เอแบคโพลล์: ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อ กรณีค่าเงินบาท

ข่าวผลสำรวจ Thursday November 4, 2010 09:12 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมกับ นาย วรภัทร ปราณีประชาชน นักศึกษา ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิง สำรวจ เรื่อง ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อ กรณีค่าเงินบาท กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้ง สิ้น 1,823 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม — 3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 56.0 ติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท มีร้อยละ 44.0 ไม่ได้ติดตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 จำไม่ได้ว่า ในอดีตมีนักการเมืองและกลุ่มนายทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ในขณะที่เพียง ร้อยละ 11.7 ที่จำได้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 กังวลว่าจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 เห็นว่า รัฐบาลและ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.3 มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควร เป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

ที่น่าพิจารณาคือ ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.5 ไม่ไว้วางใจทั้งสองกลุ่มคือ นักการเมืองในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศ ไทย ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ไว้ใจทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 16.9 ไว้ใจเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และร้อยละ 9.2 ไว้วางใจนักการเมืองใน รัฐบาล ตามลำดับ

นายวรภัทร ปราณีประชาชน นักศึกษาสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ กล่าวว่า ประชาชนในตัวอย่างส่วนมากต้องการเห็นความร่วม มือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลในการแก้ไขปัญาหาค่าเงินบาทที่แข็ง ซึ่งในจุดนี้สังคมก็เริ่มเห็นการประสานงานในเชิงนโยบายและ บทบาทของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นแล้ว เช่น การประสานงานด้านมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินบาทระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่ง ประเทศไทยที่ไปในแนวทางเดียวกัน และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวาระการแก้ไขปัญหาความผันผวนของค่า เงินในภูมิภาคเป็นประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปัญหาค่าเงินนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศใน ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหากจะเรียกอย่างเหมาะสมอาจต้องเปลี่ยนนิยามจากปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาค่าเงินของภูมิภาค หรือปัญหาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนเสียมากกว่า ฉะนั้น เห็นว่าสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีบทบาทที่สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน

ขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจ ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงบางประการคือ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่จำไม่ได้ถึงปัญหาสำคัญของประเทศที่เคยมีกลุ่มคนเฉพาะ กลุ่มได้ประโยชน์แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้นอยู่ในสภาวะที่เดือดร้อนและยากลำบาก สิ่งสำคัญที่น่าจะพิจารณาคือ ควรนำกรณีปัญหาที่ส่ง ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับสาธารณชนระลึกถึงเพื่อจะได้สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้ เท่าทันพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในเวลานี้ ยังไม่มีข้อมูลปรากฏให้เห็นต่อสาธารณ ชนได้ชัดเจนว่า คนเฉพาะกลุ่มใดกำลังมุ่งกอบโกยผลประโยชน์โดยปล่อยให้ประเทศชาติเสียหาย จึงเสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางเชิง รุกต่อกรณีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และรัฐบาลทำหน้าที่เพียงเป็นผู้สนับสนุน อย่างน้อยสามประการ คือ

ประการแรก การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทผ่านสื่อมวลชนและสร้างเครือข่าย วิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ทำการประเมินความรู้และความสนใจติดตามสถานการณ์ของประชาชนเป็น ระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศและภาพลักษณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องมาจากประชาชนมีความรู้ไม่เพียงพอ

ประการที่สอง การใช้แนวทางเชิงรุกเพื่อบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วมักกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ ประเด็นคือ กลุ่มคนที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศมักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินมากกว่าประชาชนทั่วไป จึงอาจทำให้สาธารณชนขาดพลังในการ ติดตามสถานการณ์ได้ แนวทางสำคัญคือต้องหาทางกระตุ้นความสนใจติดตามของสาธารณชนคนไทยทั่วไปให้ติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงค่าเงินอย่างใกล้ ชิด โดยไม่ลืมไปว่ากลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มอาจกำลังหาจังหวะกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม

ประการที่สาม ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลน่าจะมีแนวทางร่วมกันเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบทั่วไปว่า ได้ใช้จังหวะเวลานี้ ออกมาตรการรองรับในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไว้อย่างไรในภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนคนทั่วไปสามารถเรียนรู้ ได้ เพื่อหนุนเสริมให้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 9.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 19.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และ

ร้อยละ 28.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 64.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 27.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 7.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่างร้อยละ 41.8 ค้าขายอิสระ/ ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 22.3 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป เกษตรกร

ร้อยละ 12.9 พนักงานเอกชน

ร้อยละ 2.7 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 10.0 นักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 8.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ

และร้อยละ 1.4 ว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท
ลำดับที่          การติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท        ค่าร้อยละ
1          ติดตาม                                           56.0
2          ไม่ติดตาม                                         44.0
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองและกลุ่มนายทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในอดีต
ลำดับที่          ข่าวนักการเมืองและกลุ่มนายทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในอดีต    ค่าร้อยละ
1          จำได้                                                                         11.7
2          จำไม่ได้                                                                       88.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลใจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ลำดับที่          ความกังวลใจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ     ค่าร้อยละ
1          กังวล                                                                                 71.6
2          ไม่กังวล                                                                               28.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                              100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลใจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ลำดับที่          ความกังวลใจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน        ค่าร้อยละ
1          กังวล                                                                                 71.4
2          ไม่กังวล                                                                               28.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในขณะนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท            ค่าร้อยละ
1          รัฐบาล                                                                       22.8
2          ธนาคารแห่งประเทศไทย                                                           6.7
3          ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกัน                                                             70.5
          รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยโดย
ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
ลำดับที่          ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย      ค่าร้อยละ
1          ควรปลอดจากการแทรกแซง                       71.3
2          ไม่ควรเป็นอิสระ                               28.7
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการไว้วางใจระหว่างนักการเมืองในรัฐบาล กับเจ้าหน้าที่
ของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะไม่กอบโกยผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท
 ลำดับที่          ความคิดเห็นเกี่ยวกับการไว้วางใจระหว่างนักการเมืองในรัฐบาล กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย  ค่าร้อยละ
1          ไว้ใจนักการเมืองในรัฐบาล                                                                   9.2
2          ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย                                                       16.9
3          ไม่ไว้ใจทั้งสองกลุ่ม                                                                         51.5
4          ไว้ใจคนทั้งสองกลุ่ม                                                                         22.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                                100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ