กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--บลจ.แอสเซท พลัส
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ มอง 3 ปีเศรษฐกิจฟื้น แนะลงทุนเลือกหุ้นแกร่ง เติบโตสูง บลจ.แอสเซท พลัส จับจังหวะเหมาะ ออกกองทุนหุ้น แนวคิด Private Equity ล็อค 3 ปี จ่ายผลตอบแทนอัตโนมัติทุก 8%
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เผยแนวโน้ม GDP ไทยปี 52 ติดลบ 3.2% จากผลกระทบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แนะนำผู้ลงทุนมองหาโอกาสการลงทุนภายใต้วิกฤติ
บลจ.แอสเซท พลัส ได้จังหวะ ออกกองทุนหุ้น “กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสมาร์ทเอควิตี้” ใช้แนวคิดการลงทุนแบบ “Private Equity” เลือกหุ้นดีนอกสายตา เน้นหุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง พื้นฐานแข็งแกร่งได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พสัส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการลงทุนในปี 2552 ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ล่าสุด IMF มีแนวโน้มจะปรับลด GDP Growth โลกลงจากเดิมอีกครั้งหลังจากที่ได้ปรับลดครั้งหลังสุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า GDP โลกปีนี้จะเติบโตเพียง 0.5% เพราะกังวลว่าประมาณการเดิมของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาจจะชะลอตัวมากกว่านั้น ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล ก็มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราการเติบโตเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้ตอบรับประมาณการ GDP โลกที่หดตัวดังกล่าวแล้ว ดังนั้น หากมีการปรับลดประมาณการ GDP Growth ของทั่วโลกนับจากนี้ คาดว่าไม่น่าจะสร้างความแปลกใจให้กับตลาดมากนัก
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่า แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะติดลบประมาณ 3.2% โดยประเมินไว้ในไตรมาสแรกจะติดลบ 5.3, ไตรมาสสอง -4.0, ไตรมาสสาม -3.0 และ -0.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับสมมติฐานหลังจากที่ภาครัฐได้มีมาตรการต่างๆ ออกมา หลังจากที่ประเมินไว้ว่าจะติดลบ 5% หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรอบนี้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยในปีนี้ เศรษฐกิจยังไม่ถึงกับฟื้นตัว ในปี 53 เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเริ่มดีขึ้น โดย ณ ปัจจุบันอเมริกาอยู่ระหว่างการแยกหนี้ดี-หนี้เสีย เพื่อให้ฐานทุนแข็งแกร่งให้ธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งการที่ธนาคารจะกล้าปล่อยสินเชื่อก็ต้องรอดูทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่ากว่าที่ธนาคาร จะเริ่มปล่อยสินเชื่ออาจจะเป็นช่วงประมาณปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 จนปีที่ 3 จึงจะเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
“ส่วนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาคการใช้จ่าย (Consumption) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของ GDP ภาคการลงทุน (Investment) ประมาณ 22% ของ GDP ในส่วนนี้ ปีนี้การลงทุนภาคเอกชนน่าจะติดลบ 30% เนื่องจากไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ในส่วนการลงทุนของภาครัฐ คาดว่าคงไม่มีโครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากนัก ส่วนสุดท้ายคือ ภาคการส่งออก (Export) ซึ่งปีนี้น่าห่วง เนื่องจากได้รับผลกระทบมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลต่อการจ้างงาน โดยที่น้ำหนักส่งออกสุทธิกับส่งออกลบนำเข้าคิดเป็น 15% ของ GDP ดังนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการบริโภค ซึ่งต้องรอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะส่งผลได้ดีเพียงใด” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในด้านทิศทางการลงทุน ดร.ก้องเกียรติ ให้ความเห็นว่า ยังมีทางออกสำหรับภาคเอกชนไทยที่มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ดี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทฯ เอกชนบางบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ก็สามารถยืนอยู่ได้และเติบโตอยู่ในปัจจุบัน จนปัจจุบันหลายบริษัทได้กลายเป็นผู้นำในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางประเภท (Thailand Champion)
“ในด้านการลงทุน แม้ว่าสถานการณ์ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ภายใต้วิกฤตก็มีโอกาสเสมอ ซึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้น ควรถือจังหวะนี้เข้าลงทุน โดยต้องวิเคราะห์หาหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่ดี ซึ่งถึงแม้จะมีการแกว่งตัวขึ้นลงบ้าง แต่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีการเช่นเดียวกับของวอเรน บัฟเฟตในการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดี และมักจะลงทุนเมื่อหุ้นมีราคาถูก” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
ด้านนางสาวบุษเรศ หยุ่นนิยม ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของ บลจ.แอสเซท พลัส มองแนวโน้มตลาดหุ้นในทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปี น่าจะเป็นช่วงระยะยาวเพียงพอที่การลงทุนในหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด ทั้งนี้ เนื่องจากหากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว การปรับตัวของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจะปรับตัวก่อนล่วงหน้าประมาณ 6-9 เดือน ดังนั้น ในช่วงปีนี้ จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าทยอยเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน ดี ๆ
“ในส่วนของการลงทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บริษัทฯ ใช้แนวคิดการลงทุนแบบ Private Equity ในการเลือกเก็บหุ้น เพื่อรอผลการลงทุนในระยะเวลา 3 ปีที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวได้ปรับลดลงกว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติอย่างรุนแรงในปี 2551
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มดังกล่าวมักจะไม่มีนักวิเคราะห์ติดตามให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสภาพคล่องน้อย จึงไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วไป ทำให้ราคาของหลักทรัพย์กลุ่มนี้ไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งหากสามารถคัดเลือกหุ้นคุณภาพในกลุ่มดังกล่าวโดยใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในเชิงลึก จะเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาได้ในอัตราที่สูงเมื่อตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พบว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวหลายตัวที่น่าลงทุน เนื่องจากระดับราคาได้ลดลงมามากกว่าผลกำไรที่คาดว่าจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ทั้งในรูปของอัตราเงินปันผล และกำไรส่วนต่างจากการลงทุน” นางสาวบุษเรศ กล่าว
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในด้านผลิตภัณฑ์กองทุน บริษัทฯ จึงนำเสนอกองทุนหุ้น เพื่อเป็นช่องทางการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้นระยะปานกลาง ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสมาร์ทเอควิตี้ โดยมีระยะเวลาการลงทุนประมาณ 3 ปี และจ่ายคืนผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปแบบการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อมูลค่า NAV ของกองทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นทุก 8%
“กองทุนดังกล่าวใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบคัดเลือกหุ้นตามปัจจัยพื้นฐาน จัดสรรและคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน โดยการวิเคราะห์ในเชิงลึกในลักษณะเดียวกับการลงทุนของ Private Equity เน้นปัจจัยด้านภาพรวมเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมรวมถึงโครงสร้างและวัฏจักรของอุตสาหกรรมการวิเคราะห์งบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ตลอดจนประเมินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย P/E, P/B, EV/EBITDA, Dividend yield โดยกองทุนจะจ่ายคืนผลตอบแทนในรูปของการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อมูลค่า NAV ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุก 8% จากมูลค่าที่ตราไว้ หรือมูลค่า NAV ณ วันที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติล่าสุด” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนเปิดเสนอขายครั้งเดียวในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม — 9 เมษายน 2552
ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ :
ส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
นิตยา เลิศแสงเพชร โทร. 02-672-1000 ต่อ 3314 อีเมล์: nittaya_le@assetfund.co.th
มุกพิม จุลพงศธร โทร. 02-672-1000 ต่อ 3308 อีเมล์: mookpim_ch@assetfud.co.th