เอแบคโพลล์: ปฏิรูปประเทศไทยในสายตาประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday October 11, 2010 07:33 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำ สถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทยในสาย ตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านกระบวนการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น (Multi-Stage Stratified Sample Selection) จำนวนทั้งสิ้น 1,502 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2553 ผลการ สำรวจพบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 58.8 ติดตามข่าวการปฏิรูปประเทศไทยในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 41.2 ไม่ได้ติดตาม และที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 47.9 ระบุยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่เพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 20.3 ระบุเพียงพอแล้ว และร้อยละ 31.8 ยังไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ร้อยละ 36.7 ไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ เพราะคนไทย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขาดความสามัคคี ยังมีความขัดแย้งกันหลายฝ่าย ไม่เชื่อมั่นต่อฝ่ายการเมือง เป็นต้น ร้อยละ 12.1 มั่นใจ เพราะ เชื่อมั่นต่อ ศักยภาพของรัฐบาลชุดนี้ คนไทยยังสามัคคีกัน และจะทำให้บ้านเมืองสงบได้ เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อวิเคราะห์คนที่แสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 ไม่มั่นใจ ในขณะที่ร้อย ละ 24.7 มั่นใจ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 ระบุการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน รองลง มาคือร้อยละ 61.7 ระบุการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ถือครองอย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน และร้อยละ 59.9 ระบุเป็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชน

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการมีส่วนร่วมของผู้ตอบแบบสอบถามในการปฏิรูปประเทศไทยด้านต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.1 ระบุเรื่องการศึกษา รองลงมาคือ ร้อยละ 92.5 ระบุเรื่องเศรษฐกิจและอาชีพ ร้อยละ 91.0 ระบุเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 90.7 ระบุเรื่องการ สร้างจิตสำนึกพลเมือง ร้อยละ 90.1 ระบุเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ร้อยละ 88.2 ระบุเรื่องสวัสดิการสังคม ร้อยละ 87.2 ระบุเรื่องการเมือง และความยุติธรรม รองๆ ลงไปคือ สิ่งแวดล้อม-พลังงาน การกำหนดแนวทางแก้ปัญหาประเทศ และสื่อสารมวลชน

สำหรับข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 16.7 มองว่าควรมีการกำหนดแนวทางแก้ไข ปัญหาประเทศให้ชัดเจน ร้อยละ 15.4 ควรปฏิรูปเรื่องการศึกษา ร้อยละ 14.2 ควรปฏิรูปการเมือง ความยุติธรรม ไม่มีหลายมาตรฐาน ร้อยละ 12.4 ควรปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ รองๆ ลงไปคือ ควรมีการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้รักชาติ ควรหาทางสอดคล้องและสามัคคีกัน ควรปฏิรูปนักการเมือง เร่ง แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปรับค่าครองชีพ การเลือกตั้ง ความยากจน สาธารณสุขและสื่อมวลชน เป็นต้น

และเมื่อถามถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าจะช่วยทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบร่มเย็นขึ้นมากน้อยเพียงไร พบว่า ร้อยละ 46.9 มองว่า รัฐบาลแห่งชาติจะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบได้ค่อนข้างน้อยถึงไม่ได้เลย ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ระบุปานกลาง และร้อยละ 29.9 ระบุ ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 32.0 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ในขณะที่ร้อยละ 28.0 เห็นด้วยและร้อยละ 40.0 ไม่แน่ ใจ เมื่อถามถึงความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการทำงานของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 5.36 คะแนนหรือเกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่น่าเป็นห่วงมากถึงมากที่สุด เพราะ แนวทางที่เคยคิดกันว่า จะเป็นทางออกของประเทศได้กลับมีผลวิจัยสะท้อนออกมาที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังอย่างน่าเสียดายเพราะ วันนี้การปฏิรูปประเทศไทยยังขาดพลังที่ เพียงพอในการขับเคลื่อนโดยตัวชี้วัดจากผลสำรวจคือ ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมแต่ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร และ เมื่อหันไปพิจารณาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่เคยค้นพบว่าประชาชนจำนวนมากสนับสนุนแต่ข้อมูลล่าสุดกับพบว่าแนวคิดดังกล่าวขาดพลัง จาก “มหาชน” เช่นกัน ข้อเสนอแนะมีอย่างน้อยสามประการ คือ

ประการแรก เพิ่มการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ความเสียสละ ความผูกพันกับผลประโยชน์ชาติ และการมีส่วนร่วมเข้ามาปฏิรูป ประเทศไทยร่วมกัน โดยเร่งแก้ไขเรื่องการสื่อสารสาธารณะ เสริมสร้างความเข้าใจว่าทำไมต้องถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย ทำให้ชาวบ้านเกิดความ ตระหนัก ยอมเสียสละเวลา ความสะดวกส่วนตัว เพิ่มความผูกพันยึดโยงระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคน (ปัจเจก) ไปยังผลประโยชน์ ชาติ (ส่วนรวม) เพื่อทำให้ประชาชนก้าวออกมาจากบ้านของตนแล้วปรากฏตัวในที่สาธารณะร่วมปฏิรูปประเทศไทย

ประการที่สอง รัฐบาล กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งนายทุน กลุ่มอาสาสมัครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่ค้นพบไปขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ที่โดนใจประชาชนด้วย “ความกล้า” เพราะประชาชนบอกชัดเจนแล้วในผลสำรวจครั้งนี้ว่าอยากได้อะไรจากการปฏิรูปฯ เช่น ปฏิรูประบบ ภาษีที่เป็นธรรม การถือครองที่ดินที่เป็นธรรม และการกระจายอำนาจสู่ชุมชน นอกจากนั้น ประชาชนยังบอกชัดเจนเช่นกันว่า “พร้อม” มามีส่วนร่วมใน การปฏิรูปเรื่องอะไร จึงแสดงให้เห็นว่า “ขั้นตอนในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย” กำลังมีปัญหาช่องว่างระหว่างคณะทำงานส่วนกลางกับสาธารณชน ในระดับพื้นที่

ประการที่สาม พลังขับเคลื่อนสังคมไทยยังมีอยู่จำนวนมากแต่ “คนทำงาน” ยังไม่สามารถ “เข้าถึง” และยังไม่เชื่อมโยงสร้างเครือข่าย ขุมพลังแห่งการขับเคลื่อนสังคมได้ดีพอ จึงน่าจะค้นหาให้เจอแนวทางที่ “โดนใจ” ประชาชนจนแรงมากพอที่จะแสดงตนออกมาร่วมปฏิรูปประเทศไทย เช่น อาจรณรงค์ “วันอาสาสมัครแห่งชาติ” ปลุกจิตสำนึกและพฤติกรรมของประชาชนให้ออกมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และช่วงเวลาที่น่าพิจารณาคือ วันที่ เกิดเหตุ สึนามิ ในภาคใต้ของประเทศไทย หรือเหตุอื่นๆ ที่คนทั้งประเทศจับจ้องมองไปยังกลุ่มคนที่มี “จิตอาสา” เป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติดี โดยใช้พลังคนไทยทั้งชาติที่มีอยู่ตอนนี้มาเป็นประโยชน์ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยตามระบอบประธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยเดินไป ข้างหน้าได้

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 53.9 เป็นหญิง

และร้อยละ 46.1 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 26.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 22.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 73.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 23.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.3 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 19.8 ระบุพนักงานเอกชน

ร้อยละ 41.7 ระบุค้าขายรายย่อย/อิสระ

ร้อยละ 11.0 ระบุนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 13.8 เกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงาน

ร้อยละ 6.9 แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

และร้อยละ 2.5 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการปฏิรูปประเทศไทย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสาร                   ค่าร้อยละ
1          ติดตาม                                  58.8
2          ไม่ติดตาม                                41.2
          รวมทั้งสิ้น                                100.0


ตารางที่ 2 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเพียงพอของความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย
ลำดับที่          ความเพียงพอ                       ค่าร้อยละ
1          เพียงพอ                                 20.3
2          ไม่เพียงพอ                               47.9
3          ไม่แน่ใจ                                 31.8
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

ตารางที่ 3 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมั่นใจในการปฏิรูปประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ
ลำดับที่          ความมั่นใจในการปฏิรูปประเทศไทย                                                             ค่าร้อยละ
1    มั่นใจ เพราะ เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลชุดนี้ ความสามัคคีของคนไทย จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ เป็นต้น                     12.1
2    ไม่มั่นใจ เพราะ คนไทยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขาดความสามัคคี  ยังมีความขัดแย้งกันหลายฝ่าย ไม่เชื่อมั่นต่อฝ่ายการเมือง เป็นต้น  36.7
3    ไม่มีความเห็น                                                                                         51.2
     รวมทั้งสิ้น                                                                                           100.0

ตารางที่ 4 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมั่นใจในการปฏิรูปประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ (ค่าร้อยละ เฉพาะคนที่แสดงความเห็น)
ลำดับที่          ความมั่นใจของตัวอย่าง                ค่าร้อยละ
1          มั่นใจ                                   24.7
2          ไม่มั่นใจ                                 75.3
          รวมทั้งสิ้น                                100.0


ตารางที่ 5 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเร่งด่วนที่กรรมการปฏิรูปประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันในเรื่องต่างๆ
ลำดับที่          ความเร่งด่วน                          เร่งด่วน     ยังไม่เร่งด่วน    ไม่มีความเห็น      รวมทั้งสิ้น
1          การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม          62.3          12.2          25.5          100.0
2          การปฏิรูปที่ดินเพื่อให้มีการถือครองอย่างเป็นธรรม     61.7          11.8          26.5          100.0
3          การปฏิรูประบบการกระจายอำนาจให้แก่ชุมชน        59.9          13.1          27.0          100.0

ตารางที่ 6 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ
ลำดับที่          ด้านต่างๆ                    ต้องการ     ไม่ต้องการ       รวมทั้งสิ้น
1          การศึกษา                        93.1          6.9          100.0
2          เศรษฐกิจและอาชีพ                 92.5          7.5          100.0
3          ระบบสุขภาพ                      91.0          9.0          100.0
4          การสร้างจิตสำนึกพลเมือง            90.7          9.3          100.0
5          การสร้างชุมชนเข้มแข็ง              90.1          9.9          100.0
6          สวัสดิการสังคม                    88.2         11.8          100.0
7          การเมืองและความยุติธรรม           87.2         12.8          100.0
8          สิ่งแวดล้อม-พลังงาน                86.7         13.3          100.0
9          การกำหนดแนวทางแก้ปัญหาประเทศ     82.7         17.3          100.0
10          สื่อสารมวลชน                    77.5         22.5          100.0

ตารางที่ 7 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศไทย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศไทย                                      ค่าร้อยละ
1          ควรมีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศ/กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้ชัดเจน          16.7
2          ควรปฏิรูปเรื่องการศึกษา                                                    15.4
3          ควรปฏิรูปเกี่ยวกับการเมือง และความยุติธรรม/ไม่ให้มี 2 มาตรฐาน/ต้องไม่มีการแบ่งชั้น     14.2
4          ควรปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ                                                    12.4
5          ควรมีการปลูกจิตใต้สำนึกที่ดี ให้รักชาติ                                          10.4
6          ควรสรรหาแนวทางที่สอดคล้องและสามัคคีกัน                                       9.1
7          ควรมีการปฏิรูปนักการเมือง                                                   8.4
8          ควรแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน                                                     7.6
9          ควรปรับค่าครองชีพ/ค่าแรงขั้นต่ำ                                               7.6
10         ควรจัดการเลือกตั้ง/ให้ประชาชนเป็นฝ่ายเลือกเอง                                  4.1
11         อื่นๆ อาทิ ควรปฏิรูปเรื่องความยากจน สาธารณสุข สื่อมวลชน เป็นต้น                   13.7

ตารางที่ 8 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นที่ว่า แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติจะช่วยทำให้ประเทศชาติสงบร่มเย็น
ลำดับที่          ความคิดเห็นของตัวอย่าง                    ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อย ถึงไม่ได้เลย                        46.9
2          ปานกลาง                                    23.2
3          ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด                         29.9
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 9 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็นของตัวอย่าง          ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                           28.0
2          ไม่เห็นด้วย                         32.0
3          ไม่แน่ใจ                           40.0
          รวมทั้งสิ้น                          100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าเฉลี่ยของการทำงานโดยภาพรวมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
  ค่าเฉลี่ยของการทำงานโดยภาพรวม                    5.36 คะแนน

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ