เอแบคโพลล์: ความรู้ ความเข้าใจของเด็ก-เยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชาและความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา

ข่าวผลสำรวจ Wednesday February 16, 2011 10:59 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้ ความเข้าใจของเด็ก-เยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชาและความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนอายุ 12-24 ปีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,325 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10—12 กุมภาพันธ์ 2554 ผลการสำรวจ พบว่ามีเพียงร้อยละ 34.6 ทราบและระบุได้ถูกต้อง ว่าวันมาฆบูชาตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร้อยละ 65.4 ไม่ทราบ

ผลสำรวจเมื่อสอบถามการรับรู้ในหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชานั้น พบว่ามีตัวอย่างเพียง ร้อยละ 37.3 เท่านั้นที่สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าคือ “โอวาทปาฏิโมกข์” ในขณะที่ตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 คือร้อยละ 62.7 ไม่ทราบ/ระบุไม่ถูกต้อง ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เมื่อได้สอบถามต่อไปว่าหลักธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึงอะไรนั้นพบว่า มีอยู่เพียงร้อยละ 27.7 เท่านั้นที่สามารถสรุปใจความสำคัญของหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้องว่าหมายถึง “การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” นอกจากนั้นคือร้อยละ 12.9 ระบุความหมายของโอวาทปาติโมกข์ในแบบอื่นๆ อาทิ หมายถึง การเดินทางสายกลาง การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในขณะที่ร้อยละ 51.0 ระบุถูกทุกข้อที่กล่าวมา และร้อยละ 8.4 ระบุไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร

สำหรับกิจกรรมที่จะทำในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 72.2 ระบุจะทำบุญตักบาตร ร้อยละ 50.9 ระบุร่วมพิธีเวียนเทียน ร้อยละ 42.0 ระบุใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และรอง ๆ ลงมา คือ ถวายสังฆทาน ทำความสะอาดบ้านเรือน ปล่อยนก ปล่อยปลา บริจาค ทำทานสงเคราะห์ผู้อื่น เข้าวัดฟังธรรม นั่งสมาธิ เจริญภาวนา และช่วยงานชุมชน/สาธารณะ เป็นต้น

สำหรับพฤติกรรมที่เยาวชนไทยตั้งใจจะลด ละ เลิกในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ ได้แก่ เลิกนิสัยการพูดไม่ดี เช่น พูดปด โกหก นินทาว่าร้าย พูดส่อเสียด ไร้สาระ เป็นต้น ลดการดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ เลิกเล่นการพนัน/อบายมุข เลิกลักเล็กขโมยน้อย เลิกขี้เกียจ เลิกใช้ยาเสพติด เลิกทำสิ่งผิดกฎหมาย เลิกทะเลาะวิวาทกับคนอื่น/ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น

ที่น่าพิจารณา คือ สิ่งที่เยาวชนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา พบว่า ร้อยละ 65.7 ระบุจัดให้มีงานนิทรรศการ/กิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญเป็นประจำ ร้อยละ 32.9 ระบุรณรงค์ให้กลุ่มเยาวชนหันมาสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาให้มากขึ้น อาทิ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ถือศีล 5 เป็นต้น ร้อยละ 15.5 ระบุจัดสรรงบประมาณในการบำรุงรักษา ศาสนสถานต่าง ๆ ร้อยละ 1.5 ดูแลพระภิกษุ/สามเณรไม่ให้ทำผิดศีลธรรม และร้อยละ 1.4 ระบุอื่น ๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัยภายในวัด/ให้จัดกิจกรรมในวัดให้มากขึ้น เป็นต้น

กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ มีจำนวนมากกว่า กลุ่มเด็กที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา คือ ร้อยละ 43.2 ต่อร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 27.3 ให้ความสำคัญเท่ากันทั้ง 2 วัน และร้อยละ 23.1 ไม่มีความเห็น

ดร.นพดล ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ความรู้ความเข้าใจและการให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนต่อวันมาฆบูชาอยู่ในเกณฑ์น้อย และเมื่อพิจารณาด้านการประพฤติปฏิบัติตนทางศาสนาแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะเด็กมีความตั้งใจน้อยมากในเรื่องการเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม และการนั่งสมาธิเจริญภาวนา นอกจากนี้ เด็กบางส่วนตั้งใจจะ ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดีไม่งามในวันมาฆบูชา แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับไปทำผิดซ้ำอีก เพราะสภาพแวดล้อมชุมชน สถานศึกษา สื่อมวลชน การโฆษณา กลุ่มเพื่อน ความเคยชิน และครอบครัว เป็นปัจจัยชี้ชวนนำที่มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันและผู้ใหญ่ในสังคมให้ความสำคัญกับระบบคุณธรรม หลักศาสนาของทุกศาสนา กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนแปลงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมความตระหนักและจิตสำนึก สู่แนวทางปฏิบัติในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่สำคัญและมีผลชี้นำชี้แนะที่สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก สถาบันสื่อมวลชนจึงน่าที่จะช่วยกันรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจวันสำคัญทางศาสนา และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ดีไม่ใช่มีแต่เพียงความตั้งใจเท่านั้น นอกจากนี้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ทั้งหลายควรใช้โอกาสวันมาฆบูชานี้ทำให้ความตั้งใจของเด็กและเยาวชนบรรลุถึงกิจกรรมที่ดีได้ โรงเรียนและชุมชนควรจัดสร้างบรรยากาศของการทำความดีให้เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตรร่วมกัน การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น ผลที่ตามมาก็คือ เด็กและเยาวชนของสังคมน่าจะสามารถบรรลุถึงความสำเร็จในการทำกิจกรรมที่ดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดร.นพดล กล่าว

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 49.8 เป็นชาย

ร้อยละ 50.2 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 26.5 อายุระหว่าง 12-15 ปี

ร้อยละ 23.0 อายุระหว่าง 16-18 ปี

ร้อยละ 28.0 อายุระหว่าง 19-21 ปี

และร้อยละ 22.5 อายุระหว่าง 22-24 ปี

และกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 1.0 ระบุไม่ได้เรียนหนังสือเลย

ร้อยละ 1.5 ระบุเคยเรียนแต่เลิกเรียนแล้ว

ร้อยละ 5.5 ระบุเป็นนักเรียน แต่ตอนนี้ถูกพักการเรียน

ร้อยละ 83.2 ระบุเป็นนักเรียนกำลังเรียนอยู่

และร้อยละ 8.8 ระบุเรียนจบแล้วตามลำดับ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับรู้/รับทราบว่าวันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงนี้ตรงกับวันและเดือนอะไร
ลำดับที่          การรับรู้/รับทราบ                              ค่าร้อยละ
1          ทราบและระบุได้ถูกต้อง ว่าตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์          34.6
2          ไม่ทราบ                                           65.4
          รวมทั้งสิ้น                                          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับทราบว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงในวันมาฆบูชา
ลำดับที่          การรับทราบหลักธรรมคำสอน                                        ค่าร้อยละ
1          รับทราบและสามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่า คือ  โอวาทปาฏิโมกข์ ***               37.3
2          ไม่ทราบ/ระบุไม่ถูกต้อง                                                  62.7
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่สรุปใจความสำคัญของหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา
(เฉพาะผู้ที่ตอบหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชาถูกต้อง คือ โอวาทปาฏิโมกข์)
ลำดับที่          สรุปใจความสำคัญของหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา          ค่าร้อยละ
1          การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ***                              27.7
2          การเดินทางสายกลาง                                                       4.6
3          การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท                                             5.2
4          ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป                                               3.1
5          ถูกทุกข้อ                                                                51.0
6          ไม่ทราบ                                                                 8.4
          รวมทั้งสิ้น                                                               100.0

หมายเหตุ *** เป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้      ค่าร้อยละ
1          ทำบุญตักบาตร                                      72.2
2          ร่วมพิธีเวียนเทียน                                   50.9
3          ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว                               42.0
4          ถวายสังฆทาน                                      31.4
5          ทำความสะอาดบ้านเรือน                              30.5
6          ปล่อยนก ปล่อยปลา                                  29.1
7          บริจาค ทำทานสงเคราะห์ผู้อื่น                          23.4
8          เข้าวัดฟังธรรม                                     19.9
9          นั่งสมาธิ เจริญภาวนา                                17.9
10          ช่วยงานชุมชน/สาธารณะ                             10.9

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พฤติกรรมที่ตั้งใจจะ ลด- ละ - เลิก”ในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          พฤติกรรมที่ตั้งใจจะ “ลด- ละ - เลิก” ในวันมาฆบูชา                    ค่าร้อยละ
1          เลิกนิสัยการพูดไม่ดี เช่น พูดปด โกหก นินทาว่าร้าย พูดส่อเสียด ไร้สาระ            51.9
2          ลดการดื่มเหล้า                                                       50.6
3          เลิกสูบบุหรี่                                                          15.2
4          เลิกเล่นการพนัน/อบายมุข                                               12.4
5          เลิกลักเล็กขโมยน้อย                                                   11.0
6          เลิกขึ้เกียจ                                                           4.4
7          เลิกใช้ยาเสพติด                                                       2.8
8          เลิกทำสิ่งผิดกฎหมาย                                                    1.8
9          เลิกทะเลาะวิวาทกับคนอื่น/ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน                                 0.8

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา                                   ค่าร้อยละ
1          จัดให้มีงานนิทรรศการ/กิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญเป็นประจำ                                           65.7
2          รณรงค์ให้กลุ่มเยาวชนหันมาสนใจและเข้าร่วมกิจจกรรมทางศาสนาให้มากขึ้น อาทิ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ถือศีล5 เป็นต้น 32.9
3          จัดสรรงบประมาณในการบำรุงรักษาศาสนสถานต่าง ๆ                                                   15.5
4          ดูแลพระภิกษุ/สามเณร ไม่ให้ทำผิดศีลธรรม                                                            1.5
5          อื่น ๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัยภายในวัด/ให้จัดกิจกรรมในวัดให้มากขึ้น เป็นต้น                              1.4

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ความสำคัญระหว่าง “วันมาฆบูชา” และ “วันวาเลนไทน์”
ลำดับที่          การให้ความสำคัญระหว่าง “วันมาฆบูชา” และ “วันวาเลนไทน์”          ค่าร้อยละ
1          ให้ความสำคัญ “วันมาฆบูชา” มากกว่า                                  43.2
2          ให้ความสำคัญ “วันวาเลนไทน์” มากกว่า                                 6.4
3          ให้ความสำคัญเท่ากันทั้ง 2 วัน                                        27.3
4          ไม่มีความเห็น                                                    23.1
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ