ILCT: ชื่อโดเมนกับปัญหาข้อกฎหมาย(3)

ข่าวทั่วไป Thursday September 6, 2001 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
ครั้งที่แล้วผมค้างท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความที่จะใช้ในการดำเนินคดีกับ Cybersquatter ก่อนที่จะคุยถึงปัญหาดังกล่าว ผมขอกล่าวถึงกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและได้รับทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับ Cybersquatter ได้ ในความผิดฐานปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าได้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
3. พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กฎหมายฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลหรือผู้ประกอบการโดยทั่วไปที่นำชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าของตนเอง ไปจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน ท่านก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้
มาตรา 108 บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น หากมีผู้อื่นนำเอาเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการของท่านไปใช้แสวงหากำไร โดยใช้กับสินค้าและบริการ หรือใช้เป็นชื่อเว็บไซท์เพื่อจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ ท่านก็อาจฟ้องร้องดำเนินคดีฐานปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับ Cybersquatter ตามกฎหมายฉบับนี้ อาจเกิดปัญหา หาก Cybersquatter ไม่ได้ใช้ชื่อโดเมนกับสินค้าและบริการ แต่ใช้ชื่อโดเมนเป็นเพียงชื่อที่อยู่ที่ใช้ติดต่อบนอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งสถานภาพของชื่อโดเมนจะเป็นเหมือนหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อระหว่างกันเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องหมายการค้า ดังนั้นการนำกฎหมายฉบับนี้มาปรับใช้อาจเกิดปัญหา เช่นกรณีที่นาย Dennis Toeppen นำเอาชื่อคำว่า "americanstandard" ไปจดเป็นชื่อโดเมนคำว่า "americanstandard.com" โดยไม่ได้ใช้จำหน่ายสินค้าและบริการ และในเว็บไซท์มีเพียงแผนที่ของมลรัฐ Urbanna Champagne เท่านั้น
ในส่วนของการดำเนินคดีกับ Cybersquatter ในประเทศไทยนั้น ผมแนะนำว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจใช้วิธีการระงับข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนซึ่งมีอยู่ 2 วิธีดังนี้
(1) การดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญา ฐานละเมิดชื่อทางการค้าหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า โดยฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า โดยศาลทรัพย์สินฯ จะมีกระบวนการพิจารณาคดีที่รวดเร็วกว่าศาลโดยทั่วไป และที่สำคัญมีข้อกำหนดที่อนุญาตให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) print out จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้ ซึ่งแตกต่างจากศาลแพ่งและศาลอาญาซึ่งไม่มีข้อกฎหมายให้รับฟังพยานหลักฐานได้ ดังนั้น วิธีนี้อาจช่วยบรรเทาความเสียหายได้
ปัจจุบันมีศาลเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่รับฟังพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย และศาลภาษีอากร
(2) การทำอนุญาโตตุลาการทางอินเตอร์เน็ต (Online Arbitration) ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนชื่อโดเมนคือ หน่วยงานที่เรียกว่า ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) ซึ่งมีนโยบายให้สัมปทานการจดทะเบียนชื่อโดเมนโดยเสรี โดยผู้ที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Accredited Domain Name Registrar) ที่ได้รับอนุญาตจาก ICANN ต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนของ ICANN หรือ UDRP (The Uniform Domain Name Dispute Resolution Policy) ในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวข้องชื่อโดเมนของผู้จดทะเบียนชื่อโดเมนกับบุคคลภายนอกผู้โต้แย้งสิทธิ ซึ่ง ICANN ได้กำหนดองค์กรอิสระที่ช่วยดำเนินการเป็นศูนย์ระงับข้อพิพาทอยู่ 4 หน่วยงานคือ
1. องค์กร WIPO (The World Intellectual Property Organization) กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
2. องค์กร NAF (the National Arbitration Forum) ประเทศสหรัฐอเมริกา
3. องค์กร eRes (The Disputes.org/eResolutions Consortiumn (eRes)) ประเทศแคนาดา
4. องค์กร CPR Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่เป็นที่นิยมในการระงับข้อพิพาทชื่อโดเมนมากที่สุดคือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ดังนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เสื่อมเสียสิทธิของตนอาจใช้วิธียื่นคำร้องผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ตให้ WIPO เป็นผู้พิจารณาไกล่เกลี่ยในเรื่องข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนได้ ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยผู้ที่เสียหายจากการที่บุคคลอื่นนำชื่อเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าของตน ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการระงับข้อพิพาท (Arbitration Administrative Panel) ทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ยื่นเสนอข้อพิพาทสามารถเลือกได้ว่า ต้องการอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดแบบ 1 คนหรือ 3 คน สำหรับค่าธรรมเนียมตอนยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ 1 คนคือ 1,500 เหรียญสหรัฐ ในกรณี 3 คน ค่าธรรมเนียมจะเท่ากับ 3,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งหมดต่อชื่อโดเมนที่พิพาทเพียง 1 ชื่อโดเมนเท่านั้น โดยหลังจากได้รับเรื่องและจัดตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว WIPO ก็จะส่งคำร้องให้เจ้าของชื่อโดเมนที่ถูกกล่าวหามาชี้แจงสิทธิในการใช้ชื่อโดเมนดังกล่าว กระบวนการระงับข้อพิพาททั้งหมดจะดำเนินการเสร็จสิ้น โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน สำหรับท่านที่สนใจท่านอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซท์ www.wipo.org ผลการตัดสินของ WIPO ในคดีดังๆ ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ชื่อโดเมน celinedion.com madonna.com และ juliaroberts.com เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินคดีกับ Cybersquatter แต่ละรายนั้น หรือการยื่นอนุญาโตตุลาการผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ต ท่านผู้อ่านควรปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้กระบวนการดำเนินคดีรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ