เอแบคโพลล์: บทบาทของ “ครู” กับ ความหวาดกลัว และความทุกข์ของเด็ก

ข่าวผลสำรวจ Monday January 17, 2011 07:38 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง บทบาทของ “ครู” กับ ความหวาดกลัว และความทุกข์ของเด็ก กรณีศึกษานักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (ชั้น ม.1 - ม.6) ในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านกระบวนการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น (Multi-Stage Stratified Sample Selection) จำนวนทั้งสิ้น 1,021 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 15 มกราคม 2554 ผลการสำรวจพบว่า

เด็กนักเรียนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 คิดว่าคุณครูคาดหวังต่อความสำเร็จของนักเรียนมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 23.6 คาดหวังปานกลาง และร้อยละ 5.9 คาดหวังน้อยถึงน้อยที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 39.9 ระบุบทบาทของครูทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ความแตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความขัดแย้งมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 30.0 ระบุระดับปานกลาง

ที่น่าเป็นห่วงคือ ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 ระบุคุณครูมักจะเรียกนักเรียนคนเดิมๆ ที่เก่งให้มีส่วนร่วมในการแสดงออกในชั้นเรียนมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุระดับปานกลาง และร้อยละ 17.9 ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ร้อยละ 50.3 ยังระบุด้วยว่า คุณครูสอนให้รู้สึกกลัว ในขณะที่ร้อยละ 49.7 ไม่คิดเช่นนั้น

และเมื่อถามถึงความทุกข์ของนักเรียนในการเรียน พบว่า ร้อยละ 29.7 ทุกข์ในการเรียนมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 21.3 ทุกข์ระดับปานกลาง และร้อยละ 48.0 ทุกข์ในการเรียนน้อยถึงน้อยที่สุด

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ความกลัวเป็นอุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้และการศึกษาของนักเรียน การทำให้เด็กรู้สึกกลัวจะเป็นเสมือนประตูปิดกั้นระหว่างครูกับนักเรียน ผลที่ตามมาคือ เด็กนักเรียนจะรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียน และก่อให้เกิดอคติต่อคุณครู ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณครูเลือกปฏิบัติโดยเรียกเด็กที่เก่งคนเดิมๆ ให้แสดงออกมีส่วนร่วมเป็นประจำ จะยิ่งเป็นการสร้างกำแพงกั้นระหว่างคุณครูกับเด็กให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนที่เปิด “โอกาส” ให้เด็กนักเรียนอย่างเท่าเทียมในการแสดงออกมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และการทำให้เด็กรู้สึกว่า “เป็นเจ้าของ” สิ่งประดิษฐ์หรือผลผลิตทางการเรียนของพวกเขาน่าจะช่วยนำพาระบบการศึกษาของไทยไปสู่การปฏิรูปที่เด็กนักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัตินำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 55.3 เป็นหญิง และร้อยละ 44.7 เป็นชาย ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 12-13 ปี ร้อยละ 34.5 อายุ 14-15 ปี ร้อยละ 31.1 อายุ 16-17 ปี ร้อยละ 8.9 อายุ 18-19 ปี ตัวอย่างร้อยละ 16.8 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.1 ร้อยละ 20.0 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.2 ร้อยละ 16.5 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.3 ร้อยละ 16.1 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.4 ร้อยละ 15.2 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.5 และร้อยละ 15.1 กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.6 เมื่อสอบถามถึงเงินที่ได้มาโรงเรียน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 14.4 ได้เงินมาวันละไม่เกิน 50 บาท/วัน ร้อยละ 65.4 ระบุได้ 51-100 บาท/วัน ร้อยละ 13.4 ระบุได้ 101-150 บาท/วัน ร้อยละ 6.8 ระบุได้มากกว่า 150 บาท/วัน ตัวอย่างร้อยละ 0.9 คิดว่าครอบครัวมีฐานะทางการเงินร่ำรวยมา เมื่อเอาของทุกคนในครอบครัวมารวมกัน ร้อยละ 6.3 ระบุร่ำรวย ร้อยละ 66.6 ระบุค่อนข้างร่ำรวย ร้อยละ 25.3 ระบุค่อนข้างยากจน ร้อยละ 0.9 ระบุยากจน ตัวอย่างร้อยละ 5.2 ใช้ภาษาเหนือในการสื่อสารภายในครอบครัว ร้อยละ 11.5 ใช้ภาษาอีสาน ร้อยละ 93.1 ใช้ภาษากลาง ร้อยละ 4.7 ใช้ภาษาใต้ ร้อยละ 4.5 ใช้ภาษาจีน และร้อยละ 3.0 ใช้ภาษาอื่น ๆ เช่นภาษาฮินดู

ตารางที่ 1 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคาดหวังของครูต่อความสำเร็จของนักเรียน
ลำดับที่          ความคาดหวังของครูต่อความสำเร็จของนักเรียน   ค่าร้อยละ
1          มาก ถึง มากที่สุด                              70.5
2          ปานกลาง                                    23.6
3          น้อยถึงน้อยที่สุด                                 5.9
          รวมทั้งสิ้น                                     99.9

ตารางที่ 2 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ บทบาทของครูทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ความแตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
ลำดับที่          บทบาทของครูทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ความแตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความขัดแย้ง         ค่าร้อยละ
1          มาก ถึง มากที่สุด                                                            39.9
2          ปานกลาง                                                                  30.0
3          น้อยถึงน้อยที่สุด                                                              30.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

ตารางที่ 3 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ คุณครูมักจะเรียกนักเรียนคนเดิมๆ ที่เก่งให้มีส่วนร่วมในการแสดงออกในชั้นเรียน
ลำดับที่          คุณครูมักจะเรียกนักเรียนคนเดิมๆ ที่เก่งให้มีส่วนร่วมในการแสดงออกในชั้นเรียน         ค่าร้อยละ
1          มาก ถึง มากที่สุด                                                            50.0
2          ปานกลาง                                                                  32.1
3          น้อยถึงน้อยที่สุด                                                              17.9
          รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

ตารางที่ 4 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการสอนของคุณครู
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          คุณครูสอนให้รู้สึกกลัว                    50.3
2          ไม่คิดเช่นนั้น                          49.7
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 5 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความทุกข์ในการเรียนของนักเรียน
ลำดับที่          ความทุกข์ในการเรียนของนักเรียน          ค่าร้อยละ
1          มากถึงมากที่สุด                              29.7
2          ปานกลาง                                  21.3
3          น้อยถึงน้อยที่สุด                              48.0
          รวมทั้งสิ้น                                  100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ