กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางแจง เร่งร่างกฎหมายลูก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เป็นการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7 (1) ที่ยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจออกระเบียบเองได้
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้เห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับ การพาณิชย์โดยตรง โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการออกกฎหรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ทั้งนี้ ได้เสนอร่างกฎหรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง จำนวน 10 แห่ง 1) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 2) บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ๓) บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ๔) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัทในเครือที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ๕) บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ๖) บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ๗) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๘) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ๙) องค์การเภสัชกรรม ๑๐) โรงงานยาสูบ ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯพิจารณาซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรมบัญชีกลางจัดทำกรอบแนวทางการพิจารณาร่างกฎหรือระเบียบดังกล่าว ว่ามีความแตกต่างกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับธุรกิจของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งมีมาตรการหรือกลไกรองรับว่าสามารถที่จะทำธุรกิจได้ เมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยให้เสนอคณะอนุกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งแจ้งให้รัฐวิสาหกิจเสนอกฎหรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาประกาศใช้บังคับต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ได้ประกาศหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับ การพาณิชย์โดยตรงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยรัฐวิสาหกิจที่มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงต้องออกกฎหรือระเบียบให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ คือภายในวันที่ 11 มิถุนายน 2561
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของหลักการ การจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือจะต้องทำให้การปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีความคล่องตัว ไร้ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน