เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของสาธารณชนกับข้าราชการตำรวจ ว่าด้วยแนวทางปฏิรูประบบงานตำรวจโดยรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Tuesday January 4, 2011 07:36 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ สถาบัน คอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐ อเมริกา เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนกับข้าราชการตำรวจ ว่าด้วย แนวทางปฏิรูประบบงานตำรวจโดยรัฐบาล กรณี ศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติระดับสถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยใช้การเลือกตัวอย่างประชาชนแบบ แบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิ และเลือกตัวอย่างข้าราชการตำรวจจากฐานข้อมูลบัญชีรายชื่อสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,156 ราย แยกเป็น ประชาชนจำนวน 1,533 ตัวอย่างและข้าราชการตำรวจ 623 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 31 ธันวาคม 2553 พบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 48.7 เคยไปใช้บริการที่สถานีตำรวจ เช่น แจ้งความ เสียค่าปรับ ผู้ต้องหา พบญาติและเพื่อนเป็นต้น ใน ขณะที่ร้อยละ 51.3 ไม่เคยไป

เมื่อสอบถามเฉพาะคนที่เคยไปใช้บริการสถานีตำรวจ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบประสบการณ์ที่ดีว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ระบุ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มเป็นมิตรกับประชาชน รองลงมาคือ ร้อยละ 68.9 ระบุให้บริการที่ดี ให้คำแนะนำที่ดี ร้อยละ 63.6 ระบุเจ้า หน้าที่เข้าถึงที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วฉับไว ร้อยละ 60.4 ระบุเจ้าหน้าที่ขยันและตั้งใจทำงาน รองๆ ลงไปคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วย เหลือประชาชน ตำรวจทำงานด้วยความยุติธรรม แต่มีเพียงร้อยละ 26.7 ที่ระบุตำรวจเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานอย่าง ตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในด้านลบที่ประชาชนเจอ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ตำรวจแก้ปัญหาไม่จบ ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง รองลงมาคือ ร้อยละ 52.2 ระบุจำนวนตำรวจไม่เพียงพอ ร้อยละ 50.5 ระบุ อาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ ร้อยละ 32.8 ตำรวจขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัย และร้อยละ 21.7 ตำรวจไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส รองๆ ลงไปคือ ตำรวจพูดจา ข่มขู่ ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เช่น ดื่ม สุรา เล่นการพนัน และมีการเรียกเก็บผลประโยชน์

แต่เมื่อถามถึงระดับความพึงพอใจของประชาชนโดยภาพรวมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจระดับสถานี พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 46.2 พอใจ ร้อยละ 20.5 ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 18.3 ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 11.2 ไม่พอใจ และร้อยละ 3.8 ไม่มีความเห็น

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 เห็นด้วยที่ต้องปฏิรูประบบงานตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 23.6 ไม่เห็นด้วย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามฝ่ายตำรวจถึงปัญหาการปฏิบัติงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสถานีตำรวจในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา พบปัญหา 5 อันดับแรกว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 ระบุนโยบายกับการปฏิบัติงานจริงไม่สอดคล้องกัน ปัญหารองลงมาคือ ร้อยละ 54.8 ระบุมีปัญหาการวิ่ง เต้นขอตำแหน่ง (ยังคงมีตั๋วเด็กฝาก มีการให้ผลประโยชน์ผู้บังคับบัญชาระดับสูง) ร้อยละ 47.9 มีผู้บังคับบัญชามากเกินไป ร้อยละ 45.1 ระบุผู้ บังคับบัญชาไม่สนับสนุนในการปฏิบัติราชการ เช่นไม่อนุมัติงบประมาณ หรือวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน และร้อยละ 43.0 ระบุมีปัญหาผู้บังคับบัญชาไม่มี ความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ปัญหาทั่วไปของตำรวจระดับสถานีตำรวจใน 5 อันดับแรก คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ระบุงบประมาณ เช่น งบน้ำมันที่ ใช้ในงานสายตรวจ มีไม่มากพอ รองลงมาคือ ร้อยละ 84.6 ระบุอาวุธที่ใช้ประจำกาย ต้องหาซื้อมาด้วยเงินของตนเอง ร้อยละ 70.8 อะไรที่เป็น วัสดุอุปกรณ์ “ของหลวง” ไม่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอ ร้อยละ 69.7 มีปัญหาเรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย มาตรฐานต่างกัน และร้อยละ 66.0 ระบุ เพื่อนตำรวจที่ใช้อาวุธปืนประจำกายมีความหลากหลายของชนิดปืน

ที่น่าพิจารณาคือ ความรู้สึกหนักใจมากที่สุดในการรับราชการตำรวจในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 43.7 ได้แก่ ม็อบการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 21.3 ได้แก่ นโยบายของฝ่ายการเมืองกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน ในขณะที่ร้อยละ 20.6 ระบุยังคงมีตั๋วเด็กฝาก และรองๆ ลงไป คือ ทุจริต คอรัปชั่น เงินค่าตอบแทนตกไม่ถึงมือตำรวจชั้นผู้น้อย เจอคดีเกี่ยวข้องกับผู้ มีอิทธิพลและนักการเมือง และอื่นๆ เช่น การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้นาย ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และชีวิตส่วนตัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการร่วมปฏิรูประบบงาน ตำรวจให้ดีขึ้น พบว่า ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.8 และตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 เชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 46.2 ของประชาชนและ ร้อยละ 37.3 ในกลุ่มตำรวจไม่เชื่อมั่น ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวด้วยว่า จากแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการปฏิรูประบบงานตำรวจ ที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกสู่ กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาอย่างน้อยห้าประการ ดังนี้

ประการแรก ได้แก่ ปรับปรุงระบบค่าตอบแทนสวัสดิการและความก้าวหน้าให้ใกล้เคียงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม เดียวกัน

ประการที่สอง ได้แก่ ปรับปรุงการปฏิบัติงานตำรวจระดับสถานีตำรวจให้โดนใจ ได้ใจประชาชนทั้งเรื่องความเป็นธรรมดูแลความ ปลอดภัย ลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมและการให้บริการที่ประชาชนพอใจ

ประการที่สาม ได้แก่ คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ

ประการที่สี่ ได้แก่ สร้างเครือข่ายทางวิชาการเพื่อประเมินผลงานตำรวจระดับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ทั้งในด้านความพึงพอใจของ สาธารณชนและตัวชี้วัดอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรม

ประการที่ห้า ได้แก่ ปลอดจากการแทรกแซงการทำงานของตำรวจจากฝ่ายการเมืองและกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและระดับ พื้นที่ภาคต่างๆ ของประเทศ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างประชาชนร้อยละ 54.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.9 เป็นเพศชาย ร้อยละ 5.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.6 อายุ 20—29 ปี ร้อยละ 22.7 อายุ 30—39 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 40—49 ปี และร้อยละ 27.5 อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดย ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.1 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 26.3 ปริญญาตรี และร้อยละ 5.6 สูงกว่าปริญญาตรี นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 30.1 ระบุอาชีพค้าขาย อิสระ ร้อยละ 21.7 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 20.9 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.1 ระบุ อาชีพข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.3 เป็นนักเรียน นักศึกษา และร้อยละ 7.9 ระบุเป็นแม่บ้าน เกษียณอายุ ไม่ได้ประกอบอาชีพ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างตำรวจพบว่า ร้อยละ 11.2 อายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 40.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อย ละ 36.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 12.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 45.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อย ละ 50.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.1 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 80.1 ระบุเป็นตำรวจ ชั้นประทวน และร้อยละ 19.9 ระบุเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ตัวอย่างร้อยละ 63.4 ระบุปฏิบัติหน้าที่ในสายงานปราบปราม ร้อยละ 20.2 ระบุใน สายงานสอบสวน ร้อยละ 10.8 สายงานสืบสวน และร้อยละ 5.6 ระบุสายงานธุรการและอื่นๆ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์เคยใช้บริการที่สถานีตำรวจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          ประสบการณ์ของตัวอย่าง                                                      ค่าร้อยละ
1          เคยใช้บริการที่สถานีตำรวจ เช่น แจ้งความ เสียค่าปรับ ผู้ต้องหา พบญาติและเพื่อน เป็นต้น          48.7
2          ไม่เคยใช้                                                                      51.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์ทางบวกในการไปใช้บริการที่สถานีตำรวจ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา(ค่าร้อยละของ
ตัวอย่างประชาชนเฉพาะผู้ที่เคยรับบริการระดับสถานี และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ประสบการณ์ทางบวกในการไปใช้บริการที่สถานีตำรวจ                                 ค่าร้อยละ
1          เจ้าหน้าที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มเป็นมิตรกับประชาชน                                      72.5
2          ให้บริการที่ดี /ให้คำแนะนำที่ดี                                                       68.9
3          เจ้าหน้าที่เข้าถึงที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วฉับไว                                            63.6
4          เจ้าหน้าที่ขยันและตั้งใจทำงาน                                                       60.4
5          ตำรวจเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือประชาชน                                                54.7
6          เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยุติธรรม                                                    51.9
7          เจ้าหน้าที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานอย่างตรงไปตรงมา                 26.7

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์ทางลบในการไปใช้บริการที่สถานีตำรวจ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ค่าร้อยละของ
ตัวอย่างประชาชนผู้มารับบริการในระดับสถานี และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ประสบการณ์ทางลบในการไปใช้บริการที่สถานีตำรวจ              ค่าร้อยละ
1          แก้ปัญหาไม่จบ ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง                              63.4
2          จำนวนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เพียงพอ                        52.2
3          อาคาร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่เพียงพอ                    50.5
4          ตำรวจขาดวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย                                   32.8
5          ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส                                          21.7
6          เจ้าหน้าที่พูดจาคุกคาม ข่มขู่                                     10.6
7          ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เช่น ดื่มสุรา เล่นการพนัน                     8.5
8          มีการเรียกรับผลประโยชน์                                       5.9

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจระดับสถานีตำรวจ (ค่าร้อยละของ
ตัวอย่างประชาชนเฉพาะผู้ที่เคยรับบริการระดับสถานี)
ลำดับที่      ระดับความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจระดับสถานีตำรวจ          ค่าร้อยละ
1          พอใจ                                                                 46.2
2          ค่อนข้างพอใจ                                                           20.5
3          ไม่ค่อยพอใจ                                                            18.3
4          ไม่พอใจ                                                               11.2
5          ไม่มีความเห็น                                                            3.8
          รวมทั้งสิ้น                                                              100.0

ตารางที่  5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความความคิดเห็นต่อแนวทางปฏิรูประบบข้าราชการตำรวจ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย ที่ต้องปฏิรูประบบงานตำรวจ          76.4
2          ไม่เห็นด้วย                             23.6
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 6 แสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ระบุปัญหาด้านการปฏิบัติงานร่วมกับผู้บังคับบัญชา  ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ด้านการปฎิบัติงานร่วมกับผู้บังคับบัญชา                                             ค่าร้อยละ
1          นโยบายกับการปฏิบัติงานจริงไม่สอดคล้องกัน                                             69.3
2          การวิ่งเต้นขอตำแหน่ง (ยังคงมีตั๋วเด็กฝาก มีการให้ผลประโยชน์ผู้บังคับบัญชาระดับสูง)              54.8
3          มีผู้บังคับบัญชามากเกินไป                                                           47.9
4          ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนในการปฏิบัติราชการ อาทิ ไม่อนุมัติงบประมาณหรือวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน     45.1
5          ผู้บังคับบัญชาไม่มีความเป็นธรรม/เลือกปฏิบัติ                                             43.0

ตารางที่ 7 แสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ระบุปัญหาอุปสรรคในการทำงานโดยทั่วไป   ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบ
ได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ปัญหาอุปสรรคในการทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          งบประมาณ เช่น งบน้ำมันที่ใช้ในงานสายตรวจ มีไม่มากพอ            87.9
2          อาวุธที่ใช้ประจำกาย ต้องหาซื้อมาด้วยเงินของตนเอง                84.6
3          อะไรที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ “ของหลวง” ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ          70.8
4          การตีความตัวบทกฎหมาย มาตรฐานต่างกัน                        69.7
5          เพื่อนตำรวจที่ใช้อาวุธปืนประจำกายมีความหลากหลายของชนิดปืน        66.0

ตารางที่ 8  แสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระบุ ความรู้สึกหนักใจมากที่สุด ในการรับราชการตำรวจ
ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          เรื่องที่หนักใจมากที่สุดในการรับราชการตำรวจ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา            ค่าร้อยละ
1          ม็อบการเมือง และความแตกแยกของคนในชาติ                                   43.7
2          นโยบายของฝ่ายการเมืองกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน                           21.3
3          ยังคงมีตั๋วเด็กฝาก                                                        20.6
4          ทุจริต คอรัปชั่น  เงินค่าตอบแทนตกไม่ถึงมือตำรวจชั้นผู้น้อย                           7.2
5          เจอคดีเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง                                    5.7
6          อื่นๆ เช่น การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้นาย ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และชีวิตส่วนตัว    1.5
          รวมทั้งสิ้น                                                              100.0

ตารางที่  9  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างเปรียบเทียบ ความเชื่อมั่นของประชาชนและข้าราชการตำรวจต่อ พล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะปฏิรูประบบงานตำรวจให้ดีขึ้น
ลำดับที่          ความเชื่อมั่นของตัวอย่าง      ประชาชน       ตำรวจ
1          เชื่อมั่น                        53.8          62.7
2          ไม่เชื่อมั่น                      46.2          37.3
          รวมทั้งสิ้น                      100.0         100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ