เอแบคโพลล์: บุคคลผู้เหมาะสมแข่งขันกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ข่าวผลสำรวจ Friday March 18, 2011 11:02 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมแผนการทำโพลล์ทำนายผลการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้โดยได้จัดเตรียมกำลังคนกว่า 3,000 คนทั่วประเทศแบ่งออกเป็นพื้นที่ 8 โซนตามการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยมุ่งหวังเสริมสร้างความสมดุลของข้อมูลข่าวสารที่จะออกมาจากสำนักโพลล์และพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และต้องการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่มาถึงนี้ ในขณะที่ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เรื่อง บุคคลผู้เหมาะสมแข่งขันกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,154 ตัวอย่าง โดยมีระยะเวลาดำเนินการในระหว่างวันที่ 15 — 17 มีนาคม 2554 พบว่าส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างกรณีถ้าจะมีการแข่งขันในการเลือกตั้ง จะสนับสนุนใครเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 41.2 ระบุสนับสนุน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 38.4 ระบุสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และร้อยละ 38.4 เช่นเดียวกันที่ระบุสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ร้อยละ 35.2 ระบุสนับสนุนนายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 34.7 ระบุสนับสนุนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ร้อยละ 32.7 ระบุสนับสนุนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 32.3 ระบุสนับสนุน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 20.8 ระบุสนับสนุนนายเนวิน ชิดชอบ และร้อยละ 15.1 ระบุสนับสนุนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

นอกจากนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค/ผู้บริหารที่ต้องการ ถ้ามีพรรคการเมืองพรรคพรรคใหม่เกิดขึ้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 65.4 ระบุว่าต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ ร้อยละ 15.8 ระบุมีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ ร้อยละ 15.5 ระบุยึดมั่นในกติกา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและความถูกต้อง ร้อยละ 11.8 ระบุกล้าคิดกล้าตัดสินใจ พูดจริงทำจริง ร้อยละ 11.7 มีความอดทน เสียสละเพื่อส่วนรวม มุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 11.7 เข้าถึงประชาชน ไม่ถือตัว ใกล้ชิดประชาชน รับฟังเสียงประชาชน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติด้านอื่นๆ ที่ประชาชนเห็นว่าหัวหน้าพรรค หรือผู้บริหารพรรคควรมี อาทิเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าพวกพ้อง มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีอุดมการณ์ที่ดี มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มีนโยบายการทำงานที่ดี มีความสุขุม รอบคอบ มีเหตุผล ตามลำดับ

สำหรับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปเร่งแก้ไขนั้นพบว่า ร้อยละ 72.3 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ รองลงมาคือร้อยละ 15.4 ระบุปัญหาความรักความสามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 9.8 ระบุปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 9.0 ระบุปํญหาความมั่นคงของประเทศ/ปัญหาชายแดน ร้อยละ 8.6 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง ร้อยละ 7.8 ระบุปัญหายาเสพติด นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อาทิ ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของประชาชน ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง ปัญหาด้านสวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล ปัญหาด้านพลังงาน พลังงานทดแทน ความไม่ยุติธรรมในสังคม ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นต้น

          และเมื่อสอบถามถามต่อไปถึงปัญหาความเดือดร้อนของตนเองที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ไขนั้นพบว่าผู้ตอบระบุปัญหาปากท้อง  ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก คิดเป็นร้อยละ 64.8   ปัญหาไม่มีงานทำ คิดเป็นร้อยละ 10.5   ปัญหาความรักความสามัคคีความสงบสุขของบ้านเมือง คิดเป็นร้อยละ 8.0 ปัญหาจราจร คิดเป็นร้อยละ 6.3 ปัญหาสวัสดิการ สุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 6.1                 ปัญหายาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 5.0 ปัญหาคุณภาพด้านการศึกษาของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 4.6 และนอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อาทิ ปัญหาพลังงาน เชื้อเพลิง ปัญหาชายแดนและความมั่นคงประเทศ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้สิน หนี้นอกระบบ ปัญหาคอรัปชั่น เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

ตัวอย่างร้อยละ 57.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 42.9 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 3.4 ระบุอายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 16.6 อายุ 20-29 ปี และร้อยละ 19.2 อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 21.4 ระบุอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 39.4 ระบุอายุ 50 ปีขึ้น ตัวอย่างร้อยละ 70.8 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 24.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 4.5 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 15.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 35.8 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 11.9 ระบุอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 7.7 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 18.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 4.7 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา         ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                                  50.3
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                                  25.9
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                                  11.0
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                                8.7
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                                    4.1
          รวมทั้งสิ้น                                                        100.0
ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการสนับสนุนบุคคลต่างๆ ขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
ลำดับที่          รายชื่อ                        สนับสนุน      ไม่สนับสนุน        รวมทั้งสิ้น
1          ร.ต.อ.ปุระชัย    เปี่ยมสมบูรณ์           41.2          58.8          100.0
2          คุณหญิงสุดารัตน์    เกยุราพันธ์            38.4          61.6          100.0
3          นายชวน    หลีกภัย                    38.4          61.6          100.0
4          นายกรณ์   จาติกวณิช                   35.2          64.8          100.0
5          นายมิ่งขวัญ   แสงสุวรรณ                34.7          65.3          100.0
6          นายสมคิด   จาตุศรีพิทักษ์                32.7          67.3          100.0
7          ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง                 32.3          67.7          100.0
8          นายเนวิน   ชิดชอบ                    20.8          79.2          100.0
9          นายสุเทพ    เทือกสุบรรณ               15.1          84.9          100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค/ผู้บริหารที่ต้องการ ถ้ามีพรรคการเมืองพรรคใหม่เกิดขึ้น

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          คุณสมบัติของหัวหน้าพรรค/ผู้บริหารที่ต้องการถ้ามีพรรคการเมืองพรรคใหม่เกิดขึ้น          ค่าร้อยละ
1          ความชื่อสัตย์/สุจริต /จริงใจ                                                     65.4
2          มีความรู้ความสามารถ /มีวิสัยทัศน์                                                 15.8
3          ยึดมั่นในกติกา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และความถูกต้อง                            15.5
4          กล้าคิดกล้าตัดสินใจ /พูดจริงทำจริง                                                11.8
5          มีความอดทน/เสียสละเพื่อส่วนรวม/มุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน                 11.7
6          เข้าถึงประชาชน/ไม่ถือตัว/ใกล้ชิดประชาชน/รับฟังเสียงประชาชน                          11.7
7          เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง                 11.2
8          มีความเป็นผู้นำ                                                                8.8
9          มีความรับผิดชอบ                                                               4.8
10          มีจุดยืน/มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ดี                                                3.1
11          อื่น ๆ อาทิ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มีนโยบายการทำงานที่ดี ความสุขุม รอบคอบ มีเหตุผล     3.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปเร่งแก้ไข

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน              ค่าร้อยละ
1          ปัญหาเศรษฐกิจ/ปัญหาราคาสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น                                   72.3
2          ปัญหาความรักความสามัคคีของคนในชาติ/ความแตกแยกในสังคม                                      15.4
3          ปัญหาแรงงาน/การว่างงาน                                                                 9.8
4          ปัญหาความมั่นคงของประเทศ /ปัญหาชายแดน                                                    9.0
5          ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น /ความซื่อสัตย์สุจริตและการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง                       8.6
6          ปัญหายาเสพติด                                                                          7.8
7          ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของประชาชน                                                        6.7
8          ปัญหาการคมนาคม ขนส่ง                                                                   5.0
9          ปัญหาสวัสดิการสังคม/การรักษาพยาบาล                                                        4.4
10         อื่นๆ อาทิ ปัญหาด้านพลังงาน/พลังงานทดแทน /ปัญหาความไม่ยุติธรรมของสังคม/การไม่ได้รับความเป็นธรรม-
           ในสังคม/ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน /อาชญากรรม ฯลฯ                         6.4

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาเดือนร้อนของตนเองที่ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          ปัญหาเดือดร้อนของตนเองที่ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน                    ค่าร้อยละ
1          ปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น                                           64.8
2          ปัญหาการไม่มีงานทำ/ว่างงาน                                                           10.5
3          ปัญหาความรักความสามัคคี/ความสงบสุขของบ้านเมือง                                           8.0
4          ปัญหาการจราจร                                                                      6.3
5          ปัญหาสวัสดิการสังคม/การรักษาพยาบาล/สุขภาพ                                               6.1
6          ปัญหายาเสพติด                                                                       5.0
7          ปัญหาคุณภาพการศึกษาของประชาชน                                                        4.6
7          ปัญหาด้านพลังงาน/พลังงานทดแทน                                                         4.3
8          ปัญหาความมั่นคงของประเทศ /ปัญหาชายแดน                                                 4.2
9          ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน /อาชญากรรม                                 3.8
10         อื่น ๆ อาทิ ปํญหาหนี้สิน /หนี้นอกระบบ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น /ความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง /
           การแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นต้น                                              3.5

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ