เอแบคโพลล์: สำรวจสาเหตุสำคัญ ทำไมประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน

ข่าวผลสำรวจ Monday January 10, 2011 07:22 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจสาเหตุสำคัญ ทำไมประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส สงขา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,249 ตัวอย่าง โดยดำเนินการในช่วง 1 — 8 มกราคม 2554 ผลการสำรวจพบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 ระบุมีระบบต่างตอบแทนบุญคุณกันในกลุ่มข้าราชการ โดยร้อยละ 51.8 ระบุว่ามีเหมือนเดิม ร้อยละ 25.9 ระบุว่ามีมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 22.3 ระบุว่าลดลง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.7 พบเห็นการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร้อยละ 49.6 พบเห็นเหมือนเดิม ร้อยละ 30.1 พบเห็นมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 20.3 พบเห็นลดน้อยลง

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ระบุมีการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพรรคพวกของตนเอง โดยร้อยละ 49.0 ระบุมีเหมือนเดิม ร้อยละ 34.7 ระบุมีมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 16.3 ระบุลดลง

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 74.7 มองว่ามีการครอบครองที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศโดยคนตระกูลใหญ่ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม โดยร้อยละ 43.3 ระบุมีเหมือนเดิม ร้อยละ 31.4 มองว่ามีมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 25.3 มองว่า ลดลง แต่ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ระบุมีการฉ้อราษฎร์ (เจ้าหน้าที่รัฐโกง รีดไถประชาชน) และบังหลวง (เจ้าหน้าที่รัฐครอบครอง ยักยอกถ่ายเททรัพย์สินของหลวง) โดยร้อยละ 47.4 ระบุมีเหมือนเดิม และร้อยละ 25.9 ระบุมีมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 26.7 ระบุลดน้อยลง

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 ได้ยินเรื่องการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร้อยละ 45.0 ได้ยินเหมือนเดิม ร้อยละ 31.0 ได้ยินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 24.0 ได้ยินลดน้อยลง เมื่อถามว่า ยังคงพบเห็นระบบเด็กเส้น ตระกูลดังในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 ระบุพบเห็น โดยร้อยละ 43.0 พบเห็นเหมือนเดิม และร้อยละ 41.0 พบเห็นมากขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 16.0 พบเห็นลดลง

ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.6 พบการรีดไถประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร้อยละ 42.7 พบเหมือนเดิม ร้อยละ 20.9 พบเห็นมากขึ้น และร้อยละ 36.4 พบเห็นลดน้อยลง เมื่อถามถึงการพบเห็นการข่มขู่ คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่า เกินกว่าครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 54.2 พบเห็นการข่มขู่ คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร้อยละ 39.4 พบเห็นเหมือนเดิม ร้อยละ 14.8 พบเห็นมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 45.8 พบเห็นลดน้อยลงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.0 ระบุชาวบ้านรากหญ้า ยังคงมีความทุกข์ใจเดือดร้อน โดยร้อยละ 38.0 ระบุยังมีความทุกข์เดือดร้อนเหมือนเดิม และร้อยละ 48.0 ระบุเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 14.0 ระบุลดลง

แต่ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อคุณภาพของข้าราชการ ภายหลังมีระบบประเมินการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ พบว่า ร้อยละ 33.2 ระบุแย่เหมือนเดิม ร้อยละ 17.4 ระบุแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 26.8 ระบุดีเหมือนเดิม และร้อยละ 22.6 ระบุดีขึ้น

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อประโยชน์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.0 ระบุนักการเมืองได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 32.0 คิดว่าเป็นการแก้ไขรํฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ดร.นพดล กล่าวว่า ความคิดเห็นและประสบการณ์ของประชาชนที่ค้นพบในผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นสาเหตุสำคัญว่า ทำไมประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น การเน้นเศรษฐกิจเมืองมากกว่าเศรษฐกิจชุมชน มีการทุจริตคอรัปชั่น มีระบบต่างตอบแทนบุญคุณกัน มีการฉ้อราษฏร์ บังหลวง มีระบบเด็กเส้น ตระกูลดัง เป็นต้น ดังนั้น ทางออกคือ

1) เน้นหนักการพัฒนา “เศรษฐกิจชายขอบ” ของสังคม โดยเร่งกระจายที่ดิน ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสครอบครองทรัพยากรเป็นของตนเองในชุมชนท้องถิ่นท้องที่ต่างๆ โดยไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนเฉพาะกลุ่ม

2) รัฐบาลน่าจะมีโครงการนำร่องพัฒนาธุรกิจการเกษตรแบบผสมผสานให้ครบวงจรเป็นตัวอย่างกับชุมชนอื่นๆ เช่น ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเอง ทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรกับทีมงานบริหารจัดการมืออาชีพด้านการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การตลาด และการพัฒนาที่ยั่งยืนลงพื้นที่ทำธุรกิจร่วมกันให้เป็นตัวอย่างชุมชนอื่นๆ ของประเทศ

3) ยกเครื่องระบบ หรืออาจจะยกเลิกระบบการประเมินคุณภาพข้าราชการที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มข้าราชการจำนวนมากพบว่า พวกเขาต้องสูญเสียเวลามากเกินไปกับการทำตามตัวชี้วัดที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและหน่วยงานของพวกเขาโดยส่วนรวม และบางหน่วยงานเวลามีประเมินแต่ละครั้งก็สร้างข้อมูลเท็จ ตกแต่งตัวเลขบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

4) ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นหน่วยงานราชการต่างๆ ด้วยการปฏิรูประบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ให้เป็นแบบ ครบวงจรและเชื่อมโยงแบบ online ถึงทุกหน่วยงานราชการเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน แบบ One Stop Service เพื่อให้ประชาชนไปเพียงที่เดียว หน่วยงานต่างๆ ก็จะทราบทั่วกันในการหาแนวทางแก้ไขความทุกข์เดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของตำรวจ เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย และทำเนียบรัฐบาล เพราะทุกหน่วยงานมีโทรศัพท์สายด่วน เมื่อชาวบ้านเกิดปัญหาจะร้องเรียน ก็จะไม่ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เรื่องเงียบหายไป หรือมีการโยนความเดือดร้อนของประชาชนกันไปมาให้พ้นตัว นอกจากนี้ น่าจะให้ข้าราชการที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เป็นกลุ่มคนที่เก่งและดี มีค่าตอบแทนให้สูงเป็นพิเศษ แต่ถ้าโยกย้ายกลุ่มข้าราชการที่ถูกลงโทษลงทัณฑ์หรือไม่รู้จะโยกย้ายไปไหนให้มาอยู่ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ก็จะเกิดความขุ่นข้องหมองใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐว่า คนรับเรื่องราวร้องทุกข์ก็กำลังมีทุกข์จะไปช่วยปลดทุกข์ชาวบ้านได้อย่างไร

5) เร่งทำให้การแก้ปัญหาทุจริต คอรัปชั่นมีประสิทธิภาพโดยทำให้กลไกของรัฐในเวลานี้มีความสมบูรณ์เช่น สำนักงาน ปปท. ที่เน้นการแก้ปัญหาการทุจริตในภาครัฐของกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย เนื่องจากสำนักงาน ปปท. ยังขาดองค์ประกอบคณะกรรมการที่สมบูรณ์เพราะติดปัญหาการพิจารณาคณะบุคคลของฝ่ายการเมืองและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การทำงานแต่ละครั้งต้องอาศัยการพึ่งพาหน่วยงานอื่นๆ ขาดความคล่องตัว ส่งผลให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นยังคงมีเหมือนเดิมและเพิ่มมากขึ้น

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่าง         ร้อยละ 50.7  เป็นหญิง

ร้อยละ 49.3 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 15.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 17.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 41.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 73.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือ ร้อยละ 22.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 36.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 16.9 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ

ร้อยละ 11.2 ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัท

ร้อยละ 14.5 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 10.5 ระบุอาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 8.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 2.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อเจ้าหน้าทั่ฐในปัจจุบัน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบัน                           เพิ่มขึ้น %     เหมือนเดิม %      ลดลง %
1          มีระบบต่างตอบแทนบุญคุณกันในกลุ่มเข้าราชการ                         25.9          51.8          22.3
2          การพบเห็นการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ                        30.1          49.6          20.3
3          มีการแต่งตั้งโยกย้าย เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพรรคพวกของตนเอง               34.7          49.0          16.3
4          ที่ดิน ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกครอบครองโดยคนตระกูลใหญ่ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม   31.4          43.3          25.3
5          มีการฉ้อราษฎร์   บังหลวง                                       25.9          47.4          26.7
6          ได้ยินเรื่องการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ                  31.0          45.0          24.0
7          พบเห็นระบบเด็กเส้น ตระกูลดัง ในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ                     41.0          43.0          16.0
8          พบการรีดไถประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ                               20.9          42.7          36.4
9          พบเห็นการข่มขู่ คุกคาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ                             14.8          39.4          45.8
10          ชาวบ้านรากหญ้ายังคงมีความทุกข์ใจ เดือดร้อน                        48.0          38.0          14.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อคุณภาพของข้าราชการ หลังมีระบบประเมินการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                     22.6
2          ดีเหมือนเดิม               26.8
3          แย่เหมือนเดิม              33.2
4          แย่ลง                    17.4
          รวมทั้งสิ้น                 100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ          ค่าร้อยละ
1          เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน                     32.0
2          เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง                             68.0
          รวมทั้งสิ้น                                            100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ