ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ดำเนินโครงการสำรวจวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชน และผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ. 2553) : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน และบุคลากรผู้ให้บริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 13 จังหวัด ทั่วประเทศ” โดยสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 25 กันยายน—2 ตุลาคม 2553 จำนวน 2,425 ตัวอย่าง และกลุ่มผู้ให้บริการ (ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และหัวหน้าสถานีอนามัย/ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข/ตัวแทน) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม-28 กันยายน 2553 จำนวน 1,440 ตัวอย่าง ผลสำรวจประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้
ผลการสำรวจกลุ่มประชาชน
1. ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการ “ได้รับสิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยพบว่าตัวอย่างประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จาก 1-10 คะแนน) เฉลี่ยเท่ากับ 8.47 คะแนน ทั้งนี้คนที่ “เคยใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีความพึงพอใจสูงมากกว่าคนทั่วไป” โดยพบว่าผู้ที่เคยใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.77 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิฯแต่ละปี พบว่าปี 2553 ประชาชนมีความพึงพอใจ สูงที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมานับจากที่เคยมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
2. ประชาชนให้ความสำคัญต่อ “ผลการรักษา และการบริการของบุคลากร” มากที่สุด ทั้งนี้เมื่อนำปัจจัยต่างๆ ในการบริการของสถานพยาบาลมาจัดอันดับการให้ความสำคัญ พบว่าปัจจัยที่ตัวอย่างให้ความสำคัญเป็นอันดับที่หนึ่งคือ “ผลการรักษา” (ร้อยละ 26.9) รองลงมาคือ “แพทย์และบุคลากรอื่นๆให้บริการดี” (ร้อยละ 26.1) “เครื่องมือทันสมัย ยาดี” (ร้อยละ 25.2) “ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง” (ร้อยละ 16.2)และ“ชื่อเสียงของสถานพยาบาล” (ร้อยละ 5.6) ตามลำดับ
4. ผลสำรวจตัวอย่างร้อยละ 72.9 เห็นว่าการได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่รัฐสงเคราะห์ให้ในขณะที่ร้อยละ 27.1 เห็นว่าเป็นสิทธิของตนเอง
5. ตัวอย่างร้อยละ 76.9 เห็นด้วยกับกรณีหากมีการจัดเก็บภาษีสำหรับบริการสุขภาพเป็นไปตามหลักการ “คนมีรายได้มากช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย”
6. “ประชาชนยังไม่ค่อยรู้จักหน่วยงานใหม่ๆทางด้านสุขภาพ” โดยหน่วยงานที่สอบถามที่ประชาชนรู้จักเรียงตามลำดับดังนี้ ร้อยละ 33.6 รู้จักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร้อยละ 28.6 รู้จักสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร้อยละ14.4 รู้จักสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ร้อยละ 9.3 รู้จักสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และร้อยละ 8.4 รู้จักสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) โดยกลุ่มตัวอย่างที่เหลือคือผู้ที่ระบุว่า “ไม่รู้จัก” และ “ไม่แน่ใจ”
7. ส่วนความรู้เกี่ยวกับสิทธิในการเปลี่ยนสถานพยาบาล พบว่ามีตัวอย่างร้อยละ 21.7 รับรู้ว่าผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถขอเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำครอบครัวได้ปีละ 2 ครั้ง และตัวอย่างร้อยละ 85.4 เห็นว่าการขอเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำครอบครัวได้ปีละ 2 ครั้ง มีความเหมาะสมแล้ว
8. สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการบริการ อันดับแรกคือเรื่องระยะเวลาในการบริการโดยเฉพาะการรอตรวจ/การรอรับยาซึ่งยังใช้เวลานาน ความเสมอภาคในการบริการ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล คุณภาพยา อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ ตามลำดับ เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ประชาชนต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด
ผลการสำรวจกลุ่มผู้ให้บริการ
1. ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงมากกว่าทุกปี จากการสำรวจครั้งนี้พบว่าตัวอย่างผู้ให้บริการให้คะแนนความพึงพอใจต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จาก 1-10 คะแนน) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านผลต่อประชาชนพบว่ามีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 8.51 คะแนน ในด้านผลต่อผู้ให้บริการมีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.51 คะแนน และในภาพรวมมีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 7.64 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในความพึงพอใจต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับปี 2552 ที่ทำการสำรวจ พบว่าปี 2553 ความพึงพอใจต่อโครงการ ฯ มีแนวโน้มที่ “เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะความพึงพอใจต่อภาพรวมของโครงการเพิ่มขึ้นจาก 6.53 คะแนน ในปี 2552 มาเป็น 7.64 คะแนน ในปี 2553 และเป็นค่าคะแนนที่สูงกว่าทุกปีตั้งแต่ที่มีการสำรวจเมื่อปี 2546 เป็นต้นมา
2. ความพึงพอใจในการทำงาน พบว่าจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเท่ากับ 7.96 คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยขวัญกำลังใจในการทำงานเท่ากับ 6.65 คะแนน และค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขในการทำงานโดยรวมมีค่าเท่ากับ 7.10 คะแนน
3. ปัจจัยที่จะส่งผลทำให้ท่านมีความสุขในการทำงานมากที่สุดคือ “การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี” รองลงมาคือหน่วยงานมีเป้าหมายที่เน้นให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และหน่วยงานมีการบริหารจัดการที่โปร่งใส เป็นธรรม ตามลำดับ
4. เมื่อพิจารณาประเด็นของการให้บริการ (จาก 30 ประเด็น) ที่ผู้ให้บริการให้ความสำคัญมากที่สุดคือด้าน “การปกปิดความลับของผู้ป่วย” รองลงมาคือ “งานบริการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก” และ“การให้บริการกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินที่หน่วยบริการ”
5. ประเด็นการให้บริการที่ผู้ให้บริการเห็นว่ามีคุณภาพในการให้บริการมากที่สุดในหน่วยบริการคือ “งานบริการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก” รองลงมาคือ “การปกปิดความลับของผู้ป่วย” และ “การดูแลสุขภาพมารดา (ช่วงก่อน-หลังคลอดและดูแลทารก)”
6. งานบริการที่ผู้ให้บริการเห็นว่ามีช่องว่างระหว่างการ “ให้ความสำคัญ” กับ “คุณภาพการบริการ” ที่เป็นอยู่มากที่สุด (มีช่องว่างความแตกต่างมากที่สุด) คือ “การติดตามผลการรักษาหลังการส่งไปรักษาต่อ” รองลงมาคือ “การประสานข้อมูลการรักษาระหว่างหน่วยบริการที่ส่งต่อ-ส่งกลับ” “การดูแลต่อเนื่องที่บ้านหลังการจำหน่ายผู้ป่วยในกรณีที่อยู่ในข่ายต้องติดตามหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้พิการในชุมชน” และ “การต้อนรับ/ปฏิสัมพันธ์ที่แผนกต้อนรับ” ตามลำดับ
7. สำหรับประเด็นปัญหาในการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จาก 15 ประเด็นปัญหา) พบว่าปัญหาที่ผู้ให้บริการเห็นว่ามีความรุนแรงมากที่สุดคือ “ความคาดหวังของผู้ป่วยต่อการรับบริการ” “ความเพียงพอของงบประมาณ” และ “ความเพียงพอของผู้ให้บริการด้านรักษาพยาบาล” ตามลำดับ
8. กลุ่มตัวอย่างผู้ให้บริการเห็นว่าควรปรับปรุงในเรื่องของสิทธิให้ครอบคลุมและเหมาะสมเป็นอันดับแรก อันดับที่สองคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและการใช้สิทธิในโครงการฯ และอันดับที่สามคือการปรับปรุงระบบงบประมาณให้เพียงพอเหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในการให้บริการ มีความโปร่งใส ตามลำดับ
นอกจากนี้ในแง่ของการให้บริการมีข้อเสนอเพิ่มเติมคือ “การปรับปรุงในเรื่องของระบบกำลังคน เช่น จัดสรรกำลังคนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน เพิ่ม-ลดปริมาณงานให้เหมาะสม” และ “การปรับปรุงในเรื่องของระบบการทำงานของหน่วยบริการให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ”
--เอแบคโพลล์--