทย รวมทั้งช่วยบ่มเพาะนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งในกิจกรรมนี้ นอกจากซีเกทจะสนับสนุนการแข่งขันด้วยงบประมาณ 2.4 ล้านบาทแล้ว ทีมวิศวกรของซีเกทเองยังได้มีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์และกติกาการแข่งขัน รวมถึงยังได้ร่วมเป็นทีมงานจัดและคณะกรรมการการตัดสินการแข่งขันอีกด้วย"
"ซีเกทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีนวัตกรรมที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต้นแบบสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นต่อไป" นางสาวศิริรัตน์กล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยขอขอบคุณซีเกทเป็นอย่างมากที่เป็นแรงผลักดันสำคัญและให้การสนับสนุนการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้นอกจากทีมชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีและรางวัลเงินสดแล้ว ยังจะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 10 (10th International Convention on Rehabilitation Engineering & Assistive Technology – i-CREATe) เพื่อพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป"
"ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นในปัจจุบันประกอบด้วย 3 หมวดคือ เทคโนโลยีช่วยการมองเห็น เทคโนโลยีการเข้าถึงสารสนเทศ และเทคโนโลยีช่วยนำทาง ดังนั้น เทคโนโลยีสื่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้บกพร่องทางการเห็นต้องการควรมีลักษณะ 4 ข้อดังต่อไปนี้ ข้อแรก เป็นเทคโนโลยีที่รองรับและสอดคล้องกับสภาพการใช้งานของคนไทย เช่น ภาษา ข้อที่ 2 มีราคาที่สมเหตุสมผลรวมทั้งมีรูปลักษณ์ที่สะดวกต่อการใช้งาน ข้อที่ 3 ช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และ
ข้อที่ 4 ทำให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป" นายรักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ กล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม เสริมสร้างความเข้าใจ ทัศนคติและความเอื้ออาทรระหว่างผู้บกพร่องทางการเห็นและบุคคลทั่วไปให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้ จึงขอเชิญนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา รวมทีมแข่งขันจำนวน 3 คนต่อทีมพร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา สมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ www.tiatch.com โดยเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ศกนี้