เอแบคโพลล์: ความสุขของผู้บริโภค ภายหลังซื้อบ้าน รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ข่าวผลสำรวจ Thursday March 24, 2011 11:21 —เอแบคโพลล์

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหา วิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เพื่อการวิจัย เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขของผู้บริโภค ภายหลังซื้อบ้าน รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 1,970 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 23 มีนาคม 2554

หลังจากผู้บริโภคซื้อสินค้าประเภท บ้าน รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้ว พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ถูกศึกษาครั้งนี้มีความสุขต่อ บ้าน รถ ยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชายมีค่าเฉลี่ยความสุขต่อบ้านที่ซื้อมาสูงกว่า ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงเล็ก น้อย เมื่อค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน คือ ผู้ชายมีความสุขต่อบ้านที่ซื้อมา 8.04 ส่วนผู้หญิงมีความสุขต่อบ้านที่ซื้อมา 7.95

นอกจากนี้ ผู้บริโภคผู้ชายมีความสุขต่อ รถยนต์ที่ซื้อมา สูงกว่าผู้หญิง คือ 8.19 ต่อ 8.01 และยังมีความสุขต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมา เฉลี่ยสูงกว่าความสุขของผู้หญิงอีกด้วยคือ 7.23 ต่อ 7.16 ตามลำดับ

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเยาวชน อายุระหว่าง 15 — 24 ปี มีความสุขต่อ บ้าน รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่ำสุด คือ มีค่าเฉลี่ยความสุขต่อสินค้า “คงทน” เหล่านี้น้อยกว่า ผู้บริโภคในช่วงอายุอื่น โดย กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเยาวชน มีความสุขต่อบ้าน 6.72 ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคช่วงอายุระหว่าง 25 — 35 ปี มีความสุขต่อบ้านที่ซื้อมาอยู่ที่ 6.95 ผู้บริโภคอายุระหว่าง 36 — 45 ปี มีความสุขต่อ บ้านที่ซื้อมาอยู่ที่ 7.38 และผู้ที่อายุระหว่าง 46 — 60 ปี มีความสุขต่อบ้านที่ซื้อมาอยู่ที่ 7.47 เมื่อพิจารณาความสุขต่อรถยนต์ที่ซื้อมา พบว่า กลุ่มผู้ บริโภคที่เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 — 24 ปี มีความสุขต่อรถยนต์ที่ซื้อมาอยู่ที่ 6.00 ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคช่วงอายุระหว่าง 25 — 35 ปี มีความสุข ต่อรถยนต์ที่ซื้อมาอยู่ที่ 7.95 ผู้บริโภคอายุระหว่าง 36 — 45 ปี มีความสุขต่อรถยนต์ที่ซื้อมาอยู่ที่ 8.18 และผู้ที่อายุระหว่าง 46 — 60 ปี มีความสุข ต่อรถยนต์ที่ซื้อมาอยู่ที่ 8.52

เมื่อพิจารณาความสุขต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมา พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 — 24 ปี เยาวชน มีความสุขต่อ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมาอยู่ที่ 6.80 ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคช่วงอายุระหว่าง 25 — 35 ปี มีความสุขต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมาอยู่ที่ 7.56 ผู้บริโภคอายุ ระหว่าง 36 — 45 ปี มีความสุขต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมาอยู่ที่ 8.03 และผู้ที่อายุระหว่าง 46 — 60 ปี มีความสุขต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมาอยู่ที่ 8.57 เมื่อจำแนกตามระดับรายได้พบว่า ผู้มีรายได้สูง มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขต่อ บ้านที่ซื้อมา ต่ำที่สุด คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ 50,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไปมีความสุขต่อบ้านที่ซื้อมาเพียง 6.81 เท่านั้น แต่ถ้าเป็น “รถยนต์” พบว่า เป็นสินค้าที่สร้างความพึงพอใจต่อผู้บริโภคที่มีรายได้สูงที่สุด คือ 8.59 เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สร้างความสุขให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้ในกลุ่ม 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปสูงถึง 8.79 จากค่าดัชนีความสุข สูงสุดที่ 10

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล กล่าวว่า สินค้าประเภท บ้าน รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ในตลาดเวลานี้อาจยังไม่สามารถตอบสนองความ คาดหวังและความสุขของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่มีฐานะรายได้สูงซึ่งมักจะมี ดีมานด์หรือความต้องการต่อบ้านที่ตน เองซื้อมามากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้ลดต่ำลงไป อย่างไรก็ตาม สินค้าประเภทรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถตอบสนองทำให้ผู้มีรายได้สูงมีความ สุขมากกว่ากลุ่มคนรายได้น้อยเพราะ ผู้มีรายได้สูงมักจะมีโอกาสเลือกซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า

ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา กล่าวว่า ต่อไปนี้ผู้ประกอบการอาจจะต้องใส่ใจต่อความสุขของผู้บริโภคมากขึ้น การออกแบบหรือดีไซน์น่าจะ ตอบโจทย์ให้ “ถูกใจผู้บริโภค” มากกว่า “ถูกใจผู้ประกอบการหรือดีไซน์เนอร์” เพื่อจะสามารถเพิ่มระดับความสุขให้กับผู้บริโภคทั้งก่อนและหลังการ ขาย เพราะจากการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้บริโภค พบว่า หลังจากซื้อบ้านที่พ้นจากความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการแล้ว ผู้บริโภคลูกบ้านมักจะพบ กับปัญหา ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การให้บริการซ่อมบำรุง บ้านทรุด แตกร้าว และสาธารณูปโภคต่างๆ มีปัญหาหลายประการ นอกจากนี้ บริษัทโครงการบ้านจัดสรรบางแห่งยังไม่บอกความจริงทั้งหมดแก่ลูกค้าเรื่องการผูกขาดบริการทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาในการบริการ เช่น โทรศัพท์บ้าน และบริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ในการวิจัยที่ค้นพบครั้งนี้ ผู้สนใจประชาชนทั่วไปสามารถดาว์โหลดข้อมูลฟรีได้ที่ www.abacpolldata.au.edu โดยผู้วิจัยคาดหวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการนำไปตอบสนองความสุขของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มคนเริ่มทำงาน ในการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ต่อไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 61.9 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 38.1 เป็นเพศชาย

                                        ตัวอย่าง    ร้อยละ 14.9 ระบุอายุ      15-24 ปี

ร้อยละ 28.6 อายุ 25-34 ปี

ร้อยละ 26.5 อายุ 35-44 ปี

ร้อยละ 30.0 ระบุอายุ 45-60 ปี

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/เทียบเท่า หรือต่ำกว่า

ร้อยละ 24.3 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช.

ร้อยละ 7.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปวส./อนุปริญญา หรือเทียบเท่า

และร้อยละ 15.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.1 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 11.9 ระบุอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน

ร้อยละ 42.1 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย

ร้อยละ 4.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 25.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 7.8 ระบุเป็น แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

          ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า        ร้อยละ 77.4 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

ในขณะที่ร้อยละ 22.6 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

ตารางที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ยความสุขของผู้บริโภค ภายหลังจากซื้อสินค้าประเภทต่างๆ จำแนกตาม เพศ
ลำดับที่          รายการสินค้าที่ซื้อมา          ชาย           หญิง
1          บ้าน                         8.04          7.95
2          รถยนต์                       8.19          8.01
3          เครื่องใช้ไฟฟ้า                 7.23          7.16

ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยความสุขของผู้บริโภค ภายหลังจากซื้อสินค้าประเภทต่างๆ จำแนกตาม อายุ
ลำดับที่          รายการสินค้าที่ซื้อมา        15-24 ปี      25-35 ปี       36-45 ปี       46-60 ปี
1          บ้าน                         6.72          6.95          7.38          7.47
2          รถยนต์                       6.00          7.95          8.18          8.52
3          เครื่องใช้ไฟฟ้า                 6.80          7.56          8.03          8.57

ตารางที่ 3 แสดงค่าเฉลี่ยความสุขของผู้บริโภค ภายหลังจากซื้อสินค้าประเภทต่างๆ จำแนกตาม รายได้
ลำดับที่          รายการสินค้าที่ซื้อมา    ไม่เกิน 15,000 บาท   15,001—35,000 บาท   35,001—50,000 บาท   มากกว่า50,000 บาทขึ้นไป
1          บ้าน                          7.15               7.44                6.85                 6.81
2          รถยนต์                        7.72               8.40                7.85                 8.59
3          เครื่องใช้ไฟฟ้า                  7.99               8.22                7.68                 8.79

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ