ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ทัศนคติและพฤติกรรมอันตรายของเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาว่าด้วยการทุจริต กรณีศึกษานักเรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านกระบวนการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น (Multi-Stage Stratified Sample Selection) จำนวนทั้งสิ้น 1,048 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 24 พฤศจิกายน 2553 ผลการสำรวจที่น่าเป็นห่วง พบว่า
เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 89.1 เคยมีประสบการณ์ในการลอกการบ้านเพื่อนๆ ในขณะที่ร้อยละ 10.9 ไม่เคย และเมื่อถามถึงพฤติกรรมการแอบนำเอกสารคำตอบหรือมีคนอื่นคอยช่วยในเวลาสอบ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.1 เคยแอบนำเอกสารคำตอบเข้าห้องสอบหรือมีคนอื่นคอยช่วยในเวลาสอบ ในขณะที่ร้อยละ 37.9 ระบุไม่เคยเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 เคยถามคำตอบของข้อสอบจากเพื่อนในเวลาสอบ ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ไม่เคย
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามต่อกรณีข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการสอบ ทั้งสอบตำรวจ สอบนายอำเภอ ข้าราชการตุลาการ พบว่า เด็กส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.2 มองว่า จำเป็นต้องลาออกโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 18.1 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 7.7 ระบุไม่จำเป็นต้องลาออก
ดร.นพดล กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มนักเรียนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เคยลอกการบ้านเพื่อนๆ ถามข้อสอบเพื่อนและทุจริตในการสอบ โดยให้เหตุผลทำนองว่า “ใครๆ ก็ทำด้วยกันทั้งนั้น” และเมื่อขอให้มองไปยังผู้ใหญ่ในสังคมที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นข้าราชาการชั้นผู้ใหญ่ เด็กๆ ที่ถูกศึกษาบางคนบอกว่า ไม่เห็นใครดีจริง ยิ่งพวกนักการเมือง ก็เอาแต่คอยหาเงินเอามาฟาดหัวชาวบ้านเวลาเลือกตั้ง แล้วก็ชนะ ก็ตามข่าวกัน เห็นว่าพวกสอบเข้า ก็วิ่งเต้นกันทั้งนั้น มีโควต้ากัน ไม่ยุติธรรมเลย พวกเราอยากเห็นความยุติธรรม แต่ผู้ใหญ่ไม่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี แล้วพวกเราตัวเล็กๆ จะไปทำอะไรได้ โกงกันได้ แล้วจะมาสอนพวกเราไม่ให้โกงได้ไง พวกเราก็ต้องเอาตัวรอดเหมือนกัน เวลาสอบก็ต้องเอาตัวรอด ก็ต้องหาทุกวิถีทาง บางคนต้องเอาใจอาจารย์แล้วก็สอบผ่าน บางคนยอมยิ่งกว่าเอาใจเสียด้วย นี่คือความจริง เมื่อถามต่อว่า ที่บอกว่ายิ่งกว่าเอาใจคืออะไร คำตอบที่ได้คือ ก็มีทั้งเงิน มีทั้งของ และบางคนแอบหนีพ่อแม่ไปกับอาจารย์สนิทสนมกันเกินความเป็นอาจารย์กับศิษย์
เมื่อถามว่า เมื่อเราเองก็ทุจริตการสอบทำไมถึงเรียกร้องให้พวกข้าราชการที่ทุจริตลาออกไป เด็กๆ ก็พากัน “อึ้ง” ไปสักพักแล้วตอบว่า พวกเขาเป็นข้าราชการก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้ใหญ่ในสังคมเมื่อเกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ต้องรับผิดชอบแล้วลาออกไป
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลวิจัยทางสถิติในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ถ้าเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการทุจริตในการสอบบ่อยครั้ง ก็จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลาออกของพวกข้าราชการที่ทุจริตในการสอบ จะเห็นได้ว่า นี่คือทัศนคติและพฤติกรรมอันตรายต่ออนาคตของสังคมไทย เพราะพอเป็นเรื่องของตัวนักเรียนเองก็จะเอาตัวรอดไว้ก่อนโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมืองหรือหลักคุณธรรมอะไร และยังแบ่งกลุ่มให้แตกแยกออกจากกันคือ เมื่อเป็นเรื่องของคนอื่นที่เป็นข้าราชการทุจริต พวกเด็กๆ บอกว่า ต้องลาออก แต่พอเป็นพฤติกรรมทุจริตของตนเองก็ไม่มีเหตุผลบนพื้นฐานของหลักคุณธรรมอะไร
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ จากการสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เคยลงพื้นที่ไปทำวิจัยประเมินผลคุณภาพการทำงานของข้าราชการสังกัดกระทรวงใหญ่ของประเทศกระทรวงหนึ่งในต่างจังหวัด พบว่า นักศึกษาเหล่านั้นได้พบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางที่ตามลงพื้นที่ไปด้วย โดยข้าราชการระดับสูงกลุ่มนั้นได้เข้าพักโรงแรมเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่ประเมินผล จึงได้เรียกประชุมนักศึกษาเหล่านั้น พร้อมกับ บอกว่า น้องๆ ไม่ต้องเหนื่อย พวกพี่ได้เตรียมข้อมูลไว้ให้แล้ว เมื่อนักศึกษากลุ่มนั้นดูชุดข้อมูลที่ข้าราชการกลุ่มนั้นเตรียมไว้แล้วพบว่า มีคำตอบว่า คุณภาพบริการดีเลิศในทุกตัวชี้วัด นักศึกษาบางคนไม่ยอม ก็เจอกับคำพูดจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นว่า “ทำตัวให้เหมือนน้ำ” มันคดเคี้ยวไปมาได้ตามลำคลอง ตามภาชนะต่างๆ แล้วมันก็อยู่รอดได้ อย่าทำตัวเป็นน้ำแข็งเพราะมันปรับตัวไม่ได้ต้องทุบ ต้องแตกหัก
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่แบบนี้ หมายถึง คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในสภาวะที่กำลังพัฒนาถึงด้อยพัฒนา คนไทยจำนวนมากยังคงอยู่ในสภาพยากจนซ้ำซาก คนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวของประเทศมีฐานะความเป็นอยู่อย่างสบายเทียบเท่ากับประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การทุจริตคอรัปชั่นซึ่งมีมากและกระจายไปในทุกสาขาอาชีพของสังคมไทย ทางออกคือ ทำกลไกในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นตอนนี้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สำนักงาน ปปท. ที่แก้ปัญหาการทุจริตในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย ยังไม่สามรถทำงานตามศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพราะฝ่ายการเมืองในระดับรัฐสภายังมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. และแม้แต่ สำนักงาน ปปช. ที่ยังไม่สามารถทำให้เรื่องทุจริตคอรัปชั่นและคดีความที่เกี่ยวข้องเป็นตัวอย่างจนสาธารณชนทั่วไปกล้าออกมาช่วยกันปฏิเสธต้นตอของปัญหาได้ ดังนั้นจึงเกิดทัศนคติในกลุ่มชาวบ้านทั่วไปว่า ทุกรัฐบาลก็ “โกงกิน” ด้วยกันทั้งนั้น แต่บางรัฐบาลโกงกินแล้วทำงานเป็น แก้ปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้านได้รวดเร็วฉับไว ส่วนบางรัฐบาลก็โกงกินเหมือนกันแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.3 เป็นหญิง
และร้อยละ 44.7 เป็นชาย
ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 12-13 ปี
ร้อยละ 34.5 อายุ 14-15 ปี
ร้อยละ 31.1 อายุ 16-17 ปี
ร้อยละ 8.9 อายุ 18-19 ปี
ตัวอย่าง ร้อยละ 16.7 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.1
ร้อยละ 20.0 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.2
ร้อยละ 16.5 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.3
ร้อยละ 16.1 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.4
ร้อยละ 15.2 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.5
และร้อยละ 15.5 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.6
โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้
ลำดับที่ ประสบการณ์ในการลอกการบ้านเพื่อนๆ ค่าร้อยละ 1 เคย 89.1 2 ไม่เคยเลย 10.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การแอบนำเอกสารคำตอบหรือมีคนอื่นคอยช่วยในเวลาสอบ ลำดับที่ การแอบนำเอกสารคำตอบเข้าห้องสอบหรือมีคนอื่นช่วยในเวลาสอบ ค่าร้อยละ 1 เคย 62.1 2 ไม่เคยเลย 37.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การถามคำตอบของข้อสอบจากเพื่อนในเวลาสอบ ลำดับที่ การถามคำตอบของข้อสอบจากเพื่อนในเวลาสอบ ค่าร้อยละ 1 เคย 63.4 2 ไม่เคย 36.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการสอบ ทั้งสอบตำรวจสอบนายอำเภอ ข้าราชการตุลาการ ลำดับที่ ความคิดเห็นต่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการสอบ ค่าร้อยละ 1 จำเป็นต้องลาออกโดยเร็ว 74.2 2 รู้สึกเฉยๆ 18.1 3 ไม่จำเป็นต้องลาออก 7.7 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--