อารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อมั่นของสาธารณะชนต่อรัฐบาลและ คมช. ภายหลังเหตุระเบิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “อารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อมั่นของสาธารณะชนต่อรัฐบาลและ คมช. ภายหลังเหตุระเบิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ” ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,608 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ. 2550 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ มีดังนี้
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในพื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ทราบข่าวเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.4 เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 38.6 ยังไม่กล้าฟันธงโดยระบุไม่มีความเห็นและร้อยละ 15.0 ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง ตัวเลขที่ค้นพบนี้น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และ คมช. เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่เห็นพ้องไปตามการชี้นำของฝ่ายรัฐบาล
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรู้สึกของประชาชนมากกว่า ซึ่งพบว่าเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 96-97 ขึ้นไปทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มแม่ค้าหาบเร่แผงลอย กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุ ระบุสงสารเห็นใจผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต รองลงมาคือประมาณร้อยละ 90 ขึ้นไปเช่นกันตำหนิกลุ่มที่ลอบวางระเบิด และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานหนักมากขึ้น และคนไทยต้องรักและสามัคคีกันมากขึ้น
ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 หาบเร่แผงลอยทั่วไปร้อยละ 59.3 และพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณที่เกิดเหตุร้อยละ 72.4 รู้สึกเศร้าใจและสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ในทุกกลุ่มรู้สึกโกรธ และเกินกว่าร้อยละ 50 ในทุกกลุ่มรู้สึกตกใจ ท้อแท้เบื่อหน่าย แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือประชาชนพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณที่เกิดเหตุ มีประชาชนรู้สึกเศร้าใจสะเทือนใจ โกรธ ตกใจ เบื่อหน่ายท้อแท้ หวาดกลัว หวาดระแวง หมดหวัง วิตกกังวลและเครียดมากกว่าประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกศึกษาครั้งนี้ ดังนั้นรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงต้องเร่งลงพื้นที่เหล่านี้แล้วเยียวยาความรู้สึกของประชาชนโดยด่วน เพราะประชาชนร้อยละ 55.5 ระบุว่าผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในด้านต่างๆ คือ สุขภาพจิต รองลงมาคือร้อยละ 40.9 ระบุเป็นการทำงานการเรียน ร้อยละ 20.9 ระบุเป็นชีวิตครอบครัว ร้อยละ 10.8 ระบุเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรู้จัก ร้อยละ 10.1 ระบุเป็นสุขภาพกาย แต่มีเพียงร้อยละ 19.1 เท่านั้นที่ไม่รู้สึกได้รับผลกระทบอะไรเลย
เป็นการสะท้อนข้อมูลที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่องเลยทีเดียวเพราะ ความรู้สึกที่ค้นพบเหล่านี้แทบไม่ต่างไปจากช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงวันยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ว่า ความรู้สึกทางจิตใจของประชาชนเวลานั้นเกิดจากการชุมนุมและปะทะกันระหว่างกลุ่มต้านและหนุนรัฐบาลทักษิณ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ไปมีเป้าหมายเดียวกันคือความรู้สึกและจิตใจที่ย่ำแย่ของประชาชนจากการกระทำที่รุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง และสร้างผลกระทบทางลบที่รุนแรงกว่าจนอาจทำให้เกิดคลื่นมนุษย์ขนาดยักษ์มาชนกัน และประเทศจะอยู่ไม่ได้ สาธารณชนจึงต้องเรียกหาอัศวินมาคลี่คลายสถานการณ์
ผลสำรวจที่พบบรรยากาศในทางบวกคือ เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของทุกกลุ่มติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดมากขึ้น บอกกล่าวเตือนและห่วงใยญาติมิตรมากขึ้น ประชาชนประมาณร้อยละ 80 ขึ้นไปของทุกกลุ่มระบุไม่เที่ยวสถานบันเทิงในช่วงกลางคืน แต่มีการหวนคิดถึงและพูดคุยเรื่องนี้บ่อยๆ หลีกเลี่ยงย่านชุมชนที่มีคนมากๆ และไม่ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนจำนวนมากประมาณ 1 ใน 3 หลีกเลี่ยงใช้การขนส่งมวลชนต่างๆ เช่นรถไฟฟ้า รถเมล์ เครื่องบิน แม้แต่รถไฟ เป็นต้น ในขณะที่ประมาณเกือบ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ที่ถึงกับนอนไม่หลับเลยทีเดียว และประชาชนพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 76.1 ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากถึงมากและมากที่สุดจากเหตุลอบวางระเบิดที่ผ่านมา
ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มมีวิธีดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วยการพูดคุยปรึกษากับคนในครอบครัว โดยพบว่าประชาชนทั่วไปร้อยละ 63.4 หาบเร่แผงลอยทั่วไปร้อยละ 53.6 และพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุร้อยละ 69.4 ในขณะที่ใช้วิธีพูดคุยปรึกษากับเพื่อนฝูงนั้นพบว่า ประชาชนร้อยละ 56.4 หาบเร่แผงลอยทั่วไปร้อยละ 45.6 และพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุร้อยละ 57.0 ที่เหลือมีประชาชนทั่วไปร้อยละ 9.4 หาบเร่แผงลอยร้อยละ 12.8 และพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุร้อยละ 5.7 ที่ถึงกับนั่งสมาธิเข้าวัดหลังจากเกิดเหตุลอบวางระเบิด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือยังสำรวจไม่พบว่าพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุได้ปรึกษาบุคลากรทางด้านสุขภาพในโรงพยาบาล
ที่น่าพิจารณาคือประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 60 ในทุกกลุ่มไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนพ่อค้าแม่ค้าในที่เกิดเหตุมีสูงถึงประมาณร้อยละ 80
สำหรับหน่วยงานที่ต้องการให้เข้ามาดูแลความรู้สึกของประชาชนพบว่า ร้อยละ 48.1 ระบุเป็นตำรวจร้อยละ 37.7 ระบุเป็นทหาร ร้อยละ 14.6 ระบุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ และร้อยละ 11.3 ระบุเป็นกรมสุขภาพจิต เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานที่ต้องการให้เข้ามาดูแลความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันเหตุร้ายวินาศภัยต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ระบุเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 53.1 ระบุเป็นกองทัพหรือคมช.ที่น่าพิจารณาคือมีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่ระบุเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้นที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์คือ ฐานสนับสนุนรัฐบาลให้ทำงานต่อไปในกลุ่มประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ลดลงไปจากกว่าร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 48.5 ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ไม่สนับสนุนและร้อยละ 24.4 ยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมต่างๆ
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงส่งท้ายปีเก่า ส่งผลกระทบทางการเมืองสองเรื่องใหญ่คือ หนึ่งทำให้การสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์และคมช. ลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีอยู่เกินกว่าร้อยละ 60 และสองทำให้สาธารณชนในพื้นที่ที่ถูกศึกษามีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และคมช. ลดลงไปอย่างมากทั้งต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น เห็นผลได้ชัดๆ ว่าใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์จากเหตุระเบิดขึ้นครั้งนี้
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า หมอกควันวิกฤตการเมืองไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย เพียงแต่มันแอบซ่อนแล้วรอจังหวะก่อตัวแสดงพลังออกมาปกคลุมทำลายทำร้ายประชาชนเป็นระยะๆ เพราะสังคมไทยไม่มีระบบที่ดีและคนในระบบไม่มีคุณธรรมมากเพียงพอโดยเฉพาะผู้สูงอายุในสังคมการเมืองไทยจำนวนมากที่ไม่เคยใจเย็นมีแต่ใช้อารมณ์เข้าใส่กันทำลายบรรยากาศที่ดีของสังคม แล้วจะให้เด็กเยาวชนรุ่นหลังเป็นเด็กดีเรียบร้อยได้อย่างไร ในโอกาสวันเด็กที่จะมาถึงนี้จึงขอให้บรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสงบสติอารมณ์ หยุดพูดและหันมาช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานในสังคมจะดีกว่า
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ คมช. และฝ่ายการเมืองน่าจะแสดงให้สาธารณชนเห็นว่ารักประเทศชาติและประชาชนแท้จริงไม่ใช่เพียงคำพูดที่มีแต่อารมณ์ดุเดือด เพราะยิ่งทำให้สาธารณชนเห็นว่าระบบรักษาความมั่นคงของประเทศมีช่องโหว่-ช่องว่างมากมาย และผลประโยชน์จะตกอยู่กับฝ่ายการเมืองที่พูดน้อยกว่าหรือยังไม่เคยพูดกับคนไทยตรงๆ เลย คมช.จึงไม่ควรตอบโต้กับฝ่ายการเมือง เพราะคมช.อาจชำนาญในพื้นที่สนามรบแต่อาจมีประสบการณ์และความชำนาญไม่เพียงพอในสนามการเมือง ดังนั้นมีอย่างน้อย 2 แนวทางที่จะเอาชนะฝ่ายการเมืองได้คือ “อยู่เหนือเกมการเมืองไม่เต้นไปตามจังหวะของเกม และ ทำงานหนักสร้างผลงานแก้ปัญหาความดือดร้อนของประชาชน” เท่านั้น รัฐบาลและ คมช.จึงควรต้องปรับท่าทีใหม่โดยเร็วคือ
ประการแรก ตามจับคนร้ายให้ได้เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่น่าจะยากเพราะเหตุระเบิดได้ทำลายพยานหลักฐานไปเสียเกือบทั้งหมด จึงควรเน้นการป้องกันมากกว่า
ประการที่สอง เร่งทำงานให้หนักอีกหลายเท่าตัว แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อกู้ฐานสนับสนุนจากสาธารณชนกลับคืนมาทั้งในเชิงจิตวิทยาการเมืองและปรากฏการณ์วิทยา
ประการที่สาม เร่งสะสางคดีทุจริตคอรัปชั่นตามกระบวนการยุติธรรมให้เร็วขึ้นกว่านี้อีก
ประการที่สี่ เร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นสำคัญจะได้ไม่เสียเวลามาก เสนอให้สาธารณชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้รักษาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไว้เหมือนเดิม และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ควรมีความกล้าหาญออกกฎหมายลูกเอาผิดได้กับกลุ่มขบวนการ ล็อบบี้ทางการเมืองเพื่อทุจริตคอรัปชั่น และกฎหมายสำคัญอื่นๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนที่กำลังวิ่งเต้นใช้ตั๋วของผู้มีอำนาจขณะนี้ แต่ความหวังดูจะเลือนลางเพราะ “พลังม่านสีม่วงและสีเทา” มักชนะอุดมการณ์และเจตนารมณ์เพื่อส่วนรวมของผู้คนได้เสมอ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของ สสร. และสนช. ที่ต้องทำให้สำเร็จตามความคาดหวังของสาธารณชนให้ได้
ประการที่ห้า เร่งสนับสนุนทรัพยากรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมโดยเร็ว และคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 3-4 เดือนนับต่อจากนี้ไป
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า นับจากนาทีนี้เป็นต้นไป รัฐบาลชุดปัจจุบัน และคมช. ควรจะเข้มงวดด้านความมั่นคงมากขึ้น พร้อมในที่ตั้ง และหาพยานหลักฐานมัดผู้ก่อการทำลายความมั่นคงดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม ควบคู่ไปกับการหาเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนด้วยการแก้ปัญหาเดือดร้อนของชุมชนทุกๆ เรื่อง เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ปัญหาด้านคมนาคม ปัญหาผลิตผลทางการเกษตร ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติด ปัญหาอบายมุข และปัญหาเด็กเยาวชน เป็นต้น
โปรดพิจารณารายละเอียดของโครงการสำรวจ
วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาในประเด็นต่างๆ
2.เพื่อสำรวจอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
3.เพื่อสำรวจผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ผลกระทบ
ทางร่างกาย จิตใจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ
4.เพื่อสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล และคมช. ภายหลังเหตุระเบิดใน กทม.และปริมณฑล
5.เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในหัวข้อเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป
ระเบียบวิธีการดำเนินโครงการ
โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง “อารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อมั่นของสาธารณะชนต่อรัฐบาลและ คมช.ภายหลังเหตุระเบิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ ” ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจในระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม 2550
ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้ คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
กลุ่มประชากรเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ คือ ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่างกรณีประชาชนทั่วไป ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำ สำมะโน สำหรับกลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ในการเข้าถึงตัวอย่าง
ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจทั้งสิ้น จำนวน 1,608 ตัวอย่าง ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้น คณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูล และงบประมาณทั้งสิ้นเป็นของมหาวิทยาลัย
คณะผู้วิจัย
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และที่ปรึกษาโครงการวิจัย
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และหัวหน้าโครงการวิจัย
นางเนตรนภิศ ละเอียด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และผู้ช่วยหัวหน้าโครงการวิจัย
นายจิรศักดิ์ สมบัติ นักสถิติ
นางสาวจิรวดี พิศาลวัชรินทร์ นักสถิติ
นายนฤเบศร์ สายพรหม นักวิจัย
นางสาวอุบลรัตน์ ด่านพรประเสริฐ ผู้ช่วยนักวิจัย
นางสาวเบญจพร รักษะโบ๊ะ ผู้ช่วยนักวิจัย
นายอัมราม อมรรุ่งรัศมี ผู้ช่วยนักวิจัย
นางสาวอรพินท์ พงษ์ประเสริฐ ผู้ช่วยนักวิจัยและผู้ดูแลทีมงานภาคสนาม
นางสุภาภรณ์ เบ้าเทศ เลขานุการโครงการ
พร้อมด้วยนักสถิติ นักวิจัย พนักงานเก็บข้อมูล และพนักงานประมวลผลข้อมูล จำนวน 112 คน
ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 55.1 ระบุเป็นหญิง ในขณะที่ร้อยละ 44.9 ระบุเป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 8.5 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 20.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.9 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 20.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.4 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่างร้อยละ 47.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 18.2 ระบุอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 12.9 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 8.2 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.6 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 5.2 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.9 ระบุว่างงาน
โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบ
ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการทราบข่าวการลอบวางระเบิดสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
ลำดับที่ การทราบข่าวของตัวอย่าง ค่าร้อยละ
1 ทราบข่าว 95.4
2 ไม่ทราบข่าว 4.6
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อต่อเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเกิดจากการกระทำของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทางการเมือง
ลำดับที่ ความเชื่อของตัวอย่าง ค่าร้อยละ
1 เชื่อ 46.4
2 ไม่เชื่อ 15.0
3 ไม่มีความเห็น 38.6
รวมทั้งสิ้น 100.0
หมายเหตุ ผู้ที่ไม่เชื่อ ระบุเหตุผลดังนี้
1. ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
2. เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้มากกว่า
3. น่าจะมีเรื่องซับซ้อนมากกว่านี้
4. ยังจับผู้กระทำความผิดไม่ได้ ยังไม่ควรรีบสรุป
5. คิดว่าเป็นไปไม่ได้/ไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น ฯลฯ
ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่างๆ ต่อเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่าง
ประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ (ค่าร้อยละมาก-มากที่สุด)
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประชาชนทั่วไป หาบเร่-แผงลอย พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
ภายหลังเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1. สงสาร/เห็นใจผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต 97.3 96.8 97.9
2. ตำหนิกลุ่มที่ลอบวางระเบิด 92.7 89.5 96.9
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานหนักมากขึ้น 90.4 87.8 90.1
4. คนไทยต้องรักและสามัคคีกันมากขึ้น 87.3 86.2 90.6
5. เศร้าใจ/สะเทือนใจ 67.4 59.3 72.4
6. รู้สึกโกรธ 64.0 65.9 71.4
7. ตกใจ 59.3 53.7 76.6
8. รู้สึกเบื่อหน่าย/ท้อแท้ 51.3 50.0 50.5
9. หวาดกลัว/หวาดระแวง 37.9 32.5 54.7
10. หมดหวังที่จะคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น 35.7 39.3 37.8
11. วิตกกังวล/เครียด 28.2 23.8 38.7
ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่เกิดจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในด้านต่างๆ
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ค่าร้อยละ
1 สุขภาพจิต 55.5
2 การทำงาน/การเรียน 40.9
3 ชีวิตครอบครัว 20.9
4 ความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรู้จัก 10.8
5 สุขภาพกาย 10.1
6 ไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย 19.1
ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด เปรียบเทียบ ระหว่างประชาชนทั่วไป
กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ประชาชนทั่วไป หาบเร่-แผงลอย พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดมากขึ้น 93.8 91.1 96.3
2. บอกกล่าวตักเตือนและแสดงความห่วงใยญาติมิตร 94.6 87.8 97.4
3. ไม่เที่ยวสถานบันเทิงในช่วงกลางคืน 79.1 81.3 86.5
4. หวนคิดถึงหรือพูดคุยเรื่องนี้บ่อยๆ 76.4 78.0 84.5
5. หลีกเลี่ยงย่านชุมชนที่มีคนมากๆ
อาทิ ห้างสรรพสินค้า/โรงภาพยนตร์ /ตลาด 77.8 74.6 77.1
6. ไม่ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น 62.5 56.6 70.2
7. หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถขนส่งมวลชนต่างๆ
อาทิ รถไฟฟ้า รถเมล์ เครื่องบิน รถไฟ เป็นต้น 48.1 45.2 33.0
8. นอนไม่หลับ 18.8 18.0 19.7
ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสถานที่ที่จะหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปใกล้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ สถานที่ที่จะหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปใกล้ ค่าร้อยละ
1 ศูนย์การค้า/ตลาดนัด 75.6
2 ห้างสรรพสินค้า/โรงภาพยนตร์ 37.6
3 แหล่งชุมชน อาทิ ป้ายรถเมล์/สะพานลอย /
ลานจดรถ/ตามสี่แยก /สนามหลวง 9.1
4 สถานีขนส่ง/สถานีรถไฟฟ้า/สถานีรถไฟ/สนามบิน 8.3
5 แหล่งท่องเที่ยว อาทิ สวนสนุก /อุทยาน /สวนสาธารณะ 2.5
6 สถานศึกษา 1.4
7 อื่นๆ อาทิ สถานที่สำคัญในพื้นที่ต่างๆ สถานที่ราชการ /วัด 7.4
ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยภาพรวมที่เกิดจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิด เปรียบ
เทียบระหว่างประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ
ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชาชนทั่วไป หาบเร่-แผงลอย พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
โดยภาพรวม ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1. ส่งผลกระทบมาก-มากที่สุด 10.4 10.4 31.4
2. ค่อนข้างมาก 25.0 21.6 44.7
3. ค่อนข้างน้อย 23.5 24.0 8.5
4. ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย 23.7 24.8 12.8
5. ไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย 17.4 19.2 2.7
รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 100.0
ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุวิธีการดูแลสุขภาพจิต ภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเปรียบเทียบระหว่างประชาชนทั่วไป
กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
วิธีการดูแลสุขภาพจิต ประชาชนทั่วไป หาบเร่-แผงลอย พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1. พูดคุย/ปรึกษากับคนในครอบครัว 63.4 53.6 69.4
2. พูดคุย/ปรึกษากับเพื่อนฝูง 56.4 45.6 57.0
3. นั่งสมาธิ/เข้าวัด 9.4 12.8 5.7
4. ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 2.3 5.6 2.1
5. ปรึกษาบุคลากรทางด้านสุขภาพในโรงพยาบาล 1.6 1.6 -
6. ปรึกษาบุคลากรทางด้านสุขภาพในศูนย์บริการสาธารณสุข 1.4 1.6 1.0
7. ไม่ได้ทำอะไร 19.4 22.4 14.0
ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับความมั่นใจในความปลอดภัยของการดำเนินชีวิตประจำวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด
ความมั่นใจในความปลอดภัย ประชาชนทั่วไป หาบเร่-แผงลอยค่าร้อยละ พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ
ของการดำเนินชีวิตประจำวัน ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1. มั่นใจ 12.8 17.4 3.1
2. ค่อนข้างมั่นใจ 21.8 19.0 17.4
3. ไม่ค่อยมั่นใจ 56.3 55.4 61.6
4. ไม่มั่นใจ 9.1 8.2 17.9
รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 100.0
ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศจะสามารถดูแลคุ้มครองความ
ปลอดภัยให้กับประชาชนได้ เปรียบเทียบระหว่างประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพ่อค้า-แม่ค้าในจุดที่เกิดเหตุ
ระดับความเชื่อมั่นของตัวอย่าง ประชาชนทั่วไปค่าร้อยละ หาบเร่-แผงลอยค่าร้อยละ พ่อค้า-แม่ค้าในที่เกิดเหตุ ค่าร้อยละ
1. เชื่อมั่น 14.6 15.7 6.8
2. ค่อนข้างเชื่อมั่น 26.2 32.2 29.8
3. ไม่ค่อยเชื่อมั่น 44.7 38.0 46.1
4. ไม่เชื่อมั่น 14.5 14.1 17.3
รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 100.0
ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุหน่วยงานที่ต้องการให้เข้ามาดูแลความรู้สึกของประชาชน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ หน่วยงานที่ต้องการให้เข้ามาดูแลความรู้สึกของประชาชน ค่าร้อยละ
(ยังมีต่อ)