ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง?

ข่าวทั่วไป Monday October 2, 2017 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง?" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 29 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 และความต้องการในการเลือกตั้ง การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.00 ระบุว่า ทำได้ รองลงมา ร้อยละ 33.41 ระบุว่า ทำไม่ได้ และร้อยละ 11.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการยอมรับได้หรือไม่ถ้าหากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.30 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ อยากให้ทำการปฏิรูปประเทศก่อน บ้านเมืองยังต้องจัดการระบบและระเบียบอยู่ อะไรหลายๆอย่าง ยังไม่ลงตัว ไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ การดำเนินการต้องใช้เวลา ต้องรอให้รัฐบาลชุดนี้บริหารบ้านเมืองไปก่อน เชื่อมั่นในตัวนายกคิดว่ารัฐบาล คงมีเหตุผลที่สำคัญในการเลื่อนการเลือกตั้ง และคิดว่าหากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็คงไม่นาน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ประชาชนทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์ต่อต้าน ถ้าบ้านเมืองยังไม่สงบจริง ก็อยากให้บริหารประเทศต่อไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า รัฐบาลบริหารงานดีอยู่แล้วไม่อยากให้มีการเลือกตั้งอีก ถ้าหากเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่น่ามีอะไรดีขึ้น บ้านเมืองสงบดีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.74 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะ นานเกินไป อยากให้รัฐบาลทำตามที่ได้กำหนดไว้ อยากให้เป็นประชาธิปไตย ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน เศรษฐกิจแย่มาก ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการมาลงทุนกับเรา และไม่ชอบการทำงานของรัฐบาล อยากให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่านี้ และร้อยละ 4.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าตอนนี้ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.19 ระบุว่า อยากเลือกตั้ง เพราะ อยากให้ประเทศชาติพัฒนา เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น อยากเห็นแนวทางการบริหารประเทศในรูปแบบใหม่ อยากให้ประชาคมโลกยอมรับประเทศไทย ต่างชาติจะได้เชื่อมั่นและกล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอยากให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ยึดอำนาจมานานแล้ว ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน บ้านเมืองจะได้สงบ มีระเบียบมากขึ้น ขณะที่บางส่วน ไม่พอใจ กับการทำงานของรัฐบาลอยากให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ รองลงมา ร้อยละ 24.38 ระบุว่า ไม่อยากเลือกตั้ง เพราะ ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ยังไม่สงบเรียบร้อยดีเท่าไหร่ การเมืองก็ยังวุ่นวายอยู่รอให้ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง อยากให้โอกาสรัฐบาลบริหารงานต่อไป อยากเห็นการพัฒนาตามระบบของรัฐบาล ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกอีกเหมือนก่อนหน้านี้ ไม่รู้ว่าที่เลือกเข้ามาจะพัฒนาประเทศชาติได้ดีแค่ไหนที่ผ่านมายังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่บางส่วนระบุว่า รัฐบาลบริหารงานดีอยู่แล้ว บ้านเมืองสงบดีอยู่แล้ว อยากอยู่แบบนี้ตลอดไป ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง และร้อยละ 7.43 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าถ้าหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ภายใน ปลายปี 2561 ท่านมีความกังวลใจมากน้อยเพียงใด ว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.00 ระบุว่า ไม่มีความกังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 21.34 ระบุว่า มีความกังวลใจค่อนข้างน้อย ร้อยละ 19.34 ระบุว่า มีความกังวลใจค่อนข้างมาก ร้อยละ 11.51 ระบุว่า มีความกังวลใจมาก และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 7.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.02 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.47 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.69 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 56.12 เป็นเพศชาย ร้อยละ 43.80 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 6.71 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 15.27 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.58 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.05 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.71 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 89.69 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.44 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.36 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 5.52 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.34 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 67.71 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 6.16 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.26 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.02 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.92 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.02 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.08 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ ร้อยละ 6.71 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.31 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.27 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.10 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.83 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.39 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.75 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 7.19 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.27 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.38 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.74 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 10.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 16.31 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ