เอแบคโพลล์: ความรู้ ความเข้าใจ และเสียงเรียกร้องของเกษตรกรต่อ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ

ข่าวผลสำรวจ Monday February 21, 2011 07:45 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายวรภัทร ปราณีประชาชน นักศึกษาสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ และเสียงเรียกร้องของเกษตรกรต่อ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างเกษตรกร ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ พะเยา พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,271 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 15 - 19 กุมภาพันธ์ 2554 ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ เกษตรกรจำนวนมากหรือประมาณ 1 ใน 3 ที่ยังไม่รู้ว่ามี พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในขณะที่ร้อยละ 66.4 รู้ว่ามี พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.7 ไม่เคยอ่าน พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่เคยอ่าน

เมื่อสอบถามเกษตรกรที่เคยอ่าน พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 55.8 ไม่ทราบสาระสำคัญของ พรบ.เกษตรกรแห่งชาติ ในขณะที่ร้อยละ 44.2 ทราบ

ที่น่าพิจารณาคือ ความเห็นของเกษตรกรส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.0 ระบุว่า สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติควรเป็นเกษตรกรกลุ่มอิสระระดับท้องถิ่นที่รวมกลุ่มกันตั้งขึ้นเองทั้งหมด รองลงมาคือ ร้อยละ 25.0 ระบุว่า ควรเป็นกลุ่มที่ผสมกันแต่มีสัดส่วนของการรวมกลุ่มกันตั้งขึ้นมามากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 4.3 เท่านั้นที่ระบุว่าควรถูกพิจารณาจากรัฐทั้งหมด และร้อยละ 1.7 ระบุเป็นกลุ่มที่ผสมกัน แต่มีสัดส่วนของการพิจารณาจากรัฐมากกว่า

สำหรับปัญหาที่ต้องการให้ สภาเกษตรกรแห่งชาติแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 82.9 ระบุเป็นปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อันดับสองหรือร้อยละ 72.9 ได้แก่ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และอันดับสามหรือร้อยละ 72.3 ได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกิน ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.1 ระบุปัญหาหนี้สิน และร้อยละ 52.4 ระบุขาดผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำปรึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ร้อยละ 52.0 ที่ระบุปัญหาขาดความรู้ด้านการหาแหล่งตลาดซื้อขายสินค้าใหม่ๆ และรองๆ ลงไปคือ ขาดความรู้และการปรับปรุงเรื่องบรรจุผลิตภัณฑ์สินค้า ปัญหาขาดสวัสดิการและการรักษาพยาบาลและปัญหาขาดการศึกษาของบุตร ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 25.0 เท่านั้นที่เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการแก้ปัญหาที่ทำกินของเกษตรกรของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 45.6 เชื่อมั่นปานกลาง และร้อยละ 29.4 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย

นายวรภัทร ปราณีประชาชน นักศึกษามหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติถือเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ให้เกษตรกรที่ดี ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนต่างๆ และจะช่วยเพิ่มอำนาจและประสิทธิภาพในการต่อรอง และประโยชน์อื่นๆ ของเกษตรกรและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรต่อ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในร่าง พรบ. นี้ โดยเกษตรกรมากกว่าร้อยละเก้าสิบ ไม่เคยอ่านพรบ.ฉบับนี้ และมากกว่าครึ่งไม่ทราบถึงสาระสำคัญ ซึ่งสาเหตุหลักอาจมาจากการขาดผู้แทน ทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรอิสระในการเป็นตัวเชื่อมในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ

“เพื่อให้พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับใช้และประเมินผลของ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ และตัวแทนองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรคำนึงถึงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในเชิงรุก (Active Participation) ในการออกความคิดเห็น เรียกร้องโครงการต่างๆ และวิจารณ์แนวทางการพัฒนาในชุมชมของตน เพื่อให้มีการพัฒนาจากพื้นฐาน (Bottom-Up Approach) และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง โดยตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออำนาจการต่อรองของเกษตรกรและการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในเชิงรุก ทั้งนี้ ผลสำรวจบงชี้ว่าเกษตรกรเกือบร้อยละเจ็ดสิบ ไม่เคยไปเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฉะนั้นเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ต้องสนับสนุนให้คนในพื้นที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไปในอนาคต” นายวรภัทร กล่าว

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา      ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        48.0
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        20.2
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                        15.9
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                      8.3
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          7.6
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับรู้ต่อ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
ลำดับที่          การรับรู้ต่อ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ                  ค่าร้อยละ
1          รับรู้ว่ามี พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ                         66.4
2          ไม่รู้ว่ามี พรบ. สภาเกษตรแห่งชาติ                           33.6
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการอ่าน พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
ลำดับที่          การอ่าน พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ                    ค่าร้อยละ
1          เคยอ่าน พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ                          9.3
2          ไม่เคยอ่าน                                             90.7
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสาระสำคัญของ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ)
ลำดับที่          สาระสำคัญของ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ               ค่าร้อยละ
1          ทราบสาระสำคัญของ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ                44.2
2          ไม่ทราบ                                              55.8
          รวมทั้งสิ้น                                             100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุกลุ่มบุคคลที่ควรเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ลำดับที่          บุคคลที่ควรเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ              ค่าร้อยละ
1          เกษตรกรกลุ่มอิสระระดับท้องถิ่น ที่รวมกลุ่มกันตั้งขึ้นเองทั้งหมด           69.0
2          เป็นกลุ่มที่ผสมกัน แต่มีสัดส่วนของการรวมกลุ่มกันตั้งขึ้นมามากกว่า         25.0
3          กลุ่มเกษตรกรอิสระที่ถูกพิจารณาจากรัฐ ทั้งหมด                       4.3
4          เป็นกลุ่มที่ผสมกัน แต่มีสัดส่วนของการพิจารณาจากรัฐ มากกว่า            1.7
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่ต้องการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ลำดับที่          ปัญหาที่ต้องการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติแก้ไขอย่างเร่งด่วน       ค่าร้อยละ
1          ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ                                   82.9
2          ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง                                        72.9
3          ปัญหาที่ดินทำกิน                                             72.3
4          ปัญหาหนี้สิน                                                64.1
5          ขาดผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำปรึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่อง             52.4
6          ปัญหาขาดความรู้ด้านการหาแหล่งตลาดซื้อขายสินค้าใหม่ๆ               52.0
7          ขาดความรู้และการปรับปรุงเรื่องบรรจุผลิตภัณฑ์สินค้า                  42.1
8          ปัญหาขาดสวัสดิการและการรักษาพยาบาล                          38.9
9          ปัญหาขาดการศึกษาของบุตร                                    37.8

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาที่ทำกินของเกษตรกรของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ลำดับที่          ความเชื่อมั่น          ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่นมาก-มากที่สุด         25.0
2          ปานกลาง                 45.6
3          น้อย-ไม่เชื่อมั่นเลย          29.4
          รวมทั้งสิ้น                 100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ