กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการอยู่ภายใต้สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าขนส่ง ตลอดจนการเผชิญกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยลดน้อยถอยลง กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ได้ คือ การใช้นวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์
การสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการนิยมใช้ คือ การนำแนวความคิดใหม่ๆ มาสร้างให้เกิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แนวความคิดดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสำคัญ ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในอดีตผู้บริโภคจะเลือก รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เน้นเรื่องความอร่อยเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ แต่จากนี้ต่อไปผู้บริโภคหันมาใส่ใจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น และได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะ โรคอ้วนที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกกำลังประสบอยู่ นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยังมีการปรับเปลี่ยนไปตาม วิถีการดำเนินชีวิต (Lifestyle) และคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลดสภาวะโลกร้อนด้วย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้ชี้ลักษณะผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในอนาคตที่ ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเริ่มปรับตัวตามแนวโน้ม ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Health) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ไฟเบอร์สูง แร่ธาตุสูง เป็นต้น ซึ่งรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพด้วย
- ผลิตภัณฑ์ที่สะดวกใช้ (Convenience) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีความสะดวกสบายในการรับประทาน
- ผลิตภัณฑ์ลักษณะพรีเมี่ยม (Premium) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำตามใจผู้บริโภค หรือผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือทำขึ้นมาเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ หาซื้อยาก ซึ่งแม้จะมีมูลค่าสูงแต่ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ของคุณภาพดี
- ผลิตภัณฑ์ที่ถูกหลักศีลธรรม (Ethical) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นธรรมต่อสังคมและส่วนรวม (Fair-trade) หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาโดยไม่ได้เกิดจากการทารุณสัตว์ เช่น ไข่ไก่ หรือเนื้อไก่ที่เกิดจากการเลี้ยงไก่โดยธรรมชาติ ไม่ได้ถูกกักขัง เพื่อให้ได้เนื้อหรือไข่มา เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น ผลิตภัณฑ์ออแกนิก หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานในการแปรรูปต่ำ ทำให้ประหยัดพลังงาน และก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่บอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน อันได้แก่ แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ นำเข้าจากที่ไหน ผลิตโดยใคร สูตรการผลิตมาตรฐานมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์จากหลากหลายเชื้อชาติ เช่น อาหารและเครื่องดื่มจากประเทศเวียดนาม อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น
- ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม เช่น อาหารและเครื่องดื่มพื้นเมือง เนื่องจากปัจจุบันโลกก้าวหน้าไปมาก ผู้บริโภคจึงต้องการกลับมาหาสิ่งที่เป็นพื้นเมือง หรือดั้งเดิม เพื่อให้เกิดสุนทรียภาพในการบริโภค และเพื่อสนับสนุนตลาดท้องถิ่น และตลาดในประเทศ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน
- ผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมปริมาณการบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ควบคุมปริมาณการบริโภค โดยควบคุมขนาดบรรจุ หรือ ขนาดการเสิร์ฟ เพื่อไม่ให้บริโภคมากเกินไป
บรรจุภัณฑ์ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง รองลงมาจากปัจจัยเรื่องรสชาติ คุณภาพ และราคา ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ลักษณะบรรจุภัณฑ์ 10 ประเภทที่ดึงดูดใจผู้บริโภค ได้แก่
- บรรจุภัณฑ์สวยงาม สะดุดตา และสะดวกใช้
- บรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม สามารถปกป้องอาหารภายในให้สะอาดได้ดี และทำลายได้ง่าย หรือย่อยสลายเองได้
- บรรจุภัณฑ์สำหรับทุกชาติ ทุกภาษา และบุคคลทุกประเภท
- บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ น่าลองโดยผู้ซื้อที่ไม่ยึดติดกับยี่ห้อสินค้า จะนิยมลองของใหม่ๆ หากดูดี มีคุณภาพทัดเทียมกับของที่ใช้อยู่เดิม
- บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ของมีคุณภาพ และมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
- บรรจุภัณฑ์ที่มีการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายที่ดี
- บรรจุภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาเฉพาะลูกค้าแต่ละคน
- บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติมกลิ่น หรือมีคุณลักษณะเฉพาะด้านกลิ่น
- บรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือทำขึ้นมาเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ หาซื้อยาก
- บรรจุภัณฑ์ที่สามารถสื่อและสร้างความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต การแสดงรายละเอียดสินค้า ความปลอดภัย
ดังนั้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคตามที่กล่าวถึงจะส่งผลให้แนวโน้มนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ในอนาคต มีลักษณะดังต่อไปนี้
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อความสวยงาม
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยี Radio Frequency Identification Technology (RFID) มาใช้เป็นอุปกรณ์ไมโครชิปที่มีขนาดเล็ก ติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นต้น
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงสิ่งแวดล้อม
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สะดวกสบาย ง่ายต่อการใช้งาน ประหยัดเวลาในการบริโภค
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ให้สุนทรียภาพในการบริโภค และรู้สึกดีต่อผลิตภัณฑ์
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการรักษาคุณภาพ คุณประโยชน์ของอาหาร-สารอาหาร
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ควบคุมปริมาณการบริโภค
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค และสอดคล้องกับกฎหมาย
- นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ฉลาด เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถตรวจสอบตัวเองได้ โดยการเปลี่ยนสี หรือใช้สีเป็นตัวบ่งชี้สภาวะอุณหภูมิการบริโภคที่เหมาะสม เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้เกิดขึ้นตามคุณลักษณะที่ผู้บริโภคต้องการ และล้ำหน้าคู่แข่งขัน คือ การออกแบบ (Design) และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)
ในอนาคตนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดอาหารของไทยได้ อย่างไรก็ตามนอกจากการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ผู้ผลิตยังต้อง คำนึงถึงการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎระเบียบและมาตรฐาน โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และประกาศเป็นข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้วย อาทิ
1. การกำหนดปริมาณโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ตกค้างสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ในบรรจุภัณฑ์
2. การกำหนดให้บรรจุภัณฑ์ต้องประกอบขึ้นจากวัสดุที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดภัย เหมาะแก่การใช้ซ้ำและการนำทรัพยากรกลับคืน รวมถึงการรีไซเคิล การเผาคืน พลังงาน หรือการหมักเป็นปุ๋ย และเมื่อบรรจุภัณฑ์ถูกนำมาทิ้ง บรรจุภัณฑ์นั้นควร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
3. การกำหนดให้ทำเครื่องหมายระบุชนิดของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยใน การจัดเก็บ-คัดแยก การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์
หมายเหตุ :
บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและแนวโน้มใน อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการจัดทำข้อมูลต่างๆ เช่น กฎระเบียบ มาตรฐาน รายงานสถานการณ์ และบทวิเคราะห์ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยผ่านทางศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (I-Food) ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาติดตามการเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ที่ www.nfi.or.th /infocenter
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2, 0 89484 9894
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net