เอแบคโพลล์: ประชาชนคิดอย่างไรต่อความดุเดือดรุนแรงและการถอนทุนคืนของนักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ข่าวผลสำรวจ Monday February 28, 2011 07:23 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อความดุเดือดรุนแรงและการถอนทุนคืนของนักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป กรณีศึกษาตัวประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส สงขลา และปัตตานี จำนวนทั้งสิ้น 1,679 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2554 ผลการสำรวจพบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะดุเดือดรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 36.1 ไม่คิดว่าจะรุนแรง และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.8 เชื่อว่า มีพฤติกรรมถอนทุนคืนของนักการเมืองเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 38.2 ไม่เชื่อ นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.2 เคยพบว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงของคนในชุมชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่ ร้อยละ 43.8 ไม่เคยพบว่ามี และเมื่อสอบถามถึงพรรคการเมืองที่คิดว่าจะมีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 75.3 ระบุคิดว่ามีทุกพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 20.1 ระบุมีเป็นบางพรรคและเพียงร้อยละ 4.6 เท่านั้นที่ระบุไม่มีพรรคใดซื้อเสียงเลย

เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานที่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.8 ยังคงระบุเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ในขณะที่ ร้อยละ 49.1 ระบุเป็นหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น กรมการปกครอง ตำรวจ และดีเอสไอ และร้อยละ 3.0 ระบุอื่น ๆ อาทิ สื่อมวลชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน วัด มูลนิธิต่างๆ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 ยังคงเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม จำนวนไม่น้อยหรือร้อยละ 23.9 เริ่มไม่เชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยของประเทศไทย

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 48.7 เป็นชาย

ร้อยละ 51.3 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 3.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 12.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 13.9 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 48.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 69.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 27.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 25.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 10.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 12.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.9 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 9.7 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อต่อความดุเดือดรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ลำดับที่          ความเชื่อต่อความดุเดือดรุนแรง          ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่าจะดุเดือด/รุนแรง                     63.9
2          ไม่คิดว่าจะรุนแรง                          36.1
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อต่อพฤติกรรมถอนทุนคืนของนักการเมืองเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ลำดับที่          ความเชื่อของตัวอย่าง                ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่ามี                               61.8
2          ไม่เชื่อ                                38.2
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์การซื้อสิทธิขายเสียงของคนในชุมชนที่เคยเจอ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ลำดับที่          การซื้อสิทธิขายเสียงของคนในชุมชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          พบว่ามี                                                        56.2
2          ไม่พบว่ามี                                                      43.8
          รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองที่จะมีการซื้อเสียง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ลำดับที่          พรรคการเมืองที่จะมีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป              ค่าร้อยละ
1          มีทุกพรรคการเมือง                                               75.3
2          มีเป็นบางพรรค                                                  20.1
3          ไม่มีพรรคใดซื้อเสียง                                               4.6
          รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ หน่วยงานที่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          หน่วยงานที่สามารถแก้ไขปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงได้                                ค่าร้อยละ
1          คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.                                             60.8
2          หน่วยงานราชการ อาทิ กรมการปกครอง ตำรวจ ดีเอสไอ (DSI)                        49.1
3          อื่น ๆ อาทิ สื่อมวลชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน วัด มูลนิธิ เป็นต้น          3.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ
ลำดับที่          ความเชื่อมั่น                    ค่าร้อยละ
1          ยังคงเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย             76.1
2          ไม่เชื่อมั่น                           23.9
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ