กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--แฟรนคอม เอเชีย
หัวเว่ย มารีน ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ได้ลงนามในสัญญากับบริษัทโซโลมอน ไอส์แลนด์ ซับมารีน เคเบิ้ล (Solomon Islands Submarine Cable Company: SISCC) เพื่อสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำในหมู่เกาะโซโลมอน โดยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและการบิน ของประเทศหมู่เกาะโซโลมอน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SISCC และประธานบริหารของหัวเว่ย แปซิฟิคใต้ เข้าร่วมในพิธีเซ็นสัญญาที่จัดขึ้นที่โฮนีอารา เมืองหลวงของประเทศ
ประเทศหมู่เกาะโซโลมอนประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่ 6 เกาะและเกาะขนาดย่อม ๆ อีกกว่า 9 เกาะ ทอดตัวอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศหมู่เกาะโซโลมอนต้องพึ่งพาระบบดาวเทียมสื่อสารมาเป็นเวลานาน ซึ่งมีปัญหาทั้งความไม่แน่นอน ราคาสูง และแถบความถี่ใช้งานไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในปีพ.ศ. 2559 รัฐบาล จึงได้ก่อตั้งบริษัท SISCC ขึ้น เพื่อพัฒนาโครงข่ายเคเบิ้ลใต้ทะเลเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างเกาะหลักๆ ของประเทศต่อไปยังออสเตรเลีย
หัวเว่ย มารีน ร่วมกับบริษัทแม่ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการออกแบบและสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำระยะทาง 4,000 กิโลเมตร ขนาด 2.5 เทราไบท์ เชื่อมซิดนีย์ไปยังโฮนีอารา เมืองหลวงของหมู่เกาะโซโลมอน และเชื่อมโยงต่อภายในประเทศจากเมืองหลวงไปยังเมืองอูกิและเมืองโนโร
"เราวางแผนโครงการเคเบิ้ลใต้ทะเลนี้มานานเกือบ 7 ปี" มร. กีร์ พรีดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SISCC กล่าว "ต้องขอขอบคุณหัวเว่ย มารีน และหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ที่ได้จัดหาโซลูชั่นที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อโครงข่ายเคเบิ้ลใต้ทะเลนี้แล้วเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทั้งในเรื่องของแถบความถี่ที่ไม่เพียงพอ ราคาที่สูงและบริการที่ไม่แน่นอน และจะช่วยจัดหาบริการโทรคมนาคมคุณภาพสูงให้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคแปซิฟิคใต้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลนี้จะมอบบริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับหมู่เกาะโซโลมอนของเรา"
มร. ไมค์ คอนสเตเบิ้ล ประธานบริหารของหัวเว่ย มารีน กล่าวว่า "โครงข่ายเคเบิ้ลใต้ทะเลจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหมู่เกาะ หัวเว่ย มารีน มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคแปซิฟิคใต้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อสิบปีที่ผ่านมา การติดตั้งโครงข่ายข้ามประเทศจะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของเราในภูมิภาคนี้หลังจากได้สัญญาโครงการในลักษณะเดียวกันที่ปาปัวนิวกินี"
โครงข่ายเคเบิ้ลใต้ทะเลนี้จะพร้อมให้บริการในปี 2561