เอแบคโพลล์: พฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” กับ “ยอดแย่” ของนักการเมือง ข้าราชการ และของคนไทยด้วยกันเอง

ข่าวผลสำรวจ Monday March 28, 2011 07:23 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” กับ “ยอดแย่” ของนักการเมือง ข้าราชการ และของคนไทยด้วยกันเอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,429 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 15-26 มีนาคม 2554 ผลการสำรวจพบว่า

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการของไทยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 70.0 ได้แก่ พูดจาดี อันดับที่สองหรือร้อยละ 58.2 ได้แก่ มีหลักการ และอันดับที่สาม หรือ ร้อยละ 49.9 ได้แก่ เคารพเสียงส่วนใหญ่ อันดับที่สี่ หรือร้อยละ 49.4 ได้แก่ ยึดมั่นประชาธิปไตย อันดับที่ห้า หรือร้อยละ 45.5 เข้าถึงประชาชน อันดับที่หก หรือร้อยละ 42.9 ได้แก่ ยึดประโยชน์ส่วนรวม และอันดับที่เจ็ด หรือเพียงร้อยละ 36.7 เท่านั้นระบุเสียสละ อุทิศตน

เมื่อสอบถามพฤติกรรม “ยอดแย่” ของกลุ่มนักการเมือง และข้าราชการของไทย ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรก หรือสูงถึงร้อยละ 86.0 ได้แก่ ใช้เส้น อันดับที่สอง หรือร้อยละ 82.4 ได้แก่ กลั่นแกล้ง ห้ำหั่น แย่งชิงอำนาจ อันดับที่สามหรือร้อยละ 81.9 ได้แก่ เลือกปฏิบัติ อันดับที่สี่ หรือร้อยละ 81.0 ได้แก่ ล้างแค้น ทีใครทีมัน พวกใครพวกมัน อันดับที่ห้า หรือร้อยละ 80.5 ได้แก่ คดโกง อันดับที่หก หรือร้อยละ 70.8 ได้แก่ ขี้กร่าง อันดับที่เจ็ด หรือร้อยละ 70.1 ได้แก่ ขาดงาน ขาดประชุมสภา หาตัวไม่เจอ อันดับที่แปด หรือร้อยละ 69.1 ได้แก่ เกียร์ว่าง ไม่ทำหน้าที่ อันดับที่เก้า หรือร้อยละ 69.0 ได้แก่ เจ้ายศ เจ้าอย่าง อันดับที่สิบหรือร้อยละ 64.8 ได้แก่ เบ่ง กินฟรี

คราวนี้ลองหันกลับมาดู พฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ของคนไทยทั่วไปด้วยกันเองที่เคยพบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาบ้าง พบว่า อันดับที่หนึ่ง หรือร้อยละ 90.6 ได้แก่ การไหว้ อันดับที่สอง หรือร้อยละ 86.5 ได้แก่ ช่วยเหลือกันยามยากลำบาก อันดับที่สาม หรือ ร้อยละ 82.3 ได้แก่ อ่อนน้อม อันดับที่สี่หรือร้อยละ 82.2 ได้แก่ ยิ้มแย้ม ยิ้มสยาม อันดับที่สี่เช่นกัน หรือร้อยละ 82.2 ได้แก่ รักชาติ จงรักภักดี อันดับที่หก หรือร้อยละ 82.1 ได้แก่ กตัญญูรู้คุณ อันดับที่เจ็ด หรือร้อยละ 62.0 ได้แก่ สมถะ พอเพียง และอันดับที่แปด เกินครึ่งมาเล็กน้อย หรือร้อยละ 53.5 ได้แก่ สามัคคี ปรองดอง

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรม “ยอดแย่” ของคนไทยทั่วๆ ไป ที่เคยพบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 88.2 ได้แก่ ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง อันดับที่สอง หรือร้อยละ 87.2 ได้แก่ มักง่าย อันดับที่สาม หรือร้อยละ 83.0 ได้แก่ แซงคิว อันดับที่สี่ หรือร้อยละ 79.9 ได้แก่ ขี้เกียจ อันดับที่ห้า หรือร้อยละ 79.2 ได้แก่ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ อันดับที่หก หรือร้อยละ 78.5 ได้แก่ แล้งน้ำใจบนท้องถนน อันดับที่เจ็ด หรือร้อยละ 77.8 ได้แก่ ขี้โกง และอันดับสุดท้ายหรือร้อยละ 61.6 ได้แก่ ปัสสาวะรดกำแพง ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นพฤติกรรม “ยอดแย่” ของนักการเมืองและข้าราชการในสองส่วน คือ พฤติกรรมยอดแย่ที่มักเกิดขึ้นกับประชาชน ได้แก่ ขี้กร่าง ใช้เส้น เบ่งกิน และ “ยอดแย่” ที่มักเกิดขึ้นกับนักการเมืองและข้าราชการด้วยกันเองและอาจสร้างความเสียหายต่อรัฐในการรับรู้ของประชาชนทั่วไป คือ กลั่นแกล้ง ล้างแค้น เลือกปฏิบัติ เกียร์ว่าง ขาดงาน เจ้ายศเจ้าอย่าง และคดโกง ในขณะที่พฤติกรรมของประชาชนทั่วไปที่ “ยอดแย่” ได้แก่ มักง่าย แซงคิว ขี้โกง ปัสสาวะรดกำแพง แล้งน้ำใจบนท้องถนน และสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “ชี้” ให้เห็นทางออกแก้พฤติกรรมยอดแย่ในทุกกลุ่มได้คือ มาตรการทางกฎหมายและสังคมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ต้องเอาจริงอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล คาดว่าอาจใช้เวลาถึง 4 ช่วงอายุคนที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในคุณภาพของคน เช่น ตรงทางแยกที่ไม่มีไฟแดง อาจต้องมีตำรวจและป้ายรณรงค์ว่า “ทางแยกนี้สลับกันไปไม่ต้องแย่งกัน” เพื่อให้รถแต่ละคันไม่แย่งกันไปจนอาจเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายและมาตรการสังคมคอยควบคุมพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องลูกหลานในอนาคตอาจจะค้นหา “คนดีแท้” ของสังคมได้ยากพอๆ กับ “งมเข็มในมหาสมุทร”

“อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมยอดเยี่ยม ที่ต้องช่วยกันหนุนเสริมและรักษาไว้ของนักการเมืองและข้าราชการ คือ พูดจาดี มีหลักการ ยึดมั่นประชาธิปไตย และส่วนพฤติกรรมยอดเยี่ยมของคนไทยทั่วไปที่ต้องรักษาไว้เช่นกัน คือ การไหว้ ช่วยกันยามยาก รอยยิ้ม รักชาติ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ สมถะพอเพียง และสามัคคี ปรองดอง” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 16.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 23.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 38.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 60.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 25.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 12.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการ ของไทย ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          พฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ของนักการเมือง และข้าราชการ ที่เคยพบเห็นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา       ค่าร้อยละ
1          พูดจาดี                                                                               70.0
2          มีหลักการ                                                                             58.2
3          เคารพเสียงส่วนใหญ่                                                                     49.9
4          ยึดมั่นประชาธิปไตย                                                                      49.4
5          เข้าถึงประชาชน                                                                        45.5
6          ยึดประโยชน์ส่วนรวม                                                                     42.9
7          เสียสละ อุทิศตน                                                                        36.7

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพฤติกรรม “ยอดแย่” ของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการของไทย ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          พฤติกรรม “ยอดแย่” ของนักการเมือง และข้าราชการ ที่เคยพบเห็น ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา        ค่าร้อยละ
1          ใช้เส้น                                                                               86.0
2          กลั่นแกล้ง ห้ำหั่น แย่งชิงอำนาจ                                                             82.4
3          เลือกปฏิบัติ                                                                            81.9
4          ล้างแค้น ทีใครทีมัน พวกใครพวกมัน                                                          81.0
5          คดโกง                                                                               80.5
6          ขี้กร่าง                                                                               70.8
7          ขาดงาน ขาดประชุมสภา หาตัวไม่เจอ                                                        70.1
8          เกียร์ว่าง ไม่ทำหน้าที่                                                                    69.1
9          เจ้ายศ เจ้าอย่าง                                                                       69.0
10          เบ่ง กินฟรี                                                                           64.8
11          ข่มขู่                                                                                53.7
12          รีดไถ                                                                               45.9

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ที่พบเห็นในกลุ่มประชาชนคนไทยทั่วๆ ไป ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          พฤติกรรม “ยอดเยี่ยม” ของประชาชนคนไทยทั่วไป ที่เคยพบเห็น ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา           ค่าร้อยละ
1          การไหว้                                                                              90.6
2          ช่วยเหลือกัน ยามยากลำบาก                                                               86.5
3          อ่อนน้อม                                                                              82.3
4          ยิ้มแย้ม ยิ้มสยาม                                                                        82.2
4          รักชาติ จงรักภักดี                                                                       82.2
6          กตัญญูรู้คุณ                                                                             82.1
7          สมถะ พอเพียง                                                                         62.0
8          สามัคคี ปรองดอง                                                                       53.5

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพฤติกรรม “ยอดแย่” ที่พบเห็นในกลุ่ม ประชาชนคนไทย ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          พฤติกรรม “ยอดแย่” ของ ประชาชนคนไทย ที่เคยพบเห็น ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา                ค่าร้อยละ
1          ทิ้งขยะไม่เป็นที่ เป็นทาง                                                                  88.2
2          มักง่าย                                                                               87.2
3          แซงคิว                                                                               83.0
4          ขี้เกียจ                                                                               79.9
5          สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ                                                                     79.2
6          แล้งน้ำใจบนท้องถนน                                                                     78.5
7          ขี้โกง                                                                                77.8
8          ปัสสาวะรดกำแพง                                                                       61.6

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ