ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เอแบคเรียลไทม์โพลล์ ที่เป็นการสุ่มตัวอย่างครัวเรือนจากฐานข้อมูล 20 ล้านครัวเรือนของประเทศ ครั้งนี้ เรื่อง เชื่อมั่น “แผนประชาวิวัฒน์” กับนายกฯ อภิสิทธิ์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่ชมถ่ายทอดสดอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี เลย มหาสารคาม สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น ยะลา ปัตตานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,138 ตัวอย่าง โดยดำเนินการในช่วง 9 มกราคม 2554 ผลการสำรวจพบว่า
ผู้ชมรายการสดที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 ระบุว่า ได้รับความชัดเจนในแผนประชาวิวัฒน์ จากการชมรายการสดเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ในเรื่อง การช่วยลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง รองลงมาหรือร้อยละ 62.5 ได้รับความชัดเจนในเรื่องการช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน การประกอบอาชีพ ของกลุ่มอาชีพ แท็กซี่ รถรับจ้าง หาบเร่ แผงลอย และร้อยละ 62.0 ได้รับความชัดเจนในเรื่องหลักประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชมรายการสดไม่ได้รับความชัดเจนในแผนประชาวิวัฒน์ที่ตนเองคาดหวังไว้ว่าจะได้ยินความชัดเจน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือ ร้อยละ 56.6 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการกระจายที่ดินและโฉนดชุมชน และร้อยละ 49.1 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 ระบุว่า เรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินในรายการสดเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ล่าสุดนี้เป็นเรื่องเก่าที่เคยได้ยินมาแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 31.3 ระบุเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้ยิน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชมรายการสดส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 เชื่อมั่นต่อคณะทำงานในการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงไม่เลือกปฏิบัติให้กลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม แต่ร้อยละ 32.7 ไม่เชื่อมั่น
ดร.นพดล กล่าวว่า แผนประชาวิวัฒน์ครั้งนี้คาดว่าจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยจะส่งผลให้เกิดความนิยมต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ “กลุ่มพลังเงียบ” ที่ไม่เคยได้รับอะไรจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ และน่าจะได้กลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลบางส่วนมาในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประกาศไว้ในแผนประชาวิวัฒน์เวลานี้ส่วนใหญ่จะได้แค่ความรู้สึกทางจิตวิทยาเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะจับต้องสิ่งที่ประกาศออกมาได้เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามมีความน่าห่วงใยอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1) ความไม่ยั่งยืนในนโยบาย 2) ความอ่อนแอในกลุ่มประชาชนที่คอยแต่จะรับสิ่งที่รัฐบาลจะให้ และ 3) “ความเท็จ” ที่จะมีการปั่นตัวเลขรายงานถึงความสำเร็จในโครงการต่างๆ ทางออกคือข้อเสนอ 3 เร่ง ได้แก่ 1) เร่งหามาตรการสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน เช่น มีโครงการนำร่องของทีมบริหารมืออาชีพทำงานร่วมกับคนในชุมชนเป้าหมายติดตามตรวจสอบว่าแผนประชาวิวัฒน์ทำให้เกิดความเข้มแข็งในหมู่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน 2) เร่งกระจายทรัพยากรให้ประชาชนและชุมชนได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ทำกินโดยเร็ว และ 3) เร่งแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเลือกปฏิบัติในมาตรการต่างๆ ตามแผนประชาวิวัฒน์ครั้งนี้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่าตัวอย่างร้อยละ 57.1 เป็นหญิง
ร้อยละ 42.9 เป็นชาย
ตัวอย่าง ร้อยละ 7.2 อายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 9.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี
ร้อยละ 15.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี
ร้อยละ 19.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี
และร้อยละ 48.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 67.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 28.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 4.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 25.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 15.9 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน
ร้อยละ 10.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 8.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ร้อยละ 5.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ในขณะที่ร้อยละ 2.4 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง
ลำดับที่ “ความชัดเจน” ในแผนประชาวิวัฒน์ ค่าร้อยละ 1 ลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง 73.0 2 ช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน การประกอบอาชีพ ของกลุ่มอาชีพ แท็กซี่ รถรับจ้าง หาบเร่ แผงลอย 62.5 3 หลักประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ 62.0 ตารางที่ 2 แสดง 3 อันดับแรกค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ “ความไม่ชัดเจน” ในแผนประชาวิวัฒน์ จากการชมรายการสดเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ลำดับที่ “ความไม่ชัดเจน” ในแผนประชาวิวัฒน์ ค่าร้อยละ 1 แก้ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น 66.3 2 กระจายที่ดินและโฉนดชุมชน 56.6 3 แก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 49.1 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับฟัง/รับชมรายการเชื่อมั่นประเทศไทยที่ได้รับชมเมื่อวัน อาทิตย์ที่ผ่านมา (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่ติดตาม) ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้ยิน 31.3 2 เป็นเรื่องเก่าที่เคยได้ยินมาแล้ว 68.7 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อคณะทำงาน ในการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เลือกปฏิบัติ เอื้อ ประโยชน์ให้กับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม (ค่าร้อยละเฉพาะผู้ที่ติดตาม) ลำดับที่ ความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ 1 เชื่อมั่น 67.3 2 ไม่เชื่อมั่น 32.7 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--