เอแบคโพลล์: การตัดสินใจของประชาชนคนไทย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก

ข่าวผลสำรวจ Monday March 14, 2011 07:48 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การตัดสินใจของประชาชนคนไทย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ จันทบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,113 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 10 — 12 มีนาคม 2554 ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อถามว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างทำบุญกับทำทาน ประชาชนจะเลือกอะไร พบว่า ร้อยละ 51.7 จะเลือกทำบุญ ในขณะที่ร้อยละ 48.3 จะเลือกทำทาน แต่เมื่อถามว่าถ้ามีเงินจะเลือกบริจาคให้ใครระหว่าง คนตายไร้ญาติ กับนักการเมืองเพื่อสนับสนุนนักการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 เลือกบริจาคเงินให้คนตายไร้ญาติ ในขณะที่ร้อยละ 3.0 เลือกบริจาคให้นักการเมืองเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง และระหว่างระดมเงินทุนร่วมโต๊ะจีนงานวัด กับ ร่วมโต๊ะจีนพรรคการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 จะร่วมโต๊ะจีนงานวัด ในขณะที่ร้อยละ 4.2 จะร่วมโต๊ะจีนพรรคการเมือง

ที่น่าสนใจคือ ระหว่างประชาธิปไตยกับ ปฏิวัติ ประชาชนจะเลือกอะไร ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.0 เลือกประชาธิปไตย ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้นที่เลือกปฏิวัติ

ส่วนความหล่อ ความสวยของนักการเมือง กับความเก่งความสามารถ พบว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบร้อยละร้อย คือ ร้อยละ 98.6 เลือกความเก่ง ความสามารถ ในขณะที่ร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่เลือกความสวยความหล่อของนักการเมือง แต่เมื่อถามถึงความร่ำรวยเงินทองของนักการเมือง กับ ความดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ของนักการเมือง พบว่า เกินกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 23.3 เลือกความร่ำรวยเงินทองของนักการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 76.7 เลือกความดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์ของนักการเมือง

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 ไม่เลือกพรรคใดในตอนนี้เลย กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 17.5 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาคือร้อยละ 16.2 ระบุพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.7 ระบุพรรคอื่นๆ ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะมีพรรคการเมืองที่ดีกว่า เป็นความหวังและความจริงให้กับประชาชนได้มากกว่าในความรวดเร็วต่อการตอบสนองแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ และเป็นเวลานี้เช่นกันที่พรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนี้ต้องเร่งกอบกู้วิกฤตศรัทธาทั้งในเรื่อง ดีแต่พูด ทำไม่ได้อย่างที่พูด และการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ เพื่อทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการประเทศของไทย ในผลสำรวจครั้งนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นว่า ความนิยมของสาธารณชนต่อ “ทุกพรรคการเมือง” ที่มีอยู่กำลังถดถอยลงไปอย่างมาก แต่อาจถือเป็นความสำเร็จของกลยุทธทางการเมือง ถ้าเป็นกลยุทธที่ต้องการทำให้คนเบื่อการเมืองและเหลือคนตั้งใจจะไปใช้สิทธิให้น้อยจะได้ควบคุมทิศทางของผลการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ต้อง “รู้ทัน” กลยุทธ์นี้และใช้การตัดสินใจเลือกให้ได้คนที่ดีต่อตนเอง ชุมชนและประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนต่อตนเองเพียงอย่างเดียว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.1 เป็นชาย

ร้อยละ 52.9 เป็นหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 6.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 14.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 17.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 41.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 65.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 29.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 5.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่างร้อยละ 30.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 29.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 7.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 13.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 9.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา      ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        58.2
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        19.1
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                         9.1
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                      7.0
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          6.6
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางเลือกระหว่างทำบุญ กับ ทำทาน
ลำดับที่          ทางเลือก                    ค่าร้อยละ
1          ทำบุญ                              51.7
2          ทำทาน                             48.3
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุถ้ามีเงินจะเลือกบริจาคให้ใครระหว่างคนตายไร้ญาติ กับนักการเมืองเพื่อสนับสนุนนักการเมือง
ลำดับที่          ทางเลือก                              ค่าร้อยละ
1          ให้คนตายไร้ญาติ                               97.0
2          ให้นักการเมือง เพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง            3.0
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางเลือกระหว่างร่วมงานโต๊ะจีนงานวัด กับ โต๊ะจีนระดมเงินทุนให้พรรคการเมือง
ลำดับที่          ทางเลือก                              ค่าร้อยละ
1          ร่วมโต๊ะจีนงานวัด                              95.8
2          ร่วมโต๊ะจีนพรรคการเมือง                         4.2
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางเลือกระหว่างประชาธิปไตย กับ ปฏิวัติ
ลำดับที่          ทางเลือก                              ค่าร้อยละ
1          ประชาธิปไตย                                 96.0
2          ปฏิวัติ                                        4.0
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางเลือกระหว่างความสวย ความหล่อ กับ ความเก่ง ความสามารถของนักการเมือง
ลำดับที่          ทางเลือก                            ค่าร้อยละ
1          เลือกความสวย ความหล่อ ของนักการเมือง          1.4
2          ความเก่ง ความสามารถ ของนักการเมือง          98.6
          รวมทั้งสิ้น                                  100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางเลือกระหว่างความร่ำรวยเงินทอง กับ ความดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์ของนักการเมือง
ลำดับที่          ทางเลือก                           ค่าร้อยละ
1          ความร่ำรวยเงินทอง ของนักการเมือง             23.3
2          ความดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์ ของนักการเมือง      76.7
          รวมทั้งสิ้น                                  100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง
ลำดับที่          การตัดสินใจเลือกของประชาชน                     ค่าร้อยละ
1          พรรคประชาธิปัตย์                                      17.5
2          พรรคเพื่อไทย                                         16.2
3          พรรคอื่นๆ                                             7.7
4          ไม่เลือกพรรคใดในตอนนี้เลย กำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า    58.6
          รวมทั้งสิ้น                                            100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ