ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความกังวลของสาธารณชนต่อข่าวสารบ้านเมือง และจุดยืนทางการเมืองของมือโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,498 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13 - 16 ตุลาคม 2553
เมื่อศึกษาการจัด 5 อันดับข่าวที่ประชาชนรู้สึกกังวล พบว่า อันดับแรก ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 กังวลต่อข่าวการวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ รองลงมาคือร้อยละ 64.6 กังวลต่อข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมกดเงินทาง ATM อันดับที่สาม ร้อยละ 61.2 กังวลภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันดับที่สี่ ร้อยละ 59.3 กังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย และอันดับที่ห้า ร้อยละ 53.5 กังวลต่อข่าวจับอาหารเจปลอม ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์ข่าวที่ประชาชน “ไม่รู้สึกกังวล” ใน 5 อันดับ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 79.8 ไม่รู้สึกกังวลเมื่อได้ข่าวลอบทำร้ายแกนนำนักการเมืองสำคัญของประเทศ รองลงมาคือร้อยละ 68.7 ไม่กังวลต่อข่าวยุบพรรคประชาธิปัตย์ อันดับสามหรือร้อยละ 63.4 ไม่กังวลต่อข่าวการหาคนอื่นมาแทน นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน อันดับสี่ร้อยละ 60.3 ไม่กังวลต่อข่าวปัญหาแผนปรองดอง และอันดับห้าหรือร้อยละ 53.5 ไม่กังวลต่อข่าวปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการโพสต์ข้อความทางการเมืองในเว็บบอร์ดต่างๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 10.1 เคยโพสต์ข้อความ ในขณะที่ร้อยละ 89.9 ไม่เคย แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่เคยโพสต์ข้อความทางการเมืองในเว็บบอร์ดมีสัดส่วนของคนที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่า กลุ่มคนที่ไม่เคยโพสต์ข้อความ คือร้อยละ 33.8 ต่อร้อยละ 19.7 อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือเป็นกลุ่มพลังเงียบยังเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่อยู่ในการศึกษาครั้งนี้คือร้อยละ 50.3 ต่อร้อยละ 66.1
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นนัยสำคัญทางสังคมและการเมืองที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มนักการเมืองยังไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตัวที่ดีจนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความกังวลห่วงใยได้ทั้งๆ ที่อยู่ในกลุ่มที่มีอำนาจและมีความสามารถที่น่าจะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูป “เปลี่ยนแปลง” ตัวเองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศ มากกว่ามุ่งถอนทุนคืนด้วยกลโกงที่แยบยลและผลประโยชน์ของพวกพ้อง มิฉะนั้น ประเทศชาติจะ “วน” อยู่กับสิ่งเลวร้าย และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นทุกข์เหมือนเดิม แกนนำฝ่ายการเมืองจึงไม่น่าจะทำให้ “รถไฟแห่งประชาธิปไตย” ขบวนนี้เสียจังหวะ เสียรูปขบวนเพราะเอาพฤติกรรมเลวร้ายเดิมๆ มาใช้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติ ขณะนี้ที่ประเทศชาติไม่ควรถอยหลังไปสู่ยุคของการยึดอำนาจเพราะหลังยึดอำนาจจะมีคนแค่เฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่เหมือนเดิม
“จากการวิจัยก่อนหน้านี้ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อหนทางประชาธิปไตยที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชนให้พ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ เพราะทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ ลานจอดรถของฐานอำนาจก็จะเต็มไปด้วยรถของกลุ่มนายทุนที่เข้ามาเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง กลุ่มที่มีอำนาจเหล่านั้นก็ได้รับการหยิบยื่นผลประโยชน์มากมาย ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อนแย่ลงไปกว่าเดิม” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว
ผอ.เอแบคโพลล์ยังกล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากฝากถึงนายกรัฐมนตรีและแกนนำรัฐบาล คือ การแสดงความเป็นผู้นำด้วยการปรากฏตัวว่าได้รับความสำเร็จจากการสนับสนุนของ “ฐานอำนาจ” เช่น กองทัพ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องสำคัญเชิงสัญญลักษณ์ทางการเมือง แต่ที่สำคัญกว่า คือ การแสดงความเป็นผู้นำที่รวดเร็วฉับไวลงพื้นที่ภัยพิบัติโดยไม่เลือกว่าอยู่ “สีไหน” ไม่กลัวต่อภัยอันตรายใดๆ เพราะประชาชนเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายกว่า และที่สำคัญคือ กล้าเปลี่ยนแปลง เพื่อภาพลักษณ์ของประเทศ ใครมีข่าวสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต้องรีบดำเนินการ เพราะผลสำรวจครั้งนี้และที่ผ่านมาในอดีตอาจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนก็ยังกังวลแต่เรื่องของตนเองซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแต่ที่ไม่ธรรมดาและอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของประเทศคือ ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังเชื่อมโยงไปไม่ถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมว่าเป็นผลประโยชน์ของตนเองแต่ละคน
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 47.0 เป็นชาย
ร้อยละ 53.0 เป็นหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 10.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี
ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี
ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี
และร้อยละ 27.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 16.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน
ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 5.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา
ในขณะที่ ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ข่าวเด่น ค่าร้อยละ 1 ข่าวการวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ 82.0 2 ข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมกดเงินทาง ATM 64.6 3 กังวลต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ 61.2 4 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ ซาอุดิอาระเบีย 59.3 5 ข่าวจับอาหารเจปลอม 53.5 ตารางที่ 2 แสดง 5 อันดับแรกที่ชาวบ้านเห็นข่าวแล้วรู้สึก “ไม่กังวล” (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ข่าวเด่น ค่าร้อยละ 1 ข่าวลอบทำร้ายแกนนำนักการเมืองสำคัญของประเทศ 79.8 2 ข่าวยุบพรรคประชาธิปัตย์ 68.7 3 ข่าวการหาคนอื่นมาแทน นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน 63.4 4 ข่าวปัญหาแผนปรองดอง 60.3 5 ข่าวปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 53.5 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่เคยโพสต์ข้อความทางการเมืองในเว็บบอร์ดต่างๆ ในช่วง 30วันที่ผ่านมา ลำดับที่ การโพสต์ข้อความทางการเมือง ช่วง 30 วันที่ผ่านมา ค่าร้อยละ 1 เคยโพสต์ข้อความทางการเมือง 10.1 2 ไม่เคย 89.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละเปรียบเทียบจุดยืนทางการเมืองระหว่าง กลุ่มที่เคยโพสต์ข้อความทางการเมือง กับกลุ่มที่ไม่เคยโพสต์ข้อความทางการเมือง ลำดับที่ จุดยืนทางการเมือง เคยโพสต์เว็ปบอร์ด ไม่เคย 1 สนับสนุนรัฐบาล 33.8 19.7 2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล 15.9 14.2 3 ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (พลังเงียบ) 50.3 66.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 --เอแบคโพลล์-- -พห-